หากพูดถึงศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงยาวนานกว่า 10 ปี อีกทั้งยังผันตัวเองจากนักร้องนำ สู่การเป็นผู้บริหารค่ายเพลงสุดคูลอย่าง Gene Lab ที่มีวงดนตรีชื่อดังอย่าง Tilly Birds และ Three Man Down อยู่ด้วยแล้วนั้น หลายคนต้องนึกถึง
คุณโอม ปัณฑพล ประสารราชกิจ หรือ ‘โอม Cocktail’ อย่างแน่นอน
แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังความสำเร็จของชายคนนี้ จะมาจากข้อจำกัดด้านเวลา ที่ทำให้เขาต้องศึกษา และเรียนรู้ เพื่อทำความเข้าใจกับอาชีพ รวมถึงบทบาทอื่น ๆ ที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะอยู่บนเวทีหรือหลังฉากก็ตาม
วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักอีกมุมมองหนึ่งของ คุณโอม Cocktail ศิลปินที่เปลี่ยนข้อจำกัดเป็นแรงผลักดันในการใช้ชีวิตและการลงทุน
ศิลปินมีข้อจำกัดหรือมีวันหมดอายุบ้างไหม ?
“ตัวเลขที่ผมเคยเอาค่าเฉลี่ยมาเทียบ พีกคือ 7 ปี คนที่ข้ามได้ถึงทศวรรษ คือคนที่สามารถ Ship วงไปอีกสถานะได้ด้วย เราไม่ได้กำหนดสิ่งเหล่านี แต่ตัวที่กำหนดคือ Demand ของตลาดที่กำหนด
เพราะเฉลี่ยแล้ว คนที่ฟังเพลง หรือให้น้ำหนักกับสิ่งบันเทิงเหล่านี้ อยู่ที่อายุประมาณ 13 ปี จนถึง 21 ปี พอหลังจากนั้นเขาจะเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน และวัยมีครอบครัว ซึ่งการรับรู้เรื่องเกี่ยวกับสิ่งบันเทิงค่อนข้างจะหยุดนิ่งแล้ว
งานที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นเกม ภาพยนตร์ เพลง หรืออะไรก็ตามที่เป็นสิ่งบันเทิง มันเป็นสิ่งไม่คงที่ มีมาแล้วมีไป มาแล้วจากไปในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้นเอง”
แต่วง Cocktail ก็สามารถผ่านจุดนี้มาได้ ?
“เราโชคดีที่เราข้าม Generation นี้มาได้ แต่เราจะโชคดีแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหนใครจะรู้ และถ้าเรามัวแต่คิดว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไปอีก Gen อีก Gen ความหวังในใจผมมันไม่ต่างอะไรจากคนที่ซื้อลอตเตอรี่ แล้วหวังว่านัดหน้าจะต้องถูกไปเรื่อย ๆ
มันลุ้นได้นะ แต่ต้องมี Safeguard ของตัวเอง ทุกครั้งที่เราลงทุน ไม่ว่าจะลงทุนกับเงิน ลงทุนกับตัวเอง หรือลงทุนในการใช้ชีวิต ผมต้องแน่ใจว่ามันมี Exit ที่ถูกเตรียมไว้ในทุก ๆ ช่องทางด้วย”
ซึ่ง Exit ที่คุณโอม Cocktail ได้ออกแบบไว้ให้กับวงนั้นคือ การตั้งกองทุน Cocktail กองทุนสะสมเงินสำหรับสมาชิกภายในวง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่พอเป็นเรื่องเงินทุกอย่างก็ไม่ได้ง่ายแบบที่คิด
ได้ยินมาว่าก่อนหน้านี้ มีปัญหาเรื่องการเก็บเงินเข้ากองทุน Cocktail ด้วย คุณโอมจัดการอย่างไร ?
“สมมติได้เงินมา 20,000 บาท ผมเลือกไม่ให้ตั้งแต่แรกเลย หักไปเลย หมายถึง หักโดยที่เขาไม่เคยเห็นเงินที่ให้ถึงมือเขา คือให้ 17,000 บาท แล้วอีก 3,000 บาท หักเข้าไปอยู่ในกองทุน Cocktail สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีใครรู้สึกว่าเงินตัวเองหาย และเงินถูกส่งไปออมเรียบร้อยแล้ว”
หากมองในแง่ของการเก็บออม สิ่งที่คุณโอมเลือกทำก็คือ การออมก่อนใช้นั่นเอง เพื่อให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น ก็เหมือนกับการที่เรา ได้เงินเดือนมาก้อนหนึ่ง สมมติ 20,000 บาท สิ่งที่ควรทำต่อมาคือ แบ่งเงินออกมาอย่างน้อย 10% หรือ 2,000 บาท เพื่อออม เมื่อออมครอบคลุมแล้ว จากนั้นจึงค่อยนำเงินส่วนนี้ไปต่อยอดด้วยการลงทุนอีกที
สมมติว่า หากวงมีการเลิกรา คิดว่าจะจัดการกับเงินกองกลางนี้อย่างไร ?
“ก่อนหน้านี้เราเคยคุยกันว่า สักวันถ้าเราเลิกกัน เราก็จะแยกเงินก้อนนี้ออกเป็น 5 กอง รวมผู้จัดการด้วย และต่างคนต่างไป แต่หลัง ๆ เราเริ่มคุยกันว่า ถ้าเราไม่แยกกัน และปล่อยให้เงินนี้ไปลงทุนต่อ ให้นิติบุคคล Cocktail ไป Invest ในกองทุนนู้น กองทุนนี้ ไปถือหุ้นตัวนู้น ตัวนี้ หรือถือทองคำเอาไว้ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นสินทรัพย์”
อยากให้คุณโอมให้คำแนะนำสำหรับคนที่คิดอยากจะเริ่มต้นลงทุนหน่อย ?
“ผมไม่ได้มองว่า ผมเป็นนักลงทุนที่เข้าใจเรื่องกราฟ เรื่องขึ้นลง หรือ Sideway เพียงแต่เรารู้ว่าเราอยากได้อะไร แล้วเหลือทางเลือกกี่ทาง เพื่อที่เราจะได้หาความรู้ Specific ตรงนั้นได้ หรือถามผู้รู้คนอื่น ๆ เพื่อที่เราจะได้ชั่งน้ำหนักว่าเราจะทำอย่างไร และต้องรู้นิสัยตัวเอง ข้อจำกัดของตัวเอง มากไปกว่านั้นอีกคือ เราต้องรู้ว่าเรา Panic หรือเปล่า ใจแข็งพอที่จะสู้ต่อหรือไม่”
หลายคนกลัวการเริ่มต้น คุณโอมมีคำแนะนำวิธีการก้าวข้ามผ่านความกลัวนี้ได้อย่างไร ?
“ต้องถามก่อนว่า คิดว่าความกลัวเกิดจากอะไร คนเรากลัวเพราะไม่รู้เป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นจริง ๆ ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจ
พูดถึงเราจะลงทุนในอะไร เรากลัว เราไม่กล้าลงทุน เพราะเราไม่รู้ว่าเงินเราไปทำงานอะไรยังไง เพราะงั้น เป็นผมไม่ว่าผมจะลงทุนในอะไรก็ตาม ผมต้องรู้ก่อนว่าผมได้อะไรในสิ่งนั้น และรู้ให้รอบ รู้ให้จบในสิ่งนั้น
พอเรารู้ เราก็จะกลัวมันน้อยลง ยอมรับได้ เข้าใจได้ มันก็ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น”
คุณโอมคิดว่า ‘เวลา’ มีผลกับ ‘การลงทุน’ หรือไม่ ?
“ถ้าพูดถึงการออม เขาบอกสิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุดในโลกคือ ดอกเบี้ยทบต้น
ดอกเบี้ยทบต้นเริ่มต้นทำงานเมื่อไร กว่าจะเห็นผลเป็นกอบเป็นกำจริง ๆ มันเกิน 10 ปี แล้วทั้งนั้น
ถ้าคุณไม่เริ่มตอนนี้ แล้วคุณจะรอตอนไหนให้มันครบ 10 ปี
เริ่มอีก 5 ปี 10 ปี ก็คือ 15 ปีข้างหน้า ถ้าจะเริ่มอีก 20 ปี มันก็กลายเป็น 30 ปีข้างหน้า มันก็ต้อง Now ปะ”
คุณโอมคิดอย่างไรกับคำว่า ‘เดี๋ยวก่อน’ กับ ‘เดี๋ยวนี้’ ?
“จำเอาไว้ว่า เดี๋ยวก่อน มันช่วยคุณได้แค่เดี๋ยวนี้ แต่ช่วยคุณในระยะยาวไม่ได้ เพราะจริง ๆ
ถ้าบอกว่าอยากจะผอมก็ต้องเดี๋ยวนี้ เริ่มคุมน้ำหนักกับออกกำลังกาย ถ้าอยากจะมีกล้าม
ก็คงต้องเริ่มยกน้ำหนักเดี๋ยวนี้ ถ้าอยากจะมีความรู้เรื่องหุ้น ก็คงต้องหาหนังสืออ่าน หรือหาความรู้เดี๋ยวนี้”
จากบทสัมภาษณ์คุณโอมในวันนี้ ทำให้เรารู้ว่า สิ่งแรกที่เราควรจะต้องตระหนักในวันนี้ คือ ‘การรู้ถึงข้อจำกัดของตัวเอง’ และมองหาทางก้าวข้ามข้อจำกัดที่มีอยู่ ไม่ว่าข้อจำกัดนั้นจะเป็นเวลา อาชีพ ความเป็นอยู่ หรือความไม่รู้ก็ตาม
และสิ่งที่เราต้องทำต่อมาคือ เรียนรู้ และเข้าใจถึงข้อจำกัดเหล่านั้น แล้วเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป
เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าคุณไม่เปลี่ยน…ข้อจำกัดจะเปลี่ยนคุณอยู่ดี !
มาศึกษาทุกแง่มุมของการลงทุนไปพร้อมกับลงสนามจริง สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และเปิดบัญชีหุ้นได้อย่างง่าย ๆ
คลิกเลย
📍 ติดตาม VDO สัมภาษณ์ฉบับเต็มของ คุณโอม Cocktail ได้ที่ คลิกที่นี่
#investnow #setinvestnow #investRightNow