อยากรู้... เขาดูอะไรในอัตราส่วนทางการเงิน

โดย SET
3 Min Read
20 เมษายน 2564
20.824k views
อยากรู้... เขาดูอะไรในอัตราส่วนทางการเงิน
Highlights

อัตราส่วนทางการเงิน คือ การนำตัวเลขจากงบการเงินมาหาอัตราส่วนต่างๆ เพื่อให้ได้ตัวเลขที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์สุขภาพทางการเงินของกิจการ ซึ่งอาจจะนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีตของกิจการ ข้อมูลของคู่แข่ง หรือข้อมูลของทั้งอุตสาหกรรม

เชื่อว่านักลงทุนทั้งมือใหม่และมือเก่าคงเคยได้ยินนักวิเคราะห์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนพูดถึงอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญสำหรับการลงทุนในหุ้นกันอยู่บ่อยๆ แต่เชื่อหรือไม่... ว่ายังมีนักลงทุนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าอัตราส่วนทางการเงินเหล่านั้นหมายถึงอะไร และต้องดูอย่างไรจึงจะสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อเลือกหุ้นดี น่าลงทุนได้ วันนี้เราลองมาทำความรู้จักกับ 7 อัตราส่วนทางการเงินยอดฮิตที่มักถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุนกันเถอะ

 

7 อัตราส่วนทางการเงินยอดฮิต นักลงทุนใช้เป็นประจำ

 

Price to Earning : P/E

 

เป็นอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น ที่บริษัททำได้ในรอบปีล่าสุด เป็นค่าที่จะได้ยินบ่อยที่สุด เนื่องจากสามารถนำมาเปรียบเทียบได้ทั้งหุ้นรายตัว และสภาพตลาดโดยรวม

 

อธิบายง่ายๆ คือ ค่า P/E สามารถประมาณการจุดคุ้มทุนให้กับนักลงทุนได้ เช่น หุ้น A ราคา 10 บาท มีกำไรต่อหุ้น 1 บาท ดังนั้น ค่า P/E จะเท่ากับ 10 เท่า หรือเราจะได้ทุน 10 บาทคืนเมื่อถือหุ้น A ครบ 10 ปี หากกิจการมีกำไรต่อหุ้นคงที่ และจ่ายเป็นปันผลทั้งหมด ยิ่งค่า P/E ต่ำ ก็หมายถึงว่า... นักลงทุนจะได้เงินลงทุนคืนเร็วนั่นเอง นักลงทุนบางคนจึงมักจะลงทุนในหุ้นที่มีอัตราส่วนนี้ต่ำเมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่สำหรับบางกรณี หุ้นที่ P/E สูงๆ ก็ยังน่าลงทุน เช่น

 

  • หุ้นที่มีแนวโน้มของกำไรเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่า Growth Stock หุ้นเหล่านี้มักจะมี P/E สูง แต่ถ้าต้องการดูว่าสูงจนแพงเกินราคาหรือไม่ ต้องดูที่ P/E ไม่เกินอัตราการเติบโตของกำไร หรือที่เรียกว่า PEG Ratio” นั่นเอง โดยการนำค่า P/E หารด้วยอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ (Growth) เช่น ถ้าคาดว่าหุ้นจะมีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิที่ 15% ต่อปี ก็ไม่ควรมี P/E เกิน 15 เท่า ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ค่า PEG ของกิจการที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 1 เท่า มิฉะนั้นอาจมองได้ว่าแพงเกินไปเมื่อเทียบกับการเติบโตของกิจการ
  • หุ้นที่มีสภาพคล่องดี มีปริมาณซื้อขายมากในแต่ละวัน มักมี P/E สูงกว่าพวกหุ้นที่มี Market Cap ใหญ่ๆ

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไม่สามารถดูเพียงค่า P/E หรือ PEG เพียงตัวเดียวเท่านั้น ต้องพิจารณาอัตราส่วนทางการเงินและปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วยเสมอ เช่น การวิเคราะห์ธุรกิจว่าอยู่ในช่วงอิ่มตัวหรือประสบปัญหาหรือไม่ ซึ่งนักลงทุนต้องเข้าใจถึง "ธรรมชาติ" ของธุรกิจนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร รวมถึงมีการวิเคราะห์การเติบโตของกำไรของกิจการว่ามากน้อยแค่ไหนประกอบด้วย

 

Price to Book Value : P/BV

 

เป็นอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นของกิจการ หากค่า P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า หมายความว่านักลงทุนสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของบริษัท ดังนั้น หากจะเลือกลงทุนหุ้น ควรเลือกหุ้นที่มีค่า P/BV ต่ำกว่า ค่า P/BV เฉลี่ยของอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้หุ้นที่มีราคาตลาดไม่สูงเกินมูลค่าทางบัญชีมากเกินไป

 

P/BV เป็นอีกหนึ่งอัตราส่วนที่นักลงทุนนิยมใช้กัน เนื่องจากหาได้ง่ายจากงบการเงิน แต่อาจผิดเพี้ยนไป หากใช้กฎเกณฑ์หรือมาตรฐานทางบัญชีที่แตกต่างกัน หรือกิจการมีขนาดของสินทรัพย์ที่แตกต่างกันมาก จึงไม่เหมาะที่จะใช้กับธุรกิจบริการที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรน้อย

Dividend Yield

 

เป็นการวัดอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เทียบกับราคาหุ้น หากหุ้นตัวใดมีค่านี้สูง แสดงว่ามีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูง ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนพอสมควร แต่ถ้าหุ้นใดมีค่านี้ต่ำ ก็ต้องหาข้อมูลต่อไปว่าเกิดจากการทำกำไรได้น้อยหรือเกิดจากนโยบายของบริษัทที่จะนำเงินไปลงทุนมากกว่าจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งถ้าเป็นประการหลัง และเป็นโครงการลงทุนที่ดี วิเคราะห์แล้วน่าจะมีผลตอบแทนที่สูง ก็ไม่ได้แสดงว่าหุ้นตัวนั้นไม่ดีแต่อย่างใด

 

Turnover Ratio

 

อัตราการหมุนเวียนการซื้อขาย ใช้วัดปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ว่ามีมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับปริมาณหุ้นจดทะเบียน ถ้ามีค่ามาก แสดงว่ามีสภาพคล่องในการซื้อขายสูง พูดง่ายๆ คือ สามารถเปลี่ยนหุ้นเป็นเงินสดได้ดี

 

Net Profit Margin

 

อัตราส่วนกำไรสุทธิ เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทหลังจากนำรายได้และค่าใช้จ่ายทุกประเภทมาพิจารณาแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของบริษัทในการควบคุมต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดกำไรสุทธิ ดังนั้น ค่า Net Profit Margin ยิ่งสูงก็ยิ่งเป็นผลดี

 

ROA หรือ Return on Asset

 

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรของสินทรัพย์ทั้งหมดที่กิจการนั้นใช้ในการดำเนินงาน ยิ่งมีค่ามาก ยิ่งแสดงว่าบริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างกำไรจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้สูง

 

ROE หรือ Return on Equity

 

อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรจากส่วนของเจ้าของ หาก ROE มีค่ามาก ก็แสดงว่าบริษัทนั้นสร้างกำไรสุทธิได้ดี ผู้ถือหุ้นก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนในระดับที่สูงตามไปด้วย

 

Financial Ratio สูง-ต่ำ เท่าใดถึงจะดี

 

ในการหาตัวเลือกลงทุนที่ดีที่สุดจากตัวเลือกที่มีอยู่หลากหลายนั้น การพิจารณาเพียงอัตราส่วนทางการเงินของกิจการที่วิเคราะห์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ นักลงทุนต้องทำการเปรียบเทียบบริษัทที่ทำการวิเคราะห์กับต้วเลือกการลงทุนอื่นๆ ที่มีอยู่ พูดง่ายๆ คือ…

 

  • เทียบกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยมองทั้ง 7 อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อดูว่าบริษัทมีข้อดีข้อด้อยในส่วนใด และโดยภาพรวมบริษัทใดน่าจะเป็นตัวเลือกการลงทุนที่ดีที่สุด
  • เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม วิธีนี้นักลงทุนต้องรวมตัวเลขงบการเงินของกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แล้วนำมาจัดทำอัตราส่วนทางการเงินของกลุ่มอุตสาหกรรม (ไม่แนะนำให้หาอัตราส่วนทางการเงินรายบริษัทในอุตสาหกรรมแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ย เนื่องจะได้ค่าเฉลี่ยที่ไม่ได่มีการถ่วงน้ำหนักในการคำนวน) จากนั้นจึงนำอ้ตราส่วนทางการเงินของกิจการที่วิเคราะห์ มาเปรียบเทียบกับตัวเลขของอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้รู้ว่ากิจการที่วิเคราะห์มีสถานะที่ดีหรือแย่กว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม

 

ทั้ง 7 อัตราส่วนทางการเงินนี้เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและมักได้ยินบ่อยๆ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจความหมายและสามารถติดตามข่าวสารต่างๆ ได้โดยมีความเข้าใจมากขึ้น แต่ถ้าจะให้ดีก็ต้องมีการศึกษาหาข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย อย่าลืมว่า... การลงทุนมีความเสี่ยง แต่สามารถบริหารความเสี่ยงให้น้อยลงได้ด้วยการศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน

 

สำหรับใครที่สนใจอยากรู้และเข้าใจปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น ตลอดจนสามารถนำแนวคิดและขั้นตอนในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมาใช้เพื่อคัดกรองหุ้นที่มีพื้นฐานดีเหมาะกับการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน
e-Learning หลักสูตร “ลงทุนหุ้นมั่นใจ ต้องเข้าใจปัจจัยพื้นฐาน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: