ผมได้อธิบายถึงความสำคัญของทฤษฎี 5 Forces Model หรือแรงกดดันทั้ง 5 ซึ่งประกอบไปด้วย
โดยพยายามหาบริษัทที่มีศักยภาพในการสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งด้วยแรงกดดันทั้ง 5 ในฉบับนี้เรามาลงลึกถึงการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน ที่มีความมหัศจรรย์มากเพราะสามารถบอกศักยภาพในการทนแรงกดดันได้ถึง 3 แรงแบบโดยตรง (การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน อำนาจต่อรองต่อลูกค้า และอำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์) และในทางอ้อมสามารถบอกได้ถึงความเสี่ยงของแรงกดดันอีก 2 แรงที่เหลือ (ภัยคุกคามจากผู้แข่งขันรายใหม่ และภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน) โดยอัตราส่วนทางการเงินที่ว่านี้คือ อัตราส่วนกำไรขั้นต้น ซึ่งหาได้ง่ายและเป็นอัตราส่วนแรกที่ผมจะดูก่อนที่จะลงทุนหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง มาดูกันว่าจะหาอัตราส่วนนี้ได้อย่างไรและจะนำไปใช้อย่างไร
อัตรากำไรขั้นต้นบอกอะไรเรา? ซึ่งหากพิจารณาองค์ประกอบของอัตราส่วนนี้จะประกอบไปด้วย รายได้และต้นทุนสินค้าหรือบริการ ดังนั้น ถ้าอัตราส่วนนี้สูงสามารถบอกได้ 2 อย่างคือ บริษัทมีศักยภาพในการขึ้นราคาสินค้าเพื่อเพิ่มยอดขายได้ดี และ/หรือบริษัทมีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์สูงเพื่อลดต้นทุนสินค้าหรือบริการลง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนนี้สูงอย่างเดียวยังไม่พอแต่ต้องสม่ำเสมอด้วย เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ชั่วคราวและหลอกเราได้ เช่น ราคาน้ำมันลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนวัตถุดิบลดลงหรือเพิ่มขึ้นชั่วคราว ดังนั้น การย้อนดูอัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 10 ปี หากตัวเลขสม่ำเสมอ (อาจมีลดลงได้ในบางปีหรือบางไตรมาสจากวิกฤติหรือเหตุการณ์ชั่วคราว เช่น น้ำท่วม เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง โรคระบาด เป็นต้น) และในระยะยาวยังสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นได้หรือหากเพิ่มขึ้นได้ยิ่งดี
ดังเห็นได้จากอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) – CPALL เมื่อดูข้อมูล 5 ปีย้อนหลังจะเห็นว่าค่อนข้างสม่ำเสมอ ยิ่งไปกว่านั้นเฉพาะในปี 2016 – 2019 อัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นด้วย และแม้ว่าในปี 2020 จะปรับลดลง แต่นั่นเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบริษัท CPALL มีความทนต่อแรงกดดันจากการต่อรองของลูกค้า และ/หรือมีความสามารถในการต่อรองราคากับซัพพลายเออร์ได้ดี ซึ่งในกรณีนี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นทั้ง 2 แรงครับ
อย่างไรก็ตาม การรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้สม่ำเสมอก็เรื่องหนึ่ง แต่หากอัตราส่วนนี้สูงกว่าคู่แข่งก็แสดงได้ถึงการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ด้วย (อำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์) อย่างไรก็ดี ในส่วนของบริษัท CPALL นั้นไม่สามารถหาบริษัทมาเปรียบเทียบได้โดยตรงเพราะคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันคือค้าปลีกนั้นมีลักษณะสินค้าที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้น ผมจึงนำหุ้นในกลุ่มสื่อสารมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) – ADVANC หรือ AIS นั้นมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าบริษัทคู่แข่ง ซึ่งนั่นเป็นเพราะว่า AIS มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด จึงทำให้สามารถต่อรองราคากับลูกค้า รวมถึงซัพพลายเออร์ได้ดีกว่าคู่แข่งอีก 2 บริษัท อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นทั้ง 3 บริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลง ทั้งก่อนและหลังเกิดโควิด-19 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโดนผลกระทบเดียวกัน นั่นคือต้นทุนที่สูงขึ้นจากการลงทุน 5G นั่นเอง เห็นไหมครับอัตรากำไรขั้นต้นบอกถึงศักยภาพในการทนแรงเรื่องคู่แข่งในอุตสาหกรรมได้เพิ่มอีกแรง
มาถึงแรงที่ 4 คือคู่แข่งที่จะเข้ามาใหม่ ให้พิจารณาว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทที่เรากำลังศึกษาลดลงติดต่อกันหลายไตรมาส ขณะที่คู่แข่งไม่ลดลง แสดงให้เห็นว่าคู่แข่งกำลังมาแรงหรือบริษัทกำลังสูญเสียฐานลูกค้าให้กับคู่แข่ง เช่น บริษัท APPLE เข้ามาแทนที่บริษัท NOKIA หรือบริษัท COM7 เข้ามาแทนที่บริษัท IT City และหากอัตรากำไรขั้นต้นลดลงทั้งอุตสาหกรรมพร้อม ๆ กันโดยไม่ได้เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจหรือเหตุการณ์ชั่วคราว อาจแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมกำลังโดนแรงที่ 5 คือสินค้าทดแทนเข้ามาหรือไม่ เช่น กรณีของร้านขายหนังสือที่ลดลงเป็นจำนวนมากจากการที่ผู้บริโภคหันมาอาจหนังสือผ่านทาง Tablet หรือ สื่อโทรทัศน์โดน YouTube เข้ามาแทนที่ เป็นต้น
เห็นไหมครับว่า อัตรากำไรขั้นต้นนั้นมหัศจรรย์แค่ไหน เพียงแค่อัตราส่วนเดียวบอกได้ครบทั้ง 5 แรงกดดัน ดังนั้น อัตราส่วนทางการเงินคือลายแทงในการหาบริษัทที่ดีจริง ๆ และหากเรานำอัตราส่วนนี้ไปวิเคราะห์ประกอบกับอัตราส่วนทางการเงินที่ผมจะสอนในตอนต่อไปนั้น จะยิ่งทำให้เรามั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าบริษัทที่เราเข้าไปลงทุนนั้นดีจริงหรือไม่
นักลงทุนสามารถดูอัตราส่วนทางการเงินหรืองบการเงินของแต่ละบริษัทได้จากเว็บไซต์ set.or.th หรือ settrade.com ได้เลยครับ แล้วฉบับหน้าผมจะพาไปหาดูอัตราส่วนทางการเงินตัวอื่น ๆ กันครับ
หมายเหตุ : รายชื่อและข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในบทความนี้ ใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้องค์ประกอบต่าง ๆ ของงบการเงิน และเทคนิคการอ่านงบการเงินแบบง่าย เพื่อประเมินศักยภาพของกิจการประกอบการตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Financial Statement Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่