ESG การลงทุนในโลกยุคใหม่

โดย นารินทิพย์ ท่องสายชล ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
2 Min Read
15 สิงหาคม 2565
6.056k views
Inv_ESG การลงทุนในโลกยุคใหม่_Thembnail
Highlights
  • การลงทุนอย่างยั่งยืน เป็นแนวคิดการลงทุนที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกำไรของบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึง 3 ด้านหลักสำคัญ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือที่เรียกว่า ESG

  • การลงทุนอย่างยั่งยืนไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว แต่มีหลายรูปแบบให้เลือกปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในธุรกิจที่สร้างสรรค์ สิ่งที่จะมาเปลี่ยนแปลงหรือสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือการลงทุนในธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG โดดเด่น เป็นต้น

แต่เดิมการลงทุนโดยทั่วไป (Conventional Investment) จะมุ่งเน้นเรื่องของการสร้างผลตอบแทนทางการเงินเป็นสำคัญ โดยไม่ได้นำปัจจัยด้านความยั่งยืนมาพิจารณา หรือการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การลงทุนโดยไม่หวังผลตอบแทนทางการเงิน เป็นลักษณะของการให้เปล่า (Philanthropy Investment) แต่เน้นการให้ความสำคัญในเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเงินหรือทรัพย์สินมาเป็นทุนเพื่อหาดอกผลนำไปใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาอาชีพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยที่ทุนหรือเงินต้นยังคงอยู่ ซึ่งแตกต่างจากการบริจาคที่เป็นการมอบเงินหรือทรัพย์สินนั้นให้เป็นความช่วยเหลือแก่สังคมโดยตรง

 

แต่ปัจจุบันมีแนวคิดเรื่องการลงทุนใหม่ที่ผสมผสานระหว่าง Conventional Investment และ Philanthropy Investment โดยมุ่งเน้นการใส่ใจทั้งผลตอบแทนทางการเงินควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG นั่นคือ การลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investing)

 

โดยก่อนที่จะไปทำความรู้จักว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนนั้นมีลักษณะการลงทุนแบบใดบ้าง เรามาทำความรู้จักกับคำว่า ESG กันก่อน ซึ่งปัจจุบันบริษัทหลายแห่งนำไปปรับใช้ในกระบวนการดำเนินงานของบริษัท

  • E – Environmental มุ่งเน้นการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินการขึ้นอยู่กับบริบทการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัท เช่น การบริหารจัดการพลังงาน บริหารจัดการน้ำ บริหารจัดการขยะ บริหารจัดการมลพิษ และอาจรวมถึงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบจากการทำงานของบริษัท
  • S – Social มุ่งเน้นการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน มีการดูแลสวัสดิภาพของพนักงาน มีการส่งเสริมและพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า คู่ค้า ชุมชน และสังคม
  • G – Governance เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างคุณค่าให้กิจการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างมีบรรษัทภิบาล และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท

 

โดยบริษัทที่ทำธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG มักมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าบริษัทที่ไม่คำนึงในเรื่องดังกล่าว เช่น ความเสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท และความเสี่ยงที่มีผลต่อการทำธุรกิจกับคู่ค้าและลูกค้า ซึ่งมีผลต่อรายได้ของบริษัท เป็นต้น

Inv_ESG การลงทุนในโลกยุคใหม่_01

เมื่อเข้าใจแนวคิดแล้ว มาดูลักษณะการลงทุนอย่างยั่งยืนกันบ้าง หลายคนเข้าใจว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนมีรูปแบบเดียว คือ การนำปัจจัยด้าน ESG มาพิจารณา แต่แท้จริงแล้วการลงทุนอย่างยั่งยืนนั้นมีหลายรูปแบบด้วยกัน โดยมีสิ่งสำคัญที่เหมือนกันคือ การมุ่งเน้นที่ผลตอบแทนทางการเงินควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีด้วยกัน 5 รูปแบบ ดังนี้

  1. NEGATIVE/EXCLUSIONARY: คัดกรองและเลือกที่จะไม่ลงทุนในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่สร้างผลกระทบเชิงลบในด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่ลงทุนในธุรกิจค้าอาวุธ ยาสูบ แอลกอฮอล์ คาสิโน เป็นต้น
  2. ESG INTEGRATION: พิจารณาปัจจัย ESG ร่วมกับปัจจัยอื่นในการตัดสินใจลงทุน เช่น เลือกลงทุนโดยใช้ปัจจัยด้าน ESG เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจลงทุนควบคู่กับการดูผลประกอบการทางการเงิน
  3. BEST-IN-CLASS SCREENING: คัดกรองและเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG โดดเด่น เช่น ลงทุนในธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG ดี โดยอาจได้รับการจัดอันดับหรือคัดเลือกให้อยู่ในดัชนีหรือรายชื่อหุ้นยั่งยืน
  4. THEMATIC INVESTMENT: ลงทุนในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เกาะธีมความยั่งยืน เช่น ลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น
  5. IMPACT INVESTING: ลงทุนในธุรกิจที่สร้างสรรค์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เช่น ลงทุนในธุรกิจ Startup ที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้ง หรือลงทุนในธุรกิจ SME ที่สนับสนุนการสร้างอาชีพให้คนในชุมชนห่างไกล

 

โดยสรุป การลงทุนอย่างยั่งยืน นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแล้ว ยังมีข้อดีคือ หากลงทุนในบริษัทที่มีการจัดการเรื่อง ESG ได้ดี จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุนได้ ถัดมาคือ ได้ร่วมลงทุนไปกับบริษัทที่อาจจะมีแนวโน้มเติบโตไปกับเทรนด์ในอนาคต เช่น บริษัทที่อยู่ในกลุ่มพลังงานสะอาด กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ล้วนเป็นกลุ่มที่อยู่ธีม ESG และสุดท้ายคือ ได้รับความสุขใจจากการมีส่วนร่วมที่ช่วยให้โลกของเราดีขึ้นอีกด้วย ดังนั้น ปัจจัย ESG จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี สำหรับนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้แนวคิด ความสำคัญ และแนวโน้มการเติบโตของการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เทรนด์การลงทุนระยะสั้น แต่กำลังเป็นการลงทุนกระแสหลักของโลก สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ESG วิถีใหม่ลงทุนอย่างยั่งยืน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: