คลายข้อสงสัยราคา ETF ดูตรงไหน ขึ้นลงเพราะอะไร?

โดย SET
3 Min Read
9 เมษายน 2564
9.314k views
SET ETF คลายข้อสงสัย Banner-1200x628
In Focus

ETF เราดูราคาที่ตรงไหน? มีทั้งราคาตลาด (Trading Price), มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยประมาณระหว่างวัน (iNAV) บทความนี้จะมาช่วยคลายข้อสงสัยของความแตกต่างของทั้ง 3 สิ่งนี้ ชนิดที่ว่าอ่านจบ ผู้อ่านจะเข้าใจ และนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนได้

ตอนนี้นักลงทุนหลายคนอาจได้ยินคำว่ากองทุน ETF หรือ Exchange Traded Fund บ่อยมากขึ้น เนื่องจากกองทุน ETF นั้นเป็นหนึ่งในการลงทุนที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก  ทั้งนี้เพราะข้อดีของ ETF ก็คือสามารถซื้อขายได้เหมือนหุ้นตัวหนึ่ง ทำให้เราสามารถซื้อได้ในราคา Real-Time ไม่ต้องรอเวลาสิ้นวันทำการเหมือนกองทุนรวมทั่วไป อีกทั้งเราในฐานะผู้ลงทุนก็ไม่ต้องเลือกสินทรัพย์หรือหุ้นเอง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนเป็นคนจัดการ เรียกได้ว่า ETF นั้นได้รวมจุดเด่นของหุ้น และกองทุนรวม ไว้ในตัวก็ว่าได้

แต่สำหรับผู้เริ่มลงทุน ETF อาจจะเกิดข้อสงสัยว่าเวลาซื้อ-ขาย ETF เราต้องดูราคาที่ตรงไหน? นั่นเพราะ ETF มีทั้งราคาตลาด (Trading Price), มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยประมาณระหว่างวัน (iNAV) ซึ่งบทความนี้เราจะมาอธิบายความแตกต่างของทั้ง 3 สิ่งนี้ให้ฟังกันอย่างแตกฉาน ชนิดที่ว่าอ่านบทความนี้จบผู้อ่านจะเข้าใจราคา ETF, NAV และ iNAV จนนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเรามาเริ่มกันเลย

NAV คืออะไร?

NAV ย่อมาจาก Net Asset Value หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือ ทรัพย์สินสุทธิทั้งหมดที่กองทุน ETF นั้นมี ซึ่งมีสูตรคำนวณเหมือนกองทุนรวมทั่วไป ดังนี้

 

"(มูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาด + ผลตอบแทนสะสม และเงินสด) - ค่าใช้จ่าย และ
หนี้สินของกองทุนรวม = มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV)"

 

อย่างไรก็ตามโดยปกติแล้ว NAV ของ ETF จะแสดงเป็นมูลค่าต่อหน่วย หรือที่เรียกว่า “มูลค่าหน่วยลงทุน” (NAV per Unit) ซึ่งจะประกาศทุกสิ้นวันทำการเหมือนกองทุนรวมทั่ว ๆ ไป และมีสูตรการคำนวณ NAV per Unit ไม่แตกต่างกัน โดยมีสูตรการคำนวณดังนี้

 

“มูลค่าหน่วยลงทุน (NAV ต่อหน่วย) = มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) / จำนวนหน่วยลงทุน”

 

เรียกได้ว่า NAV ของกองทุน ETF ก็เหมือนกับ NAV ของกองทุนรวม ซึ่งจะมีการประกาศค่า NAV ในทุก ๆ สิ้นวันทำการ เอาไว้ใช้คำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนใน ETF นั่นเอง

iNAV (Indicative Net Asset Value)

เนื่องจาก บลจ. จะประกาศราคา NAV เมื่อเวลาสิ้นวัน ทำให้นักลงทุนไม่สามารถรับรู้ราคาที่เหมาะสมในการซื้อ ETF ณ เวลาแบบ Real-Time ได้ บลจ. จึงคำนวณค่า iNAV หรือตัวเลขที่บอกถึง มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยลงทุนโดยประมาณระหว่างวัน เพื่อเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนใช้ประมาณราคา NAV ระหว่างช่วงเวลาที่มีการซื้อขาย

พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นราคาที่ช่วยอัปเดต NAV ล่าสุดโดยประมาณให้เราดู ทำไมต้องโดยประมาณ? ก็เนื่องจากตัวเลขนี้ไม่ได้อัปเดต Real-Time แต่จะคอยอัปเดตให้ทุก ๆ 15 หรือ 30  วินาที ไม่เหมือน Trading Price ที่อัปเดต Real-Time ตามความต้องการตลาด หรือ NAV ที่จะอัปเดตเมื่อสิ้นวัน ซึ่ง Market Maker ก็จะพยายามทำให้ราคา Bid-Offer ใกล้เคียงกับ iNAV ที่สุด ดังนั้นก่อนเวลาจะซื้อขาย ETF นักลงทุนควรจะเลือกซื้อขาย ETF ที่ราคาใกล้เคียงกับ iNAV

ราคาตลาด (Trading Price)

ราคานี้มีไว้สำหรับใช้เป็นราคาซื้อขายหน่วยลงทุน ETF ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทำให้เราสามารถนำไปคำนวณเงินที่ต้องใช้ในการซื้อ หรือเงินที่ต้องได้รับจากการขาย ETF ตัวนั้น ๆ

 

อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือเป็นราคาที่อยู่ในช่อง Bid-Offer เหมือนตอนที่เราซื้อขายหุ้นรายตัว แน่นอนว่าราคานี้จะเคลื่อนไหว Real-Time ขึ้นลงตามอุปสงค์ และอุปทาน ที่มีอยู่ในตลาดเช่นเดียวกัน

SET ETF คลายข้อสงสัย Banner-1200x660

มาถึงตอนนี้หลายคนคงเกิดคำถามว่าแล้วถ้าจะลงทุนใน ETF ต้องใช้ราคาไหนที่จะเป็นราคาที่บอกได้ว่า เป็นราคา

ETF ที่เหมาะสมในการลงทุนกันแน่?

 

คำตอบก็คือ เราควรจะเลือกซื้อขาย ETF ตามราคาตลาด ที่มีราคาใกล้เคียงกับราคา iNAV โดยวิธีการใช้คือ เราสามารถนำราคา iNAV ณ ขณะนั้น มาเปรียบเทียบกับราคาซื้อขาย ETF ณ ตอนนั้นได้เลย เพื่อดูว่าราคา ETF ในตอนนั้นมีความเหมาะสมหรือเปล่า ถูกหรือแพงเกินไปหรือเปล่า เป็นต้น

 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น หากราคา ETF ในตอนนั้นมีราคาที่ต่ำกว่าราคา iNAV ก็แปลว่า หากเราซื้อ ETF ในตอนนั้น ก็หมายถึงเรากำลังซื้อ ETF ในราคาที่ถูกกว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยประมาณ หรือแปลความได้ว่าราคา ETF กำลังต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น

 

และกลับกัน หากราคา ETF ในตอนนั้นมีราคาที่สูงกว่าราคา iNAV ก็แปลว่า หากเราซื้อ ETF ในตอนนั้น ก็คือเรากำลังซื้อ ETF ในราคาที่แพงกว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยประมาณ นั่นเอง

 

แต่ทั้งนี้ นักลงทุนอาจจะมีคำถามว่า จะมีโอกาสไหมที่ราคา ETF จะห่างกับราคา iNAV อย่างมีนัยสำคัญ?

 

ก็ต้องขอตอบว่า อาจจะเป็นไปได้! ถึงแม้ว่าจะมีผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่จะคอยช่วยรักษาให้ราคาซื้อขาย ETF ที่อยู่ภายในช่วงส่วนต่างของราคา Bid-Offer (Bid-Offer spread) นั้นมีความใกล้เคียงกับราคา iNAV มากที่สุด แต่ในการซื้อขาย ETF บนกระดานหุ้นนั้น ก็ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของคนที่ต้องการซื้อขายในขณะนั้นด้วย ซึ่งตามกลไกของตลาดแล้ว เมื่อมีความต้องการสูง ราคาจะเริ่มแพงขึ้น และเมื่อราคาแพงมากความต้องการก็จะเริ่มลดลง และทำให้ราคากลับคืนสู่จุดที่ควรจะเป็น ก็คือ มีความใกล้เคียงกับราคา iNAV นั่นเอง

 

เป็นอย่างไรกันบ้าง หวังว่านักลงทุน ETF มือใหม่ทุกคนจะได้รู้ถึงความแตกต่างระหว่าง ราคาตลาด (Trading Price), มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยประมาณระหว่างวัน (iNAV) รวมถึงการประมาณราคาที่เหมาะสมของ ETF กันแล้ว จากนี้ทุกครั้งก่อนซื้อขาย ETF อย่าลืมดูข้อมูล iNAV ประกอบเพื่อดูว่าเรากำลังซื้อ ETF ในราคาที่เหมาะสมหรือไม่ ก่อนตัดสินใจลงทุนกันนะครับ :)

 

- ศึกษาข้อมูล ETF เพิ่มเติม   คลิก

- ข้อมูลราคา ETF   คลิก

- สนใจลงทุน ETF   คลิก

แท็กที่เกี่ยวข้อง: