เทียบอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ระหว่างพญาอินทรี vs. พญามังกร

โดย รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง
3 Min Read
5 กันยายน 2565
2.683k views
Inv_เทียบอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ระหว่างพญาอินทรี vs พญามังกร_Thumbnail
Highlights
  • รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ EV เติบโตขึ้นทั่วโลก ด้วยสาเหตุสำคัญคือ ต้นทุนแบตเตอรี่ที่ลดลง รวมถึงรัฐบาลหลายประเทศในโลกก็สนับสนุนรถยนต์ EV เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

  • รถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน คือภาพแทนของเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพราะในรถยนต์ไฟฟ้าประกอบด้วย ชิปเซต เซมิคอนดักเตอร์ และแบตเตอรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญในเรื่องพลังงานสะอาด และพลังงานแห่งอนาคต

  • ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าโลก ยังไม่มีใครเป็นผู้ชนะที่แท้จริง ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน จึงต้องขับเคี่ยวและแข่งขันในทุกมิติ แล้วโอกาสการลงทุนอยู่ตรงไหน นักลงทุนสามารถลงทุนในอะไรได้บ้าง มาหาคำตอบกัน

เทรนด์พลังงานสะอาดกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย หลังจากผู้คนใส่ใจปัญหามลพิษมากขึ้น ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลหลายแห่งทั่วโลกต่างสนับสนุน เช่น สหรัฐอเมริกา มีแผนที่จะให้รถยนต์ไฟฟ้ามีสัดส่วน 40 – 50% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 และยังได้เตรียมลงทุน 1.8 แสนล้านบาท เพื่อสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้า ส่วนในจีนก็มีแผนที่จะยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2593 และยังตั้งเป้าให้การบริโภคพลังงานสะอาดมีสัดส่วน 30% ของการบริโภคพลังงานทั้งหมดในประเทศภายในปี 2573   

 

เทรนด์ดังกล่าวได้เชื่อมโยงมาถึงเรื่องที่ใกล้ตัวผู้คนมากขึ้นทุกวัน คือ รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ EV โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจว่าในครึ่งแรกของปี 2565 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกแตะ 4.2 ล้านคัน เติบโตสูงถึง 63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อีกทั้ง Statista ผู้ให้บริการข้อมูลด้านการตลาดและการบริโภค ประเมินว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแตะ 30 ล้านล้านบาทในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ย 18% ต่อปีในช่วงปี 2565 – 2570 จึงทำให้รถยนต์ไฟฟ้าจัดเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่สำคัญของโลก

 

หากพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า พบว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีส่วนประกอบเกี่ยวข้องหลายส่วนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยจำแนกให้เห็นภาพง่าย ๆ ออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ผลิตแร่ลิเทียม ผู้ผลิตแบตเตอรี่ และผู้ผลิตยานยนต์

 

ผู้ผลิตแร่ลิเทียม

แร่ลิเทียมถือเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และด้วยความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากแนวโน้มของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ราคาสารลิเทียมคาร์บอเนตเดือนเมษายนปี 2565 ปรับตัวขึ้นถึง 432% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

หากพูดถึงหุ้นโดดเด่นที่ดำเนินธุรกิจโครงการเหมืองลิเทียมในอเมริกาเหนือและนักลงทุนไทยคุ้นเคย คือ Lithium Americas Corporation (LAC) เนื่องจากมี BCP Innovation (BCPI) บริษัทย่อยของ บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) ถือหุ้นราว 0.5% อย่างไรก็ดี LAC ยังไม่มีรายได้และอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการเหมืองแร่ลิเทียม 3 แห่ง ได้แก่ Thacker Pass ในสหรัฐอเมริกา Cauchari-Olaroz และ Pastos Grandes ในอาร์เจนติน่า โดย LAC มีมูลค่าตลาดราว 1.4 แสนล้านบาท

 

ขณะที่ทางฝั่งหุ้นเหมืองแร่ของจีนต้องยกให้ Tianqi Lithium Corporation เป็นบริษัทเหมืองยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดราว 9.5 แสนล้านบาท เป็นผู้ผลิตแร่ลิเทียมรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ด้วยสัดส่วนการผลิตแร่ลิเทียมราว 46% ทั่วโลก มีกำลังการผลิตราว 45,000 ตันต่อปี โดยในปี 2564 มียอดขายรวม 7,663 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 38.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 2,079 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 114.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

ผู้ผลิตแบตเตอรี่

แบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยหุ้นของธุรกิจผู้ผลิตแบตเตอรี่ในสหรัฐอเมริกา คือ QuantumScape Corporation (QS) มีมูลค่าตลาดราว 1.8 แสนล้านบาท โดยบริษัทยังไม่มีรายได้และกำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบโซลิดสเตต (Solid-state Battery) ที่สามารถเพิ่มระยะทางการใช้งานและยังใช้เวลาชาร์จที่เร็วขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มสร้างรายได้ในปี 2567 – 2568  

 

สลับมาที่ทางฝั่งจีน เชื่อว่านักลงทุนคงคุ้นหูกับหุ้น CATL (Contemporary Amperex Technology Co., Ltd.) ที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่แร่ลิเทียมไฟฟ้าชั้นนำของโลก ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ที่ 35% โดยเป็นผู้จำหน่ายแบตเตอรี่ไฟฟ้าให้กับแบรนด์รถยนต์ระดับโลกอย่าง Tesla, BMW เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจีนที่ราว 7 ล้านล้านบาท โดยในปี 2564 มียอดขายรวม 130,356 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 159% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 15,931 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 185.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

ผู้ผลิตยานยนต์

ส่วนสุดท้ายที่ใกล้ตัวผู้คนมากที่สุด คือ ผู้ผลิตยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันมีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งผู้ผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ยังได้ผันตัวมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าด้วย โดยในฝั่งสหรัฐอเมริกาต้องยกให้ Tesla เจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในแง่ของยอดส่งมอบที่มีมูลค่าตลาดราว 33.8 ล้านล้านบาท โดยครึ่งแรกของปี 2565 ได้ส่งมอบรถจำนวน 564,743 คัน เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นับเป็นบริษัทที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (แบบ 100%) มากที่สุดในโลก โดยในปี 2564 มียอดขายรวม 53,823 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 70.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 5,519 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 700% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

ขณะที่ฝั่งจีนก็ต้องหุ้น BYD คู่แข่งรายสำคัญของ Tesla ที่แต่เดิมเป็นเพียงผู้ผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน แต่เมื่อต้นปี 2565 บริษัทได้ประกาศยกเลิกการผลิตอย่างเป็นทางการและผันตัวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว ซึ่งนอกจากจะผลิตรถยนต์แล้วยังมีธุรกิจผลิตแบตเตอรี่เป็นของตัวเองอีกด้วย โดยล่าสุดได้กลับมาทำตลาดในไทยอีกครั้ง นับเป็นครั้งที่ 3 หลังจากที่เคยเข้ามาแล้วเมื่อปี 2558 และ 2561 นอกจากนี้ ยังเป็นบริษัทที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ลงทุนมายาวนานตั้งแต่ปี 2551 ที่สัดส่วนราว 3% ของพอร์ตลงทุนในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยหุ้น BYD มีมูลค่าตลาดราว 4.5 ล้านล้านบาท โดยในปี 2564 มียอดขายรวม 216,142 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 3,045 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

นอกจากการลงทุนในหุ้นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้โดยตรงแล้ว นักลงทุนยังสามารถลงทุนในกองทุน ETF ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเกาะธีมรถยนต์ไฟฟ้าได้อีกด้วย

  • Global X Lithium & Battery Tech (LIT) จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา เน้นลงทุนในหุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตยานยนต์ แบตเตอรี่ และเหมืองแร่ลิเทียม เช่น Tesla, CATL, BYD, Lithium Americas และ QuantumScape เป็นต้น โดยมีค่าธรรมเนียมการจัดการ 0.75% ต่อปี
  • Global X Autonomous & Electric Vehicles (DRIV) จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา เน้นลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีไร้คนขับ ตลอดจนกลุ่มส่วนประกอบยานยนต์อื่น ๆ เช่น แบตเตอรี่ แร่ และชิป อาทิ Tesla, Nvidia, Apple และ General Motors เป็นต้น โดยมีค่าธรรมเนียมการจัดการอยู่ที่ 68% ต่อปี
  • Global X China Electric Vehicle and Battery (2845) จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง เน้นลงทุนในหุ้น A-Share ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งผู้ผลิตยานยนต์ แบตเตอรี่ และผู้ผลิตแร่ลิเทียม เช่น Ganfeng Lithium, Ningbo Ronbay และ Tianqi Lithium เป็นต้น โดยมีค่าธรรมเนียมการจัดการอยู่ที่ 0.68% ต่อปี

 

นอกจากนี้ หุ้น Tesla ที่มีน้ำหนักราว 5% ในดัชนี NASDAQ100 ซึ่งนักลงทุนสามารถกระจายการลงทุนไปยังหุ้นในดัชนีดังกล่าวได้สะดวกผ่านตลาดหุ้นไทย ด้วย DR “NDX01” ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิง คือ ChinaAMC NASDAQ 100 ETF (3086) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และลงทุนอ้างอิงดัชนี NASDAQ 100 ซึ่งเป็นดัชนีที่ถูกออกแบบมาอิงการเคลื่อนไหวของ 100 บริษัทแรกตามมูลค่าตลาดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ โดยเน้นกลุ่มเทคโนโลยี

 

อีกทั้ง หุ้นจีนทั้ง 3 บริษัทที่กล่าวไปข้างต้น ล้วนเป็นส่วนประกอบของดัชนี CSI 300 โดยนักลงทุนสามารถกระจายการลงทุนได้ผ่าน DR “CN01” ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิง คือ ChinaAMC CSI 300 ETF (3188) และลงทุนอ้างอิงดัชนี CSI 300 ซึ่งประกอบด้วยหุ้นจีน A-share ขนาดใหญ่ 300 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นได้เช่นกัน

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ภาพรวมและเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์อุตสาหกรรม เพื่อค้นหาหุ้นดีในอุตสาหกรรมที่โดดเด่น น่าลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: