วัยเริ่มต้นทำงาน พิชิตเงินล้านด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

โดย กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
3 Min Read
24 เมษายน 2564
3.263k views
PF_วัยเริ่มต้นทำงาน พิชิตเงินล้านด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
Highlights
  • การมีเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่ากับมีหลักประกันที่มั่นคงในยามเกษียณ ถ้าเริ่มสะสมเงินตั้งแต่เดือนแรกในวัยทำงานก็จะได้เปรียบและมีโอกาสหยิบเงินล้านตั้งแต่อายุ 40 ปี

  • เทคนิคออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ เลือกหักเงินสะสมสูงสุดที่สามารถเลือกได้ เลือกนโยบายการลงทุนที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น และทบทวนนโยบายการลงทุนและสัดส่วนที่เหมาะกับตัวเองในแต่ละช่วงเวลา

เมื่อเริ่มต้นเข้าสู่วัยทำงาน ส่วนใหญ่จะได้เงินเดือนสตาร์ทกันที่ 15,000 บาท ซึ่งด้วยเงินเดือนระดับนี้ทำให้หลายคนยอมรับว่าเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว ก็แทบไม่เหลือเงินที่จะนำไปเก็บออม อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีเงินเดือนมากน้อยเพียงใด หากมีวินัยและเก็บก่อนใช้ทุกเดือน ย่อมมีเงินออมแน่นอน

 

โดยทางเลือกหนึ่งของการเก็บออมและอยู่ใกล้ตัวสำหรับวัยเริ่มต้นทำงาน คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งถูกออกแบบเพื่อเป็นหลักประกันให้กับลูกจ้างให้มีเงินใช้หลังวัยเกษียณ ซึ่งหากเริ่มต้นสะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่เนิ่น ๆ จะเป็นเครื่องมือที่พาไปสู่เงินล้านได้ไม่ยาก

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เริ่มต้นวัยทำงานและไม่ต้องการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ด้วยเหตุผลแค่หลีกเลี่ยงการถูกหักเงินเข้ากองทุน โดยอาจไม่รู้ว่าเงินที่ถูกหักไว้นั้นจะเป็นเงินออมของตัวเองเพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ โดยเงินที่ลูกจ้างถูกหัก เรียกว่า เงินสะสม ตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนของแต่ละนายจ้าง ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% แต่ไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้าง และนายจ้างก็จะจ่ายให้อีกจำนวนหนึ่ง เรียกว่า เงินสมทบ ตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนของแต่ละนายจ้าง ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% แต่ไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้าง

 

ยกตัวอย่างเช่น เงินเดือน 15,000 บาท สะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดือนละ 5% ของเงินเดือนหรือ 750 บาท และนายจ้างสมทบให้เดือนละ 5% หรือ 750 บาท หมายความว่าในแต่ละเดือนจะมีเงินออมในกองทุนนี้ 1,500 บาท

 

การหักเงินเดือนละหลักร้อยบาทเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจมองว่าไม่เยอะ แต่อย่าลืมว่าเป็นการหักเงินเข้าทุกเดือนและเป็นเวลาหลายปี จึงทำให้มีโอกาสที่จะเห็นเงินออมหลักล้านบาทได้ไม่ยาก ซึ่งการออมเงินสม่ำเสมอแบบนี้ เรียกว่า Dollar Cost Averaging (DCA) เป็นการออมเงินรูปแบบหนึ่งที่เหมาะกับวัยเริ่มต้นทำงานที่มีเงินเดือนไม่มาก ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการฝึกฝนวินัยทางการเงินอีกด้วย

 

มีเงินออมหลักล้าน ยากแค่ไหน

 

ตารางที่ 1 : แสดงมูลค่าเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่ออัตราเงินสะสมและอัตราเงินสมทบเท่ากันที่ 5%

PF_วัยเริ่มต้นทำงานพิชิตเงินล้านด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ_01

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือเป็นแหล่งเงินออมสำคัญเพื่อการเกษียณของมนุษย์เงินเดือน จากตารางที่ 1 จะเห็นว่า ถ้าเริ่มต้นทำงานเมื่ออายุ 22 ปี เงินเดือน 15,000 บาท (อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน 3% ต่อปี) โดยหักเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงเดือนละ 5% และนายจ้างสมทบให้อีกเดือนละ 5% รวมทั้งสมมติว่า นโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ตัวเองเลือกไว้ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี จะพบว่า เมื่ออายุครบ 44 ปี จะมีเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทะลุ 1 ล้านบาท

 

ตารางที่ 2 : แสดงมูลค่าเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่ออัตราเงินสะสม 10% และอัตราเงินสมทบ 5%

PF_วัยเริ่มต้นทำงานพิชิตเงินล้านด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ_02

ตารางที่ 2 สมมติว่า ถ้าเพิ่มอัตราเงินสะสมแต่ละเดือนจาก 5% เป็น 10% ขณะที่นายจ้างยังคงจ่ายเงินสมทบให้ที่ 5% ต่อเดือน และได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี จะมีเงิน 1 ล้านบาทเมื่ออายุ 40 ปี และถ้าสะสมแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงอายุ 60 ปี จะมีเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งสิ้น 5,004,401 บาท

 

เทคนิคออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับวัยเริ่มต้นทำงาน

1. เลือกหักเงินสะสมสูงสุดที่สามารถเลือกได้ หากต้องการให้เงินออมถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ควรออมให้เต็มสิทธิ บางกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถเลือกอัตราการจ่ายเงินสะสมได้ในอัตราสูงสุด 15% ซึ่งหากมองในแง่ของการลงทุนแล้ว ยิ่งเพิ่มเงินสะสมมากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น และที่สำคัญสามารถนำ “เงินสะสม” ที่สะสมในแต่ละปี ไปหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

2. เลือกนโยบายการลงทุนที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงวัยยังไม่มีภาระหนี้สินมาก และเหลือระยะเวลาในการทำงานและลงทุนนาน จึงควรมีสัดส่วนเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตสูง เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมต่างประเทศ สินทรัพย์ทางเลือกอื่น ๆ เช่น ทองคำ และเมื่ออายุมากขึ้นก็ปรับสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงสูงให้น้อยลง ให้เหมาะกับอายุ ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และระยะเวลาการทำงานที่เหลืออยู่
 
3. ทบทวนนโยบายการลงทุนและสัดส่วนที่เหมาะกับตัวเองในแต่ละช่วงเวลา โดยพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหรือการยอมรับความเสี่ยงของตัวเองที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นอายุ ฐานะ การมีครอบครัวหรือมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ก็อาจต้องปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลดลง เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนและปกป้องเงินต้น ซึ่งก็จะส่งผลต่อจำนวนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จะได้รับในอนาคตเช่นกัน
 
ถึงแม้ว่าผู้ที่เริ่มต้นวัยทำงานอายุยังน้อยและถูกหักเงินเดือนเพื่อสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อาจรู้สึกว่าเหลือเงินไว้ใช้จ่ายน้อยลง แต่ในความเป็นจริงเงินกองทุนนี้เป็นหนึ่งในหัวใจของความมั่งคั่งยามเกษียณของมนุษย์เงินเดือน ซึ่งจะช่วยให้ดำรงชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีความสุขและไม่ต้องเป็นภาระกับลูกหลานอีกด้วย
 
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากเริ่มต้นวางแผนออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อสร้างเงินออมก้อนโตไว้ใช้ยามเกษียณกันแล้ว ลองมาสำรวจเงินออมก้อนนี้กันดีกว่าว่า ต้องออมเท่าใด จึงจะมีเงินเพียงพอสำหรับใช้ชีวิตในวันเกษียณ ด้วยโปรแกรม “วางแผนเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 
 
สำหรับใครที่สนใจอยากเริ่มต้นวางแผนเกษียณ พร้อมทั้งเรียนรู้เทคนิคการเพิ่มเงินออม และวิธีการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวเพื่อเป้าหมายเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
 
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
 
 
แท็กที่เกี่ยวข้อง: