ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมมาช้านาน โดยกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรไทยมีอาชีพเกษตรกรรม จึงอาจกล่าวได้ว่าสินค้าเกษตร (Agricultural) อยู่ในดีเอ็นเอของคนไทยมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณทวด เริ่มตั้งแต่ ข้าวโพด ข้าวหอมมะลิ ข้าวสาลี มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง น้ำตาล ยางพารา ไปจนถึงผลไม้สดแช่เย็นหรือแช่แข็ง ถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะยางพาราจัดว่าเป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับ 2 ของไทย เนื่องจากความต้องการใช้มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก โดยเฉพาะการขยายตัวของอุตสาหกรรมถุงมือยางและอุตสาหกรรมยางรถยนต์
ปัจจุบัน ประเทศไทยจัดเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 31% ของมูลค่าการส่งออกยางพาราทั่วโลก หรือคิดเป็นปริมาณการส่งออกยางพาราประมาณ 3.7 ล้านตันต่อปี โดยส่งออกในรูปของยางพาราแปรรูปเป็นหลัก ได้แก่ ยางแท่ง (TSR) มีสัดส่วนสูงสุด 47.7% ตามมาด้วยน้ำยางข้น มีสัดส่วน 33.1% ยางแผ่นรมควัน (RSS) มีสัดส่วน 14.1% และสัดส่วนที่เหลืออีก 5.2% เป็นยางคอมพาวด์และยางผสม
ในอดีตอุตสาหกรรมยางแผ่นรมควันของไทยมีมูลค่าส่งออกเป็นอันดับ 1 ของการส่งออกยางพาราแปรรูปทั้งหมดของไทย ก่อนที่มูลค่าส่งออกจะลดลงเฉลี่ย 10.7% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนตกลงมาอยู่อันดับ 3 เนื่องจากผู้ผลิตยางรถยนต์นิยมหันไปใช้ยางแท่งในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกหลักจะเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน ทั้งนี้ มาตรฐานยางแผ่นรมควันแบ่งเป็น 6 เกรด ได้แก่ ยางแผ่นรมควันชั้น 1X, 1, 2, 3, 4 และ 5 แต่เกรดที่ถูกใช้เป็นมาตรฐานและมีสัดส่วนการผลิตมากที่สุดในไทย คือ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 หรือที่เรียกว่า RSS3 ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 90% ของยางแผ่นรมควันทั้งหมด โดยมีคุณภาพเทียบเท่ายางแท่ง และถูกใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยางรถยนต์ สายพาน ท่อยาง ชิ้นส่วนยางสำหรับยานยนต์ และรองเท้ายาง เป็นต้น
ยางพาราถือเป็นสินค้าที่มีความท้าทาย เนื่องจากมีความผันผวนของราคาสูงจากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ สภาวะเศรษฐกิจโลก อุปสงค์และอุปทาน เป็นต้น โดยราคาผันผวนมากกว่า 10% ใน 1 เดือน อาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง และมีผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการ ดังนั้น การมีเครื่องมือสำหรับป้องกันความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในแง่ของการเก็งกำไร นักลงทุนก็สามารถอาศัยจังหวะทำกำไรจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) ได้เช่นเดียวกัน
TOCOM ตลาดซื้อขาย Rubber Futures ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ตลาดอนุพันธ์ที่ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกอย่างตลาด Chicago Mercantile Exchange (CME) มีสัญญา Futures ที่อ้างอิงกับหลากหลายสินค้าให้เลือกเทรด เช่น น้ำมัน ทองคำ ค่าเงิน เป็นต้น รวมไปถึงตลาดที่นิยมเทรดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (Agricultural Futures) อย่างตลาด Chicago Board of Trade (CBOT) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในตลาด CME Group โดยมีสินค้าที่ได้รับความนิยม เช่น Corn Futures (ข้าวโพด) และ Soybeans Futures (ถั่วเหลือง) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การซื้อขายยางพาราล่วงหน้า (Rubber Futures) ส่วนใหญ่จะนิยมซื้อขายกันในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก และตลาดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก คือ Tokyo Commodity Exchange (TOCOM) ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าแห่งแรกของโลก โดยเริ่มเปิดให้ทำการซื้อขาย RSS3 Futures ตั้งแต่ปี 1952 ซึ่งได้รับความนิยมในการซื้อขายหรือใช้อ้างอิงสำหรับการซื้อขายยางพาราในตลาดจริง แต่ปัจจุบันได้ย้ายมาอยู่ที่ตลาด Osaka Exchange (OSE) และมีปริมาณการซื้อขายยางพาราล่วงหน้าสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน
สำหรับนักลงทุนและผู้ประกอบการไทย คงคุ้นเคยกับราคา RSS3 Futures ในตลาด OSE อยู่แล้ว และมักใช้เป็นหนึ่งในมาตรฐานราคาซื้อขายยางพาราในไทย รวมไปถึงการใช้ RSS3 Futures ของตลาด OSE ในการบริหารความเสี่ยงหรือเก็งกำไรจากความผันผวนของราคายางพารา ดังนั้น TFEX จึงได้เปิดให้มีการซื้อขาย Japanese Rubber Futures (JRF) ที่อ้างอิงกับราคา RSS3 Futures ในตลาด OSE (TOCOM เดิม) ที่ญี่ปุ่น เพื่อตอบโจทย์ให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการไทย
โอกาสทำกำไรบนความผันผวนของราคายางพาราด้วย Japanese Rubber Futures
ในปัจจุบัน สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับยางพาราในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) หรือ TFEX มีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ RSS3 Futures, RSS3D Futures โดยทั้ง 2 สินค้า อ้างอิงกับราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ตามมาตรฐาน Green Book แต่แตกต่างกันที่ RSS3 Futures สามารถเลือกชำระราคาเป็นเงินสด (Cash Settlement) ขณะที่ RSS3D Futures จำเป็นต้องส่งมอบสินค้าจริงตามที่ TFEX กำหนดเท่านั้น และประเภทที่ 3 ได้แก่ Japanese Rubber Futures (JRF) ที่อ้างอิงกับราคาซื้อขายยางพาราล่วงหน้าที่ตลาดญี่ปุ่น (OSE) ซึ่งได้เริ่มเปิดให้ซื้อขาย ตั้งแต่ปลายปี 2020 เป็นต้นมา
สำหรับสินค้า JRF นั้นถือได้ว่าเข้ามาตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรและผู้ประกอบการยางพาราที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายาง โดยจุดเด่นของ JRF มีดังนี้
กล่าวโดยสรุป นักลงทุนและผู้ประกอบการยางพาราสามารถเก็งกำไรหรือป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางได้ด้วย RSS3 Futures หรือ RSS3D Futures ผ่านตลาด TFEX และยังสามารถส่งมอบยางจริงได้อีกด้วย ขณะที่ JRF ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการเก็งกำไร ซึ่งสามารถเทรดได้สะดวกผ่านตลาด TFEX เช่นกัน โดยไม่ต้องส่งมอบยางจริง
ศึกษาข้อมูลยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ซื้อขายในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเทศญี่ปุ่น เพิ่มเติมได้ที่ TFEX >> คลิกที่นี่ และ บล.บัวหลวง >> คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการลงทุนในอนุพันธ์ประเภทต่าง ๆ ทั้งฟิวเจอร์ส และออปชัน ตลอดจนกลไกการซื้อขายของตลาดอนุพันธ์ การวางหลักประกัน กลยุทธ์การลงทุน และข้อควรระวังของการลงทุนในอนุพันธ์ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนอนุพันธ์ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หรือเรียนรู้วิธีการซื้อขายอนุพันธ์ออนไลน์ พร้อมแนะนำฟังก์ชั่นการใช้งานและการส่งคำสั่งซื้อขายอนุพันธ์ผ่าน Settrade Streaming สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนอนุพันธ์ออนไลน์ง่ายแค่คลิก” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่