เลือกหุ้นเข้าพอร์ตอย่างไรให้ถูกใจและถูกตัว

โดย นารินทิพย์ ท่องสายชล ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
7 เมษายน 2564
23.073k views
เลือกหุ้นเข้าพอร์ตอย่างไรให้ถูกใจและถูกตัว
Highlights
  • การเลือกหุ้นก็เหมือนการเลือกแฟน คือ ต้องดูประวัติให้เข้าใจ เขาเป็นใครมาจากไหน ความเสี่ยงเป็นอย่างไร เหมาะกับฐานะเราหรือไม่ และโอกาสมีอนาคตร่วมกันเป็นอย่างไร

  • การเลือกหุ้น นอกจากดูปัจจัยพื้นฐานแล้ว ต้องดูประเด็นหลัก (Theme) ที่ทำให้หุ้นตัวนั้นน่าสนใจด้วย เพราะถ้าพื้นฐานหุ้นดี และ Theme การลงทุนใช่ โอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีก็อยู่ไม่ไกล

ไม่ว่าสภาวะตลาดจะเป็นอย่างไร ล้วนมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ ถ้าเราเตรียมความพร้อม รู้ว่าเงินเรามีเท่าไหร่ รับความเสี่ยงได้ประมาณไหน และจัดสรรพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ เมื่อโอกาสมาถึง ก็จะลงมือเลือกหุ้น ทำการบ้านหาหุ้นเข้าพอร์ตได้ แต่เมื่อถึงจุดนี้ หลายคนมักจะมีคำถามว่า ถ้าจะเริ่มต้นเลือกหุ้นต้องทำอย่างไร วันนี้จะมาเผยเคล็ดลับหาหุ้นดีเข้าพอร์ต จะเลือกหุ้นอย่างไร มี Check List อะไรบ้าง ไปเริ่มกันเลย!!

 

เคล็ดลับหาหุ้นดีเข้าพอร์ต

 

เวลาเราเลือกใครสักคนเข้ามาอยู่ในชีวิต เราเลือกแล้ว เลือกอีก ดูความเหมาะสม ดูความเข้ากันได้ การเลือกหุ้นก็เช่นกัน เลือกหุ้นก็เหมือนเลือกแฟน จะมีเคล็ดลับอยู่ 4 เรื่อง ดังนี้

 

  1. สืบประวัติให้แน่ใจ (Check Background)

เราต้องทราบว่า คนหรือหุ้นที่เราจะเลือกมีคุณสมบัติหรือมีประวัติอย่างไร เช่น เขาเป็นใคร มาจากไหน ทำธุรกิจอะไร ลักษณะธุรกิจเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้ถือหุ้น มีธรรมาภิบาลไหม ธุรกิจที่ทำเป็นตลาดผูกขาดหรือไม่ การแข่งขันเป็นอย่างไร มีสินค้ามาทดแทนได้ไหม คู่แข่งจะเข้ามาง่ายหรือเปล่า และที่สำคัญอำนาจการต่อรองของผู้ซื้อเป็นอย่างไร ถ้าผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองสูง ราคาสินค้าหรือบริการก็ถูกลง กำไรก็น้อยลง รวมถึงอำนาจการต่อรองกับผู้ผลิตเป็นอย่างไร ถ้าผู้ผลิตมีอำนาจต่อรองสูงต้นทุนก็จะสูงขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังต้องดูทรัพย์สินของเขา (ดูงบการเงิน) อย่างละเอียดด้วย เช่น เขามีทรัพย์สินอะไรบ้าง มีทรัพย์สินเท่าไหร่ มีหนี้สินมากหรือน้อย การดำเนินงานมีผลประกอบการเป็นอย่างไร ยอดขายและกำไรดีไหม รายได้ของธุรกิจเติบโตขึ้นทุกปีหรือไม่ กระแสเงินสดเป็นอย่างไร โดยต้องดูข้อมูลเหล่านี้ย้อนหลัง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ควรดูตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ยิ่งดูย้อนหลังนานเท่าไหร่ ยิ่งดี

 

  1. ประเมินความเสี่ยง (Check Risk)

ต้องดูความเสี่ยงของคนที่เราจะคบว่ามีอะไรบ้าง ต้องระวังเรื่องใดเป็นพิเศษ เปรียบเหมือนหุ้นที่เลือก เราต้องเผชิญความเสี่ยงอะไรในตัวบริษัทนั้นบ้าง เช่น หากเป็นบริษัทส่งออก เรื่อง “ค่าเงินบาท” ย่อมมีผลกระทบต่อกำไรของบริษัท หรือปัจจัยอื่นๆ เช่น น้ำมัน การเมือง โรคระบาด จะส่งผลกระทบเชิงบวกหรือลบต่อบริษัทอย่างไร เราต้องศึกษาและติดตามความเสี่ยงหรือปัจจัยที่จะกระทบต่อบริษัทที่จะซื้อหุ้นด้วย

 

  1. เหมาะกับฐานะเรา (Check Financial Condition)

ควรเลือกหุ้นที่มั่นคงและมีโอกาสเติบโต รวมถึงต้องดูด้วยว่า ราคาหุ้นแพงไปแล้วหรือเปล่า โดยต้องหามูลค่าที่แท้จริง เพื่อซื้อในราคาที่เหมาะสม ไม่แพงเกินไป เช่น ดูค่า P/E ว่าถูกหรือแพง โดยประเมินจุดคุ้มทุน กล่าวคือ ถ้าหุ้น A ราคา 10 บาท มีกำไรต่อหุ้น 1 บาท ค่า P/E จะเท่ากับ 10 เท่า นั่นหมายความว่า หากกิจการมีกำไรต่อหุ้นคงที่ และจ่ายเป็นปันผลทั้งหมด เราต้องถือหุ้นตัวนั้น 10 ปี จึงจะคืนทุน ดังนั้น การดูค่า P/E ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเลือกซื้อหุ้นได้

 

นอกจากนี้ ก็อาจจะดูค่า P/BV หรือราคาตลาดของหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นของกิจการ หากค่า P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า หมายความว่านักลงทุนสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของบริษัท ดังนั้น นักลงทุนควรเลือกหุ้นที่มีค่า P/BV ต่ำกว่าค่า P/BV เฉลี่ยของอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้หุ้นที่มีราคาตลาดไม่สูงเกินมูลค่าทางบัญชีมากเกินไป

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไม่สามารถดูเพียงค่า P/E หรือ P/BV อย่างเดียวได้ ต้องพิจารณาอัตราส่วนทางการเงินและปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วยเสมอ

 

  1. มีอนาคตร่วมกัน (Check Future)

หุ้นที่เราจะเลือกมีโอกาสจะเติบโตหรือไม่ ถ้ามีโอกาส เราจึงยอมจ่ายเงินซื้อ มูลค่าหุ้นมาพร้อมกับโอกาสที่จะเกิดขึ้น ต้องใช้เวลาเรียนรู้ มองภาพในอนาคตของบริษัทให้ออก และพิจารณาศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของบริษัทด้วย

 

ซึ่งหากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นมองภาพในอนาคตของบริษัทอย่างไร สามารถเริ่มต้นได้จากงาน “บริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน” (Opportunity Day) โดยบริษัทต่างๆ จะมาชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและการดำเนินงานของบริษัท หลังการประกาศงบการเงินของบริษัทในทุกๆ ไตรมาส ซึ่งจะทำให้เห็นแนวโน้มและโอกาสในอนาคต เราจึงควรไปฟังข้อมูล และหยิบประเด็นเหล่านั้นมาวิเคราะห์ต่อว่าใช่หรือไม่

 

เมื่อเลือกหุ้นที่โดนใจได้ และเข้าใจหุ้นตัวนั้นแล้ว ก็วิเคราะห์ต่อว่า ประเด็นหลัก (Theme) ที่ทำให้หุ้นตัวนั้นน่าสนใจมีอะไรบ้าง เพราะการลงทุนในหุ้นที่มีประเด็นเด่นๆ หรือ มีเรื่องราวที่น่าสนใจในการเข้าซื้อ เปรียบเหมือนเรานั่งในรถยนต์คันหนึ่งจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ถ้าจะวิ่งถึงเป้าหมายได้ เครื่องยนต์ต้องดีและมีสมรรถนะที่มั่นคง ดังนั้น Theme การลงทุนที่ดี ก็คือเครื่องยนต์ที่ดีซึ่งจะช่วยให้เรานั่งรถคันนั้นด้วยความอุ่นใจว่า หุ้นตัวนั้นมีโอกาสที่จะพาเราไปถึงเป้าหมายได้นั่นเอง

 

ธีมการลงทุน (Investment Theme) ต้องดูอย่างไร

 

Theme การลงทุน คือ ปัจจัยที่สนับสนุนให้หุ้นตัวหนึ่งมีผลประกอบการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตลอดจนมีแผนธุรกิจ (Business Plan) ที่ค่อนข้างมั่นคง โดดเด่น มีความน่าสนใจ รวมถึงมีข้อได้เปรียบธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ใน Sector เดียวกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้หุ้นตัวนั้นดูน่าสนใจ และมีโอกาสทำกำไรในอนาคต โดย Theme การลงทุนจะมี 2 มุมด้วยกัน ได้แก่ Theme การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector) และ Theme การลงทุนในหุ้นรายตัว (Stock) ซึ่งหากเลือกหุ้นที่ดีและยังอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดีด้วย ก็จะเหมือนได้โอกาส 2 เด้ง

 

ตัวอย่าง Theme การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม

 

ตั้งแต่ต้นปี 2563 SET Index ปรับลดลงอย่างมาก แต่มีอยู่ Sector หนึ่งที่เป็นบวกสวนทางกับตลาดหุ้น คือ หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหลักๆ จะเป็นบริษัทผู้ผลิตแผงวงจรไฟฟ้า ชิปข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ในอุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น โดยประเด็นหลักที่ควรพิจารณาของ Sector นี้คือ

 

  1. ยอดขายรถยนต์ใหม่ที่จดทะเบียนในยุโรป ลดลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็วในเดือนมิถุนายน โดยกลับมาเกือบเท่าก่อนเกิดเหตุการณ์ COVID-19
  2. กลุ่มธุรกิจ Cloud Computing และ Network/Storage มีการเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการทำงานที่บ้าน (Work From Home) และมาตรการล็อคดาวน์
  3. Telecom 5G ยังเป็นกระแสที่ถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มนี้

 

จะเห็นได้ว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับมาแล้ว หุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้รับประโยชน์เต็มที่ ดังนั้น จึงควรศึกษา Theme การลงทุนให้ละเอียด และดูแนวโน้มในอนาคตว่ายังดีอยู่หรือไม่ ถ้าเข้าใจหุ้น เข้าใจ Theme เราก็จะถือหุ้นได้อย่างมั่นใจ

 

ตัวอย่าง Theme การลงทุนในหุ้นรายตัว

 

สมมติว่า หุ้น XYZ ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าซอสพริก น้ำจิ้มไก่ และน้ำจิ้มอื่นๆ โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักประมาณ 80% อยู่ในยุโรป และเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้หลายประเทศในยุโรปมีมาตรการล็อคดาวน์ ผู้บริโภคจึงเปลี่ยนพฤติกรรมมาทำอาหารทานเองที่บ้าน เพราะฉะนั้นความต้องการเครื่องปรุงและซอสต่างๆ จึงมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีคำสั่งซื้อที่ล็อคสัญญาไว้แล้วถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 และมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง ก็นับว่าเป็น Theme ที่ดีของหุ้นรายตัว

 

ดังนั้น ถ้าเรามั่นใจใน Theme ของหุ้น มั่นใจใน Theme ของ Sector ก็จะไม่พลาดซื้อหุ้น ไม่ลงทุนอย่างสะเปะสะปะ เมื่อเลือกหุ้นได้แล้ว ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า Theme คืออะไร และตีแตกให้ได้ ซึ่งหุ้นดีต้องมี Theme ด้วย

 

การเลือกหุ้นที่ดีได้นั้น ต้องใช้เวลา ต้องทำการบ้าน ดูปัจจัยพื้นฐานของหุ้น (Fundamental) ดูประวัติให้เข้าใจ ความเสี่ยงอยู่ตรงไหน แพงไปหรือเปล่า โอกาสเป็นอย่างไร รวมถึงต้องเอา Theme การลงทุนเข้าไปสนับสนุนด้วย ทั้งในมิติของ Theme กลุ่มอุตสาหกรรมและหุ้นรายตัว ถ้าหุ้นดี พื้นฐานแข็งแกร่ง และมี Theme การลงทุนที่ใช่ สนับสนุนกัน วันหนึ่งเราจะยิ้มได้กับผลตอบแทนที่ได้รับอย่างแน่นอน

 

สำหรับผู้ที่สนใจอยากซ้อมมือก่อนลงทุนจริง มีเครื่องมือที่เป็นตัวช่วย คือ โปรแกรม Streaming Click2Win ซึ่งเป็นโปรแกรมจำลองการลงทุนหุ้นแบบออนไลน์ผ่าน Streaming เพื่อให้ผู้สนใจลงทุนได้ รู้ เล่น และลองลงทุนแบบเหมือนจริง ด้วยข้อมูลจริง ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี!!! ที่

 

Application for iOS : >> ดาวน์โหลดที่นี่

Application for Android : >> ดาวน์โหลดที่นี่


บทความนี้เรียบเรียงเนื้อหาจากหลักสูตร ห้องเรียนนักลงทุน ตอน “จับกระแสลงทุน เลือกหุ้นดีเข้าพอร์ต” ผู้ที่สนใจสามารถรับชมเนื้อหาแบบเต็มๆ ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใดนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: