กองทุนรวม ESG ในประเทศโตก้าวกระโดด

โดย Morningstar Thailand
3 Min Read
16 เมษายน 2564
3.944k views
กองทุนรวม ESG ในประเทศโตก้าวกระโดด
Highlights
  • ตลอด 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุนไหลเข้ากองทุนรวม ESG ทั่วโลกอย่างต่อเนื่องและทำสถิติใหม่ เช่นเดียวกับกองทุนรวม ESG ไทย ที่มีเงินไหลเข้าและเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นกัน

  • ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองทุนรวม ESG ได้รับการตอบรับจากนักลงทุน เนื่องจากมีการเติบโตที่ดี มีตัวเลือกการลงทุนที่หลากหลาย และมีประวัติผลการดำเนินงานที่ดี

  • สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนไม่เพียงแต่มองหาผลตอบแทนจากการลงทุนเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์การลงทุนที่เติบโตและเป็นเทรนด์การลงทุนในระยะยาวอีกด้วย

ย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมา กองทุนรวม ESG ในสหรัฐอเมริกาสร้างสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิในกองทุนเปิดและกองทุน ETF รวมทั้งหมด 5.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับปี 2562 ที่ 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 10 เท่าของปี 2561 ที่ไหลเข้าเพียง 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

 

หากมองกลับมาที่ประเทศไทยถือได้ว่ามีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นกัน โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2563 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท เติบโตมากกว่า 4 เท่าจากปี 2562 ที่มีมูลค่ารวมราว 5 พันกว่าล้านบาท และจากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมเพิ่มขึ้นไปที่ 3.4 หมื่นล้านบาท

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวม ESG ในประเทศไทย

การเติบโตที่สูงขึ้นต่อเนื่องของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวม ESG ในประเทศไทย มีสาเหตุหลักมาจากเม็ดเงินไหลเข้าในหลายกองทุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดยเม็ดเงินไหลเข้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงปี 2562 ที่ระดับ 3.1 พันล้านบาท และสูงขึ้น 5 เท่าในปี 2563 ที่มีเม็ดเงินไหลเข้า 1.5 หมื่นล้านบาท และเพียงสองเดือนแรกของปี 2564 ก็มีเงินไหลเข้าสูงถึง 1.1 หมื่นล้านบาทแล้ว

เงินลงทุนไหลเข้ากองทุนรวม ESG ในประเทศไทย

ในด้านทรัพย์สินที่ลงทุนนั้น มูลค่าการลงทุนยังกระจุกตัวที่กองทุนรวม ESG ต่างประเทศเป็นหลัก โดยมีมูลค่ารวมสูงสุดในกลุ่มหุ้นทั่วโลก รองลงมาได้แก่ กลุ่มหุ้นอุตสาหกรรมทั่วโลก กลุ่มหุ้นตลาดเกิดใหม่ และกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ตามลำดับ

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองทุนรวม ESG ได้รับการตอบรับจากนักลงทุน เนื่องจากมีการเติบโตที่ดี มีตัวเลือกการลงทุนที่หลากหลาย ที่สำคัญกองทุนประเภทนี้มีประวัติผลการดำเนินงานที่ดี และถึงแม้ว่ากองทุนรวมประเภทนี้ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องใหม่ แต่จากข้อมูลเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยก็มีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และกำลังพัฒนาที่จะนำไปสู่มาตรฐานที่ดีขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน

 

สำหรับกองทุนหลัก (Master Fund) ที่มีเม็ดเงินจากนักลงทุนไทยไหลเข้ามากที่สุด ได้แก่ Baillie Gifford Positive Change, BGF Sustainable Energy และ Janus Henderson Horizon Global Sustainable Equity โดยทั้งหมดมีแนวทางการลงทุนเพื่อความยั่งยืน

 

หากมองในแง่ของผลตอบแทน ถึงแม้ทั้ง 3 กองทุนดังกล่าวจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ปีที่ผ่านมากองทุน Baillie Gifford Positive Change สร้างผลตอบแทนในระดับที่น่าประทับใจสูงถึง 80.08% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้าไปถือหุ้น Tesla ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ขณะที่กองทุน BGF Sustainable Energy ให้ผลตอบแทน 47.34% และกองทุน Janus Henderson Horizon Global Sustainable Equity ให้ผลตอบแทน 33.60% และช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ กองทุน Baillie Gifford Positive Change ยังสร้างผลตอบแทนเป็นบวกที่ระดับ 3.45% ขณะที่อีก 2 กองทุน ผลตอบแทนติดลบ

กองทุนรวม ESG ในประเทศโตก้าวกระโดด

ปัจจุบันการลงทุนอาจไม่ใช่เพียงการแสวงหาสร้างผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว แต่มีการคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG ซึ่งจะช่วยให้มีการพิจารณาความเสี่ยงจากการลงทุนที่รอบด้านมากขึ้น และอาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้การลงทุนในกองทุนยั่งยืนจะยังเป็นเทรนด์ที่เติบโตได้ และในอนาคตจะเห็น บลจ.ไทย ออกกองทุนรวม ESG เพื่อให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนมากขึ้น

 

สำหรับนักลงทุนที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวม ESG สามารถศึกษารายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >> คลิกที่นี่

 

แม้ว่าการลงทุนอย่างยั่งยืน ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนที่ดีได้ แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงและความผันผวนของพอร์ตลงทุนได้ อีกทั้งการลงทุนอย่างยั่งยืนกำลังเป็นเทรนด์การลงทุนในระยะยาวที่กำลังเติบโตมากขึ้น ดังนั้น อาจจะเป็นจังหวะที่ดีที่นักลงทุนควรเริ่มหันมาศึกษาและสนใจการลงทุนอย่างยั่งยืน โดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: