ปี 2565 เป็นปีที่ปัจจัยการลงทุนเชิงลบมีมากมายเป็นพิเศษ โดยเริ่มต้นปีด้วยปัจจัยลบที่ต่อเนื่องจากปี 2564 คือ โรคระบาดโควิด-19 การปิดเมืองที่ยังคงเกิดขึ้นในหลายประเทศ และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูง ซึ่งเป็นต้นทุนแฝงของสินค้าและบริการเกือบทุกชนิด นำไปสู่การพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อไปทั่วโลก
นับจากต้นปี ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติเงินเฟ้อที่รุนแรง ตัวเลขเงินเฟ้อของเกือบทุกประเทศทั่วโลกพุ่งสูงสุดในรอบหลายสิบปี ต้นทุนการผลิต หรือ ราคาวัตถุดิบ มีราคาเพิ่มสูงขึ้น มีที่มาหลัก ๆ จากราคาน้ำมัน ราคาก๊าซ ราคาอาหาร ราคาปุ๋ย ฯลฯ ที่ถูกกดดันมาจากต้นทุนเพิ่ม (Cost - Push Inflation) นำไปสู่ราคาสินค้าสูงขึ้น ตามราคาต้นทุนที่สูงขึ้นนั่นเอง
สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทย
สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยล่าสุด ประจำเดือน มิถุนายน 2565 โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงข้อมูลการปรับตัวสูงขึ้นของเงินเฟ้อถึง 7.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (มิ.ย. 64) โดยมีปัจจัยที่ดันให้ "อัตราเงินเฟ้อ" สูงขึ้น ตัวหลัก คือ ราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาค่าไฟฟ้า และราคาก๊าซหุงต้ม นับว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 13 ปี ของประเทศไทย ดังรูปอัตราเงินเฟ้อไทย 5 ปีล่าสุดเป็นการเร่งตัวในช่วงปลายปี 2564 ถึงปี 2565 อย่างชัดเจน
แน่นอนว่า การปล่อยให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยที่ภาครัฐไม่ทำอะไรเลย จะทำให้ประชาชนกลุ่มฐานรากลำบากมาก และอาจเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายในทุกประเทศ เพื่อทำสงครามกับภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งประเทศไทย ที่ประเมินว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในครึ่งหลังของปี 2565 นี้ ทำให้นับจากนี้ไปเราจะอยู่ในช่วงสถานการณ์ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” อย่างเต็มตัว ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างแน่นอน
เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะเป็นผลลบต่อตลาดหุ้น เนื่องจากการวัดมูลค่าหุ้น (Valuation) ด้วยวิธี DCF Discounted Cashflow จะต้องใช้อัตราคิดลด (Discounted Rate) ที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อมูลค่ากลุ่มหุ้นเติบโต ที่คาดหวังการเติบโตของกำไรในระยะยาว เมื่อถูกคิดลดมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน จะมีมูลค่าลดลง ดังที่เราเห็นได้จากผลตอบแทนอันน่าผิดหวังนับจากต้นปี ของกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีระดับโลกใน NASDAQ (YTD -25.3%) และกองทุนอีทีเอฟหุ้นเทคโนโลยี ARK Innovation ETF (ARKK YTD -52.3%) ที่ราคาปรับตัวอย่างหนักนับจากต้นปี
ธุรกิจหรือหุ้นกลุ่มไหนบ้างที่ไปต่อได้ และน่าทยอยเข้าสะสมช่วงเงินเฟ้อ
ก่อนอื่นผมอยากจะสื่อสารถึงนักลงทุนกลุ่มใหญ่ ที่เพิ่งเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นที่ดีหลังจากตลาดหุ้นไทยร่วงลงอย่างหนักจากพิษโควิด รวมทั้งเหตุผลที่เกิดจากการ work from home การออกจากงานชั่วคราว การมีเวลาว่างมากขึ้น มีเงินสดในกระเป๋าเยอะ จึงต้องการนำเงินมาวางไว้ในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น เพื่อให้ได้กระแสเงินสดไม่ว่าจะจากการซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้น หรือรับเงินปันผลจากการซื้อหุ้นไทยพื้นฐานดีที่ราคาต่ำ ซึ่งที่ผ่านมา 2 ปีอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ดีในการลงทุน ลงทุนง่ายและได้ผลเร็ว
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นต้นมา ตลาดหุ้นทั่วโลกอาจจะไม่ใช่ที่ที่จะสร้างกระแสเงินสดได้ง่าย ๆ เพราะตลาดหุ้นกำลังอยู่ในช่วงภาวะขาลง แต่ถามว่าการซื้อหุ้นลงทุนในช่วงปีนี้ ถ้าไม่ได้หวังผลระยะสั้น ๆ แต่เน้นมองระยะยาว 3 ปีขึ้นไป โอกาสในการได้กำไรจากการลงทุนมีสูงมาก ดังนั้น นับจากภาวะการขึ้นดอกเบี้ยนี้ นักลงทุนควรจะต้องมีมุมมองการลงทุนในระยะยาว กลยุทธ์การลงทุนก็ควรมีกรอบเวลาในการลงทุนที่ยาวเพียงพอที่จะข้ามรอบเศรษฐกิจในยุคเงินเฟ้อ (Inflation Risk) และอาจจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession Risk) ในช่วงนี้ไปให้ได้
ในภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่อง ตัวอย่างกลุ่มหุ้นที่จะได้รับประโยชน์โดยตรง คือ กลุ่มส่งออกอาหารต้นน้ำ กลุ่มธนาคาร และกลุ่มประกัน เป็นต้น
เทคนิคในการสแกนหาหุ้นดีราคาถูก
เทคนิคการสแกนหาหุ้น ยังคงเป็นหลักการลงทุนเน้นคุณค่าเหมือนเดิม จำไว้ว่าการลงทุน คือ เรากำลังจะใช้เงินสดจริง ไปแลกกับหุ้น ดังนั้นก่อนจะแลกกับหุ้นตัวไหน ก็ต้องมั่นใจว่าได้วิเคราะห์ข้อมูล จนมั่นใจได้ว่านี่คือ Good Stock at Good Price กล่าวคือ เป็นหุ้นพื้นฐานดี ที่ราคายอดเยี่ยมด้วย (ราคาหุ้นยังต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง)
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่