ธีม DeFi โอกาสหรือความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน?

โดย ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)
4 Min Read
29 เมษายน 2564
3.602k views
Inv_ธีม DeFi โอกาสหรือความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน_Thumbnail
Highlights
  • Decentralized Finance หรือ DeFi เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดตัวกลางในการใช้บริการหรือทำธุรกรรมทางการเงิน ทำให้เข้าถึงการทำธุรกรรมได้ง่าย รวดเร็ว และไร้พรมแดน

  • DeFi เป็นหนึ่งในธีม Innovation ที่น่าสนใจ เนื่องจากช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรม และเทคโนโลยียังอยู่ในขั้นต้น ทำให้มีโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมถึงได้รับการตอบรับที่ดีมากจากสังคม

  • ปัจจุบัน นักลงทุนไทยสามารถเข้าถึง DeFi ได้ผ่านการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในธีม Fintech หรือลงทุนทางตรงใน Crypto Asset ต่าง ๆ

ช่วงนี้นักลงทุนหลายท่านคงเคยได้ยินหรือได้เห็นคำว่า Decentralized Finance หรือ DeFi ผ่านหูผ่านตากันมาบ้างแล้ว ซึ่ง DeFi ก็คือ การใช้บริการทางการเงินในรูปแบบใดก็ตามโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง เช่น การฝากเงิน การกู้ยืมเงิน การลงทุน หรือการระดมทุนก็ตาม เดิมทีต้องอาศัยตัวกลาง คือ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ เป็นต้น แต่ในโลกของ DeFi การทำธุรกรรมเหล่านี้ ไม่ต้องผ่านตัวกลาง แต่อาศัยเทคโนลียีที่ชื่อว่า Blockchain และ Smart Contract เข้ามาช่วยจัดการ ด้วยคุณสมบัติของเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง ดังนั้น ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่พัฒนาขึ้นมาด้วยเทคโนโลยี Blockchain และ Smart Contract จะถูกเรียกว่า DeFi นั่นเอง

 

ถ้าขยับให้เข้ามาใกล้ตัว หลายท่านคงเริ่มคุ้นเคยกับการซื้อขายสินทรัพย์ใหม่ ๆ เช่น บิตคอยน์ หรือ Cryptocurrencies อื่น ๆ ได้จากหลากหลาย Application แม้บางท่านอาจไม่แน่ใจว่าเงินของเราไปอยู่ที่ไหน แต่ก็แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความ “เข้าถึงง่าย” และ “ไร้พรมแดน” นั่นก็เพราะ DeFi ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดตัวกลาง จนทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ตรงหน้าอย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ

 

ด้วยความโดดเด่นนี้ นักลงทุนทุกตลาดจึงมีคำถามว่า การลงทุนธีม DeFi กำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลให้กับโลกการเงินในอนาคตใช่หรือไม่ และคนไทยอย่างเราควรมองเรื่องนี้เป็นโอกาสหรือความเสี่ยงอย่างไร ในมุมของการลงทุน ส่วนตัวผมมองว่า DeFi เป็นหนึ่งในธีม Innovation ที่น่าสนใจด้วยเหตุผลสนับสนุนที่หลากหลาย ดังนี้

 

ประเด็นที่ 1 คือ เรื่องการลดต้นทุน

ตัวอย่างธุรกรรมที่ DeFi คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทมากที่สุด คือ กลุ่มธุรกรรมระหว่างประเทศที่มีตัวกลางเยอะที่สุด เมื่อไม่มีตัวกลาง ข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของบางประเทศก็จะลดลง ส่งผลให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมทั้งระบบ สามารถปรับลดลงได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นจุดเด่นของการลงทุนแนว Innovation

 

ประเด็นที่ 2 คือ เทคโนโลยีที่อยู่ในขั้นเริ่มต้น ทำให้มีโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดด

ที่ชัดเจนที่สุด คือ กลุ่ม Digital Wallet และ Blockchain ที่การนำมาใช้ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ สามารถแข่งขันและพัฒนากันได้อย่างเสรี แม้ในมุมของผู้ใช้งานอาจมีความวุ่นวายอยู่บ้าง แต่แทบทุก Platform ก็มี Crypto Asset ที่แตกต่างและหลากหลาย สร้างความสนใจให้กับนักเก็งกำไรได้อยู่เสมอ

 

ประเด็นที่ 3 คือ การตอบรับจากสังคมที่ดีมาก

ไม่ว่าจะเป็น Cryptocurrency ที่แม้จะมีความผันผวนสูง แต่นักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบันก็ให้การตอบรับมากขึ้น ในส่วนของ Fintech สังคมก็ประยุกต์ใช้ได้อย่างรวดเร็ว ใกล้ตัวที่สุดคือในประเทศไทยเอง ที่ข้อมูลจาก We Are Social และ Hootsuite ระบุว่า ในปี 2020 คนไทยทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking เป็นสัดส่วนถึง 68.1% ของธุรกรรมต่อเดือน คิดเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา ทีมวิจัยของ ARK Invest ก็พบว่า ธุรกิจ Online Payment มีการใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 10% ต่อปี ติดต่อกันต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2017 มาจนถึงปัจจุบัน

 

DeFi มาพร้อมกับความเสี่ยงเฉพาะตัว

 

อย่างไรก็ดี DeFi ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงเฉพาะตัว โดยประเด็นที่ต้องระวัง ก็คือ กฎระเบียบและการควบคุมที่ต้องเพิ่มขึ้นสูง เนื่องจาก DeFi และ Fintech คาบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่กระทบกับผู้ใช้บริการในวงกว้าง (อาจไกลไปถึงต่างประเทศ) ดังนั้น จุดที่ต้องระวังเป็นอันดับแรก คือ เรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกรรม และแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์เกี่ยวกับธุรกิจนี้จะมีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกไปพร้อมกับขนาดของอุตสาหกรรมที่ขยายตัว

 

ส่วนในระยะยาว สิ่งที่นักลงทุนต้องระลึกไว้เสมอ คือ DeFi ในปัจจุบันยังเป็นเพียงการ Disrupt ธุรกิจ Centralized Finance คือ การใช้บริการทางการเงินในรูปแบบเดิมที่ผ่านตัวกลาง จึงอาจไม่ได้มีส่วนแบ่งตลาดให้กับผู้ประกอบการรายใหม่มากมาย และในที่สุดผู้ประกอบธุรกิจเดิม ซึ่งมีความแข็งแกร่งทางการเงินและมีความน่าเชื่อถือสูง ก็อาจปรับตัวตามเทคโนโลยีได้ทัน ทำให้การแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

ท้ายที่สุด ถ้าอยากลงทุน นักลงทุนควรมองแยกกันระหว่าง DeFi กับ Fintech และต้องมั่นใจว่าตัวนักลงทุนเองสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง

 

โดยในปัจจุบัน นักลงทุนไทยสามารถเข้าถึง DeFi ได้ผ่านการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในธีม Fintech หรือลงทุนทางตรงใน Crypto Asset ต่าง ๆ แม้ทั้งสองการลงทุนเหมาะเฉพาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงเหมือนกัน แต่ทั้งสองแบบมีความเสี่ยงของตลาดที่แตกต่างกัน

 

โดยกลุ่มกองทุน Fintech มักมีความสัมพันธ์กับตลาดไปในทิศทางเดียวกันกับอุตสาหกรรมการเงินทั่วไป เนื่องจากมีธุรกิจที่ทำการเงินแบบดั้งเดิมรวมอยู่ด้วย ส่วนการลงทุนใน Crypto Asset โดยตรง จะเน้นความสัมพันธ์กับบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับ Blockchain หรือ บิตคอยน์ จึงมีความสัมพันธ์กับตลาดต่ำ แต่ความผันผวนเฉพาะตัวที่สูง

 

อย่างไรก็ตาม ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลของสินทรัพย์ที่จะลงทุน ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และสำรวจตัวเองว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์และตราสารที่มีความเสี่ยงและมีความซับซ้อนสูง แม้ว่าจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้นก็ตาม

 

สำหรับมือใหม่ที่สนใจ เรียนรู้และเข้าใจผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทต่างๆ ผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงกระบวนการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อให้สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมและมีพอร์ตการลงทุนที่ดีนำพาไปสู่การบรรลุเป้าหมายในอนาคตได้อย่างมั่นใจ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ครบเครื่องเรื่องลงทุน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: