ตลาดการลงทุนในปี 2563 นับว่าฉายภาพคนละม้วนกับปี 2564 ไม่ว่าจะเป็นภาพของตลาดหุ้นที่เปลี่ยนความสนใจจากหุ้นกลุ่มเติบโตมาสู่หุ้นกลุ่มวัฏจักร และตลาดตราสารหนี้ที่เน้นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ระดับ Investment Grade
อย่างไรก็ตาม เมื่อเม็ดเงินไหลไปในที่เดียวกันด้วยกลยุทธ์การลงทุนแบบเดียวกัน ผลตอบแทนจากการลงทุนก็มีโอกาสลดความน่าสนใจลงไปด้วย “ทำให้การลงทุนในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 นั้นไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากสำหรับนักลงทุน” ดร.กวินทร์ ภู่พกสกุล Senior Wealth Strategist บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าว
นอกจากกลยุทธ์การลงทุนที่นักลงทุนต้องวางกลยุทธ์ให้แม่นยำ ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 ยังมีปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามาได้ตลอดเวลา โดยถ้าดูปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อการลงทุน ได้แก่ นโยบายการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน เตรียมปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลและภาษี Capital Gain จากผู้มีฐานะดี รวมทั้งจัดเก็บภาษีจากบริษัทต่างประเทศที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาและกลับมาใช้อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
“มีการประเมินว่า ถ้ามีการปรับขึ้นภาษีเหล่านี้จริง จะทำให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี การแพทย์ และการเงิน มีโอกาสปรับลดลง” ดร.กวินทร์ กล่าว
นอกจากนี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นจะกดดันตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ โดยประเด็นที่ต้องจับตา คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศที่มีภาระหนี้สินสูง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จะเป็นไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น
“สิ่งที่ต้องกังวลกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไป ก็คือ ภาวะการเกิดฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ราคาของสินทรัพย์เกิดความผันผวน” ดร.กวินทร์ บอก และสิ่งที่จะตามมาหนีไม่พ้นอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งมีผลกระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุน ทั้งผลตอบแทนที่อยู่ในรูปดอกเบี้ย และผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ
ปัจจุบัน พบว่านโยบายการคลังเข้ามามีบทบาทสำคัญแทนที่นโยบายการเงิน ส่งผลให้ราคาสินค้าเฉลี่ยในตลาดโลกปรับตัวสูงจากผลของภาษีทางการค้า และจากนโยบายประชานิยม เช่น การปรับเพิ่มภาษีที่จะเพิ่มต้นทุนให้กับภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ล้วนแต่เป็นปัจจัยหนุนเงินเฟ้อชั้นดี
“เมื่อเงินเฟ้อขยับขึ้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับลดลง” ดร.กวินทร์ กล่าว
เมื่อสถานการณ์มีโอกาสเกิดความผันผวนได้ตลอดเวลา คำถามที่ตามมา ก็คือ ควรลงทุนในสินทรัพย์ใด ซึ่งในมุมมองของ ดร.กวินทร์ บอกว่า สินทรัพย์เพื่อการลงทุนทุกประเภทจะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากต้องการลดความเสี่ยงก็ต้องปรับพอร์ตเพื่อให้ตอบรับกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป
“สินทรัพย์เพื่อการลงทุนจะมีผลตอบแทนที่แตกต่างกัน โดยผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นมักตามมาด้วยความเสี่ยงที่มากขึ้น ดังนั้น นักลงทุนควรทยอยเข้าสะสมสินทรัพย์แต่ละประเภทตามความผันผวนที่สามารถรับได้” ดร.กวินทร์ แนะนำ
ลงทุนในหุ้นไทย
หากนักลงทุนสนใจลงทุนหุ้นไทย ดร.กวินทร์ แนะนำให้พิจารณาหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากผลกระทบจากภายนอก เช่น เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว หุ้นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับประโยชน์ คือ หุ้นกลุ่มส่งออก หรือเมื่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเริ่มเปิดประเทศ หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวก็จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
นอกจากนี้ หุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอก็น่าสนใจ เนื่องจากเป็นหุ้นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานและบริหารกระแสเงินสดได้ดี “ข้อดีของหุ้นปันผล คือ จะช่วยจำกัดความเสี่ยงหากตลาดเป็นขาลงและลดความผันผวนได้ดี” ดร.กวินทร์ แนะนำ
ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นในต่างประเทศค่อนข้างอยู่ในระดับสูงหรือแพงแล้ว ประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น จะทำให้เห็น Fund Flow ไหลเข้าหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาหุ้นไทยยังอยู่ในระดับที่ถูกกว่า “เป็นปัจจัยให้ตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ รวมถึงหุ้นไทยจะได้รับประโยชน์เหนือกว่าตลาดหุ้นประเทศที่ตลาดพัฒนาแล้ว”
ลงทุนในตราสารหนี้
ในช่วงที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นก็จะมาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น ในช่วงสภาวะแบบนี้ ดร.กวินทร์ แนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศที่คุณภาพดี
“ควรเลือกลงทุนตราสารหนี้อย่างระมัดระวัง เพราะเงินเฟ้อเป็นตัวการสำคัญที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่แท้จริงปรับตัวลดลง และกระแสเงินสดที่ได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ ถึงแม้จะได้รับอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แต่อาจไม่สามารถสู้กับเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นในอนาคตได้”
ดร.กวินทร์ แนะนำให้ปรับพอร์ตมาอยู่ในตราสารหนี้ที่มีอายุสั้น ๆ ในสัดส่วนที่มากขึ้นและหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตที่ดี
“ช่วงดอกเบี้ยและเงินเฟ้อเป็นขาขึ้น ควรให้ความสำคัญกับตราสารหนี้ที่มีความปลอดภัย และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ค่อยขยับไปลงทุนในตราสารหนี้ประเภท High Yield Bond”
ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก
นอกจากหุ้นปันผลที่มีข้อดีในการจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุนอย่างสม่ำเสมอแล้ว กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะมีอัตราการจ่ายเงินปันผลในระดับที่น่าประทับใจ
อย่างไรก็ตาม ด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ราคาสินทรัพย์ทั้งสองกลุ่มนี้ปรับลดลงอย่างมาก แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็จะฟื้นตัวตามไปด้วย
“หากมองในเชิงกลยุทธ์การลงทุน ช่วงเวลานี้น่าจะเป็นจังหวะการทยอยสะสมเพื่อรอรับโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต” ดร.กวินทร์ แนะนำทิ้งท้าย
สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ หลักการสร้างและบริหารพอร์ตลงทุน ตลอดจนเข้าใจวิธีการวัดผลการดำเนินงาน และแนวทางในการปรับพอร์ตการลงทุน เพื่อสร้างพอร์ตลงทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ครบเครื่องเรื่องบริหารพอร์ตลงทุน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน