ETF เป็นกองทุนรวมรูปแบบหนึ่งที่มีนโยบายเน้นสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของดัชนีหรือราคาของสินทรัพย์อ้างอิง และที่สำคัญคือมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อ-ขาย ETF ได้สะดวก ง่ายดาย เหมือนหุ้นตัวหนึ่งเลย
สำหรับใครที่มองเห็นโอกาสการลงทุนใน ETF แต่ยังไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มยังไงดี วันนี้เราได้สรุปขั้นตอนการลงทุนใน ETF แบบง่าย ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ แบบว่าอ่านครบ ก็สามารถเริ่มลงทุนด้วยตัวเองได้ทันที
สำหรับขั้นแรกผู้ลงทุนจะต้องมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ก่อน ซึ่งถ้าใครมีบัญชีซื้อขายหุ้นอยู่แล้ว ก็สามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปได้ทันที เพราะสามารถใช้บัญชีนั้นลงทุน ETF ได้ทันที
แต่ใครที่ยังไม่มีและต้องการเปิดบัญชีเป็นครั้งแรก สามารถเปิดบัญชีได้ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือ โบรกเกอร์ โดยตรวจสอบรายชื่อโบรกเกอร์ที่จดทะเบียนเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ที่ คลิก
เมื่อเปิดบัญชีหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว เท่านี้ก็สามารถเริ่มลงทุนได้ทันที ซึ่งเราสามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้ทั้งทางอินเทอร์เน็ตด้วยตนเองผ่านโปรแกรม Streaming หรือติดต่อเจ้าหน้าที่การตลาดก็ได้ แต่วันนี้เราจะพามาดูทีละขั้นตอนว่า ถ้าต้องการซื้อ ETF ผ่านโปรแกรม Streaming ต้องเริ่มอย่างไร
4. เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้ว หากต้องการซื้อ ETF ก็เพียงกดเมนู “Buy” แล้วกด “Confirm” เพื่อยืนยันข้อมูลทำรายการ เท่านี้ก็เป็นที่เรียบร้อย
ทราบขั้นตอนในการลงทุน ETF กันไปแล้ว ลองมาดูกันหน่อยว่ามีเงื่อนไขอะไรอีกบ้างที่เราควรรู้ ก่อนทำรายการซื้อขาย ETF
ใช้การจับคู่คำสั่งซื้อขายโดยอัตโนมัติเหมือนหุ้น
ETF ใช้ระบบจัดเรียงคำสั่งซื้อขายเหมือนหุ้น โดยใช้หลัก Price Then Time Priority คือ คำสั่งไหนเสนอราคาซื้อสูงสุดจะถูกจัดเรียงไว้ลำดับที่หนึ่ง แต่ถ้าหากคำสั่งไหนมีราคาเสนอเท่ากันก็ให้จัดเรียงตามเวลา ส่วนกรณีเสนอขาย หากคำสั่งไหนเสนอขายต่ำที่สุด ก็จะถูกจัดเรียงไว้ในลำดับที่หนึ่งนั่นเอง และหากมีคำสั่งซื้อขายสามารถจับคู่กันได้ (ราคาเสนอซื้อและเสนอขายตรงกัน) ก็จะสามารถซื้อขายได้ทันทีโดยอัตโนมัติ ซึ่งการเข้าใจหลักการจับคู่ซื้อขาย จะช่วยให้เราสามารถวางแผนเข้าซื้อขายได้ดียิ่งขึ้น
หน่วยการซื้อขายขั้นต่ำ
หากต้องการซื้อ ETF จะต้องซื้อขั้นต่ำที่ 1 Board Lot ซึ่งมีจำนวนเท่ากับ 100 หน่วย เพราะฉะนั้นแล้ว เราจะไม่สามารถซื้อ ETF จำนวน 1 หน่วยได้
ยกตัวอย่างเช่น หาก ETF ที่ต้องซื้อมีราคาอยู่ที่หน่วยละ 10 บาท ดังนั้น ผู้ลงทุนจะต้องเตรียมจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ที่ 1,000 บาทนั่นเอง
ราคาสูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวัน
ราคา ETF มีการกำหนดราคาสูงสุด (Ceiling) และราคาต่ำสุดในแต่ละวัน (Floor) ไม่เกิน 30% ของราคาปิดวันทำการก่อนหน้า
ตัวอย่างเช่น ราคาปิดวันทำการก่อนหน้าอยู่ที่หน่วยละ 10 บาท เท่ากับว่าในวันนี้ราคา ETF จะขึ้นสูงสุดได้ไม่เกิน 13 บาท และลงต่ำสุดได้ไม่เกิน 7 บาท โดยผู้ลงทุนจะไม่สามารถส่งคำสั่งซื้อขาย ETF ที่เกินกรอบ Ceiling & Floor ซึ่งการมีราคาสูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวันนั้น เพื่อช่วยป้องกันความผิดพลาดในการกรอกราคาคำสั่งซื้อของผู้ลงทุนนั่นเอง
การเคลื่อนไหวของราคา ETF
การเคลื่อนไหวราคา ETF นั้นจะมีความแตกต่างกับหุ้น โดย ETF จะเคลื่อนไหวราคาอยู่ที่ครั้งละ 0.01 บาทในทุกช่วงราคา ต่างจากหุ้นที่จะเคลื่อนไหวแตกต่างกันตามระดับของช่วงราคา
จะเห็นว่าข้อดีของการเคลื่อนไหวราคาครั้งละ 0.01 บาทในทุกช่วงราคานั้น ทำให้การลงทุน ETF สามารถซื้อขายได้คล่องตัวมากขึ้นนั่นเอง
ค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย ETF
การซื้อขาย ETF จะมีค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย ซึ่งประกอบด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% และค่าธรรมเนียมในการซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์นั้น ๆ เช่นเดียวกับการซื้อขายหุ้นโดยทั่วไป ซึ่งผู้ลงทุนสามารถคำนวนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วยตัวเองคร่าว ๆ ได้ตามสูตรนี้
หากต้องการซื้อ ETF หน่วยละ 10 บาท จำนวน 1,000 หน่วย สมมติว่ามีค่าธรรมเนียมซื้อขายที่ 0.15% เท่ากับว่าจะต้องเสียงค่าใช้จ่าย 10 x 1000 x 0.0015 x 1.07 = 16.05 บาท สรุปแล้วผู้ลงทุนจะต้องใช้เงินในการซื้อ ETF นี้ที่ 10,016.05 บาท แทนที่จะเป็น 10,000 บาทนั่นเอง
ผลตอบแทนจาก ETF ต้องเสียภาษีไหม?
ผู้ลงทุนใน ETF จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจาก 2 ส่วน คือ กำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) และผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield)
สำหรับบุคคลธรรมดาที่ลงทุน ETF จะได้รับการยกเว้นภาษี สำหรับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา ส่วนผลตอบแทนเงินปันผล จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และไม่ต้องนำไปรวมคิดภาษีเงินได้ตอนปลายปีอีก
ทั้งหมดนี้ก็คือขั้นตอนและเงื่อนไขสำคัญที่ควรรู้ก่อนลงทุน ETF ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตัวเองอย่างสะดวก หากใครพร้อมแล้ว ก็สามารถเริ่มลงทุนด้วยตัวเองกันได้เลย
- สนใจศึกษาข้อมูล ETF เพิ่มเติมที่: www.setinvestnow.com/th/etf