ลงทุนหุ้น หนทางสู่ความมั่งคั่งอย่างมั่นคง

โดย นารินทิพย์ ท่องสายชล ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
1 เมษายน 2564
9.286k views
ลงทุนหุ้น หนทางสู่ความมั่งคั่งอย่างมั่นคง
Highlights
  • ในยุคที่ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ การลงทุนในหุ้นเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากแล้ว อาจช่วยให้ไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น

  • การลงทุนในหุ้นควรลงทุนระยะยาว แบ่งน้ำหนักการลงทุนให้เหมาะสม จะช่วยลดความผันผวน ลดโอกาสขาดทุน และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

ปัจจุบันการลงทุนในหุ้น เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เพราะผลตอบแทนที่เกิดจากสินทรัพย์อื่นๆ เช่น เงินฝาก สลากออมสิน หรือพันธบัตรรัฐบาล อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน และแม้ว่าตลาดหุ้นจะเป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ แต่หลายคนอาจยังมีคำถามว่า จะทำอย่างไรให้เงินได้ทำงานแทนเราและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

โดยหากจะเริ่มการลงทุนในตลาดหุ้น จะมองเรื่องของผลตอบแทนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองเรื่องความเสี่ยงด้วย โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ควรรู้จักตัวเองก่อน เช็คความรู้สึกตัวเองก่อนลงทุน โดยการทำแบบประเมินความเสี่ยง ซึ่งหลังทำแบบประเมินแล้ว จะทราบว่าตัวเองสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในระดับใด รวมถึงยังแนะนำพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงนั้นอีกด้วย (ทดลองทำแบบประเมินความเสี่ยง >> คลิกที่นี่)


นอกจากนี้ ควรมองการลงทุนในหุ้นเป็นการลงทุนระยะยาว เพราะจะช่วยลดความผันผวนจากการลงทุนได้ เมื่อความผันผวนน้อยลง โอกาสขาดทุนก็น้อยลงตามไปด้วย ดังนั้น ยิ่งลงทุนระยะยาวขึ้น โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีก็มีมากขึ้น

ผลตอแทนรายปีของตลาดหุ้นไทย ปี 2518 - 2563

จากสถิติย้อนหลังของตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลากว่า 45 ปี ผลตอบแทนรายปีของตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ปี 2518 – 2563 มีปีที่ผลตอบแทนเป็นบวกมากกว่าปีที่ผลตอบแทนติดลบ โดยผลตอบแทนเป็นบวกอยู่ 28 ปี และติดลบอยู่ 18 ปี และหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นไทยไม่เคยมีปีใดที่ติดลบติดต่อกัน 2 ปี ดังนั้น นักลงทุนควรลงทุนระยะยาวในหุ้น เพราะจะเจอปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีมากกว่าปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนไม่ดี รวมถึงยังช่วยลดความผันผวนจากการลงทุนได้อีกด้วย

 

เลือกหุ้นแบบไหน...ให้เหมาะกับตัวเอง

 

ถ้าอยากเริ่มต้นดีและประสบความสำเร็จ ก็ต้องมีแผนการลงทุนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ สำหรับมือใหม่ที่อยากลงทุนในหุ้น อาจลองเริ่มต้นด้วย 3 แผนการลงทุน ดังนี้

 

  1. ลงทุนระยะยาว (10 - 15 ปี)

การลงทุนระยะยาวก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอน เพราะฉะนั้นต้องเลือกหุ้นที่มีกิจการขนาดใหญ่ มีผลการดำเนินงานดี ฐานะการเงินมั่นคง โดยเฉพาะเมื่อพ้นวิกฤติแล้ว เม็ดเงินลงทุนมักจะกลับมาในหุ้นใหญ่ๆ เหล่านี้ เช่น หุ้นกลุ่ม SET50 ในกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector) ใหญ่ๆ เช่น พลังงาน ธนาคาร สื่อสาร ค้าปลีก และขนส่ง เป็นต้น

 

หุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับลงทุนระยะยาว คือ หุ้นเติบโต โดยต้องมีผลการดำเนินงานโดดเด่น มีแนวโน้มเติบโตที่ดี เช่น หากเป็นธุรกิจค้าปลีก ควรดูเรื่องการขยายสาขาใหม่ เป็นกิจการโรงไฟฟ้า ควรดูการขยายเมกะวัตต์ หรือเป็นกิจการรถไฟฟ้าหรือขนส่ง ควรดูการขยายสถานี เป็นต้น ทั้งหุ้นกิจการขนาดใหญ่และหุ้นเติบโต เป็นหุ้นที่เหมาะจะลงทุนแบบระยะยาว โดยหากคาดการณ์ว่า สภาวะการลงทุนยังอยู่ในความไม่แน่นอน ก็ควรทยอยลงทุน ค่อยๆ แบ่งซื้อทีละไม้ อย่าซื้อทั้งหมดในครั้งเดียว เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงได้

 

  1. ลงทุนเพื่อทำกำไรระยะสั้น

อาจเน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะมีโอกาสในการเติบโตสูง สามารถปรับตัวในภาวะวิกฤติได้เร็วและง่ายกว่าบริษัทขนาดใหญ่ แต่อาจจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์จับจังหวะ (Market Timing) ร่วมด้วย เพื่อดูปัจจัยระยะสั้น และหาจังหวะขายทำกำไรเป็นระยะหากคาดการณ์ว่าบริษัทอาจต้านทานวิกฤติไม่ไหว แต่ราคาหวือหวาตามผลประกอบการรายไตรมาสซึ่งสามารถเติบโตเป็น 50 – 100% เลยก็ได้ เนื่องจากมีฐานกำไรที่ต่ำกว่าหุ้นขนาดใหญ่ จึงมีโอกาสที่กำไรจะเติบโต และสร้างผลตอบแทนในระดับที่น่าสนใจ แต่ก็ตามมาด้วยความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน

 

  1. ลงทุนเพื่อรับเงินปันผล

ควรลงทุนในหุ้นที่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 30 – 50% โดยมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ และให้ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) มากกว่า 5% ต่อปี รวมถึงเป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตดี สามารถจ่ายเงินปันผลได้จากกำไรที่เติบโตหรือจากผลการดำเนินงานที่ดี ไม่ได้จ่ายปันผลจากกำไรพิเศษ หรือกำไรอื่นๆ ทั้งนี้ต้องดูแนวโน้มหรือทิศทางของบริษัทด้วยว่า ยังมีศักยภาพในการจ่ายปันผลได้ต่อเนื่องหรือไม่ โดยหุ้นปันผลที่น่าสนใจ เช่น หุ้นในกลุ่มดัชนี SET High Dividend 30 Index เป็นต้น

 

กลยุทธ์ลงทุนในหุ้น...มีวิธีใดบ้าง

 

วิธีที่ 1 คือ Market Timing หรือบางครั้งอาจเรียกว่า Lump sum กล่าวคือ เป็นการลงทุนแบบเงินก้อน โดยต้องสามารถคาดการณ์ทิศทางตลาดได้ ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยเทคนิคเป็น รวมถึงวิเคราะห์เศรษฐกิจประกอบกัน แล้วจึงตัดสินใจลงทุน เพื่อให้สามารถซื้อขายหุ้น ณ ราคาที่เหมาะสมได้

 

วิธีที่ 2 คือ Dollar Cost Averaging: DCA เป็นการทยอยลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน โดยซื้อหุ้นด้วยจำนวนเงินที่เท่าๆ กันทุกเดือน จะทำให้ได้ราคาต้นทุนของหุ้นแบบถัวเฉลี่ย จึงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้กำไรสูงสุด แต่ก็ไม่มีทางขาดทุนแบบกู่ไม่กลับ เหมาะสำหรับมือใหม่ หรือผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลาติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุน

 

ทั้งนี้ไม่มีวิธีไหนเป็นวิธีที่ดีที่สุด นักลงทุนต้องเลือกให้เหมาะกับตัวเอง เพราะว่าแต่ละวิธีก็มีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังในการลงทุนเช่นกัน

 

ในสภาวะวิกฤติ ย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ การลงทุนก็เช่นกัน แม้มีความเสี่ยงแต่ก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ หุ้นก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่ต้องเข้าใจระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตัวเองก่อน จากนั้นจึงสร้างแผนการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง ที่สำคัญยิ่งลงทุนในระยะยาวมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน ขณะเดียวกันก็ลดโอกาสการขาดทุน โดยจะลงทุนด้วยกลยุทธ์แบบ Lump sum เป็นเงินก้อน หรือทยอยลงทุนแบบ DCA ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและเงื่อนไขการลงทุนของแต่ละคน

 

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเริ่มลงทุนในหุ้นแล้ว สามารถเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งง่าย สะดวก รวดเร็วด้วยปลายนิ้ว >> คลิกที่นี่

 

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีเครื่องมือที่เป็นเหมือนตัวช่วยให้นักลงทุนได้ฝึกซ้อมมือก่อนลงทุนจริง คือ โปรแกรม Streaming Click2Win ซึ่งเป็นโปรแกรมจำลองการลงทุนหุ้นแบบออนไลน์ผ่าน Streaming เพื่อให้ผู้สนใจลงทุนได้ รู้ เล่น และลองลงทุนแบบเหมือนจริง ด้วยข้อมูลจริง ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี!!! ที่

 

Application for iOS : >> ดาวน์โหลดที่นี่

Application for Android : >> ดาวน์โหลดที่นี่

 

บทความนี้เรียบเรียงเนื้อหาจากหลักสูตร ห้องเรียนนักลงทุน ตอน “จับกระแสลงทุน เลือกหุ้นดีเข้าพอร์ต” ผู้ที่สนใจสามารถรับชมเนื้อหาแบบเต็มๆ ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: