3 กองทุนหุ้น ที่ได้ไปต่อหากเกิดเศรษฐกิจถดถอย

โดย ธนัฐ ศิริวรางกูร หมอนัท คลินิกกองทุน
3 Min Read
2 กันยายน 2565
8.223k views
Inv_3 กองทุนหุ้น ที่ได้ไปต่อหากเกิดเศรษฐกิจถดถอย_Thumbnail
Highlights
  • ประเทศที่มีสภาวะทางเศรษฐกิจดี เศรษฐกิจก็จะขยายตัวไปเรื่อย ๆ มูลค่ารวมของสินค้าและบริการที่ผลิตได้ในประเทศ หรือ GDP ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่เศรษฐกิจเติบโตก็เป็นผลดีต่อคนส่วนใหญ่ แต่ว่าเศรษฐกิจก็สามารถหดตัวได้เช่นกัน

  • เศรษฐกิจถดถอย หมายถึง การที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจรายไตรมาส หดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งมีหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ภาระหนี้สินในประเทศ ประเทศเผชิญสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การระบาดของโควิด-19 เป็นต้น

  • หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย นักลงทุนยังสามารถลงทุนได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนการลงทุนไปในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากภาวะดังกล่าว อีกทั้งยังมีกองทุนรวมหุ้นที่น่าสนใจให้เลือกลงทุน

ถ้าหากพูดถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วละก็ คงเป็นคำที่นักลงทุนหลาย ๆ คนคงจะรู้สึกแสลงหูกันอยู่ไม่น้อย บางครั้งก็อาจจะถึงขั้นพอได้ยินคำนี้ปรากฏในสื่อต่าง ๆ ก็จะทำการถอนการลงทุนที่มีอยู่ทันที หรืออาจจะชะลอการลงทุนด้วยเงินก้อนใหม่ออกไปก่อน เพราะว่าเมื่อมีภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้น หลายคนก็จะคิดว่าสิ่งที่จะตามมาคือ ตลาดหุ้นจะไม่ค่อยดี หรือไม่เป็นใจสำหรับนักลงทุนนั่นเอง

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีอีกหลายแง่มุมของภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นโอกาสทองสำหรับนักลงทุนที่สามารถวางแผนการลงทุนล่วงหน้า เพื่อที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีแบบ “พลิกชีวิต” เลยก็ได้ หลาย ๆ คนคงอยากทราบแล้วใช่ไหมครับว่าจะต้องวางแผนการลงทุนอย่างไร ตามผมมาเลยครับ

 

ก่อนอื่นเรามารู้จักคำว่า “เศรษฐกิจถดถอย” กันก่อนครับ ในความหมายของเศรษฐกิจถดถอยนั้นมีหลากหลาย ถ้าหากอธิบายให้ง่าย ๆ ก็คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น การบริโภค การจับจ่ายใช้สอย การลงทุนของภาคเอกชน การจ้างงาน รายได้ การใช้จ่ายของภาครัฐ การส่งออก นั้นลดน้อยถอยลงนั่นเอง

 

ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์ก็เลยใช้ GDP ที่มีส่วนประกอบต่าง ๆ ในการดูสภาพเศรษฐกิจอยู่แล้วมาเป็นตัววัดเศรษฐกิจถดถอย เช่น การวัดขนาดการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (Quarter on Quarter) หดตัวต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ไตรมาส โดยการถดถอยในลักษณะนี้มักถูกเรียกว่า การถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) 

 

หรือบางครั้งอาจจะวัดจากมุมมองที่เป็นการคาดการณ์ก็ได้เช่นกันครับ เช่น การดูภาวะตลาดการลงทุนว่านักลงทุนมองอย่างไร เช่น การดูเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ของตราสารหนี้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเส้นอัตราผลตอบแทนมักจะชันขึ้นตามอายุของตราสาร แต่หากผู้ลงทุนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยในอีกไม่ช้า ก็จะนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาว ๆ กดดันทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุยาวลดลง ทำให้เกิดปรากฏการณ์พันธบัตรระยะสั้นมีผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว (Inverted Yield Curve)

 

โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็เคยตกอยู่ในภาวะเหตุการณ์เศรษฐกิจถดถอยประมาณ 3 ครั้ง ได้แก่

  1. วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในปี 2540
  2. วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ ในปี 2551
  3. เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว ในปี 2556 และเกิดปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงในประเทศ พร้อมกับภาวะการเมืองที่ตึงเครียด

 

คราวนี้หากมองในภาวะปัจจุบันกันบ้าง ในปี 2565 ที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงมากถึง 7.66% ถือว่าสูงสุดในรอบ 13 ปีของประเทศไทย โดยภาวะเงินเฟ้อนี้เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ

  1. ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการสูงขึ้นไปด้วย
  2. สินค้าขาดแคลน เนื่องจากเพิ่งฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ไม่นาน สินค้าบางอย่างยังผลิตได้ไม่ทันต่อความต้องการ ทำให้ราคาสินค้าก็ยิ่งปรับตัวสูงขึ้นไปอีกทาง

 

แน่นอนว่า ถ้าหากเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นแบบนี้ ไม่นานภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะตามมา เนื่องจากไม่มีใครที่จะจับจ่ายใช้สอย หรือปรับลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลงเอง ซึ่งทางแก้ไขนั้นอาจจะมีได้หลายทาง เช่น ควบคุมราคาสินค้า พลังงาน หรือการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อปรับลดปริมาณเงินในระบบ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวลดลงบ้าง แต่ไม่ถึงกับเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกันก็ได้

 

แต่หากการปรับแก้สถานการณ์เหล่านี้ไม่ทัน หรือว่ามีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อีกเช่นกัน ซึ่งการเกิดเงินเฟ้อในรอบนี้ก็ค่อนข้างจะมีโอกาสนำพาเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยได้อีกครั้ง

 

ดังนั้น เมื่อมีโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้สูง จะมีกองทุนหุ้นประเภทใดบ้างที่จะสามารถลงทุนแล้วเอาชนะช่วงเวลาแบบนี้ได้ มาดูกันครับ

 

แม้ในช่วงเศรษฐกิจไม่เป็นใจ เราจะสังเกตได้ว่าในบางกลุ่มธุรกิจนั้นก็ยังสามารถที่จะประคองตัวไปได้ หรือในบางครั้งก็อาจจะสร้างผลตอบแทนได้ดีก็เป็นไปได้ครับ แต่ทั้งนี้นักลงทุนเองก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนการลงทุนไปในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยวิธีการที่นักลงทุนได้ปรับเปลี่ยนกลุ่มการลงทุน เราจะเรียกว่าการทำ Sector Rotation

Inv_3 กองทุนหุ้น ที่ได้ไปต่อหากเกิดเศรษฐกิจถดถอย_01

จากภาพจะเห็นว่า เส้นกราฟสีเขียวแทนการขึ้นลงของเศรษฐกิจ และเส้นกราฟสีน้ำเงินแทนการขึ้นลงของตลาดหุ้น เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ (Full Recovery จะมีเงินเฟ้อเริ่มสูงมาก) ก็จะทำให้นักลงทุนเริ่มที่จะขายสินทรัพย์ลงทุนออกมาทำให้ตลาดหุ้นผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว (Market Top) และจะเข้าสู่ตลาดหมี (Bear Market) ทำให้การลงทุนนั้น มีความยาก และต้องอาศัยการเปลี่ยนกลุ่มอุตสาหกรรมในการลงทุน จากเดิมที่อาจจะเน้นไปในเรื่องของเทคโนโลยี สินค้าฟุ่มเฟือย หรือพลังงาน ไปเป็นกลุ่มอื่นแทน

 

โดยกองทุนหุ้นที่น่าสนใจลงทุนในช่วงเศรษฐกิจถดถอยก็คือ

 

  1. กองทุนหุ้นกลุ่มสุขภาพ หรือ Healthcare

ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี การรักษาพยาบาลก็ยังคงจำเป็น และค่ารักษาพยาบาลนั้น ก็ยังสามารถปรับขึ้นได้ตามเงินเฟ้อที่สูงขึ้น นอกจากนี้ อำนาจในการต่อรองของผู้เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาล หรือการซื้อยาจากบริษัทยานั้นค่อนข้างต่ำ คือ คนไข้ไม่สามารถขอปรับลดราคาการรักษาหรือยาที่จำเป็นต้องใช้ได้โดยง่าย ดังนั้น กองทุนหุ้นกลุ่มสุขภาพก็ยังคงเป็นกองทุนที่สร้างผลตอบแทนได้ดีอย่างไม่ต้องสงสัย

 

  1. กองทุนหุ้นกลุ่มสินค้าจำเป็น

ผมเชื่อว่าไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร สินค้าสำหรับการดูแลตนเอง (Personal care) รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น ก็ยังคงต้องถูกใช้อยู่ในทุก ๆ วัน จึงเป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตามที ดังนั้น กองทุนที่มีการลงทุนในกลุ่ม Consumer Product ทั้งหลาย ก็น่าจะเติบโตต่อเนื่องได้

 

  1. กองทุนหุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ประปา หรือ ไฟฟ้า รวมไปถึงโครงข่ายโทรศัพท์มือถือไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดของเศรษฐกิจ กองทุนหุ้นในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ก็จะยังได้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ เนื่องจากรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอน และผมเชื่อว่าในช่วงที่เกิดเศรษฐกิจถดถอยก็จะยิ่งทำให้กองทุนในกลุ่มนี้โดดเด่นมากขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะว่านักลงทุนจะเริ่มเสาะแสวงหาผลตอบแทนที่ไม่ผันผวน และสร้างความสม่ำเสมอของผลตอบแทนได้ในช่วงเวลาที่ไม่เป็นใจ มองไปมองมาหุ้นในกลุ่มนี้ย่อมเป็นคำตอบของนักลงทุนอย่างแน่นอน

 

และถ้าหากมองไปถึงระยะถัดไปของวัฏจักรเศรษฐกิจแล้วละก็ อาจจะต้องเตรียมเงินไว้ หรือเตรียมที่จะทำการปรับเปลี่ยนการลงทุนอีกครั้ง โดยอาจจะต้องเน้นไปลงทุนในกลุ่มการเงินและกลุ่มเทคโนโลยีแทน

 

ทั้งนี้ก็เพราะว่า หลังจากเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อปรับลดลง ดอกเบี้ยก็จะค่อย ๆ ปรับตัวลงด้วย ภาครัฐก็จะใช้จ่ายมากขึ้น และจะเริ่มเห็นว่ามีการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมการเงินเริ่มมีผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนในโปรเจ็คใหม่ ๆ และเมื่อเศรษฐกิจกลับมา เราก็จะเห็นบริษัทใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิตนั่นเอง

 

เมื่อนักลงทุนเข้าใจถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจเบื้องต้นได้ ก็จะทำให้สามารถลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ในยามที่เกิดเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม

 

ขอให้นักลงทุนท่าน อย่าคิดว่าเศรษฐกิจไม่ดีแล้วจะทำให้พอร์ตลงทุนของเราแย่ไปด้วย แต่เป็นช่วงเวลาสำคัญในการมองหาสินทรัพย์ลงทุนที่ดี และมีโอกาสเติบโตในระยะยาว รวมถึงสร้างความมั่งคั่งให้กับเราได้ เพียงใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้ ขอเป็นกำลังใจให้กับนักลงทุนทุกท่านครับ

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการเลือกกองทุนรวม พร้อมสร้างและบริหารพอร์ตกองทุนรวมด้วยตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร ห้องเรียนกองทุนรวม The Series” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้แนวคิดและเทคนิคในการสร้างแผนลงทุนด้วยกองทุนรวม พร้อมใช้ตัวช่วยอย่าง Streaming Fund+ เพื่อสร้างแผนลงทุนที่เหมาะกับตนเองได้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร มือใหม่หัดสร้างแผนลงทุนด้วยกองทุนรวม” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: