ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา ถือเป็นช่วงปราบเซียน เป็นช่วงที่หลายคนเสียหายกันมาก แตกต่างจากเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว จิ้มตัวไหนก็ขึ้น เป็นช่วงที่ใคร ๆ ก็เป็นเซียน แต่ช่วงนี้ตลาดหุ้นผันผวนขึ้นลงค่อนข้างมาก ถ้าเลือกไม่ดี อาจมีความเสียหายเกิดขึ้น หรือถ้าเข้าผิดจังหวะ ก็จะส่งผลต่อจิตใจได้
ในช่วงที่ตลาดผันผวนเช่นนี้ อาจทำให้เราตัดสินใจได้ไม่ดีนัก แต่ถ้ารักจะลงทุนในช่วงนี้ ต้องมี 4 เรื่อง โดย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้แนะนำคนไทย ผ่านรายการ Suthichai live (ณ วันที่ 19 ก.ค. 65) ว่าหากจะลงทุนในช่วงนี้ นักลงทุนควรมี 4 เรื่อง ดังนี้
1. เข้าใจวิกฤติ
ต้องเข้าใจในตัววิกฤติว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และวิกฤตินั้นมีช่วงต่าง ๆ อย่างไร เพราะความเข้าใจทำให้เราไม่ตื่นเต้น เช่น ถ้าตลาดลงเยอะ ๆ ก็อยากจะออก หรือพอตลาดลากขึ้นไปก็อยากจะเข้า กลัวตกรถ “ถ้าเกิดเราไม่เข้าใจว่าวิกฤติคืออะไร บางทีเราจะไปกับตลาด ไปกับความรู้สึกอารมณ์ร่วมในช่วงนั้น ๆ เราจึงต้องเข้าใจในตัววิกฤติก่อน” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
โดยที่มาของวิกฤติในครั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์ มองว่ามาจาก 3 ปัจจัยที่กำลังเขย่าสินทรัพย์โลก ได้แก่
โดยทั้ง 3 ปัจจัยที่กล่าวมานี้ เมื่อมีข่าวอะไรออกมา จะกระทบต่อราคาน้ำมัน ราคาทองคำ ค่าเงิน รวมไปถึงการขึ้นลงของดอกเบี้ยสหรัฐฯ และหลังจากที่เราเข้าใจที่มาของวิกฤติแล้ว สิ่งสำคัญคือ ต้องแบ่งช่วงของวิกฤติให้ชัดเจน โดยดร.กอบศักดิ์ ได้แบ่งช่วงของวิกฤติตามสไตล์คุณหมอที่รักษาคนไข้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ดังนี้
หากเปรียบช่วงวิกฤติกับการรักษาคนไข้ “เศรษฐกิจรอบนี้ก็เหมือนกัน ช่วง ER ของเราก็คือช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว และมองว่าสถานการณ์ในช่วง ER นั้นยังไม่สุด เพราะหากดูจากตัวเลขต่าง ๆ แล้ว คาดว่าตลาดจะลงได้อีกเล็กน้อย
ถัดมาเป็นช่วงที่ 2 ห้อง ICU หลังจากที่ตลาดลงมาเยอะแล้ว แต่เฟดยังไม่หยุด เพราะยังต้องต่อสู้กับเงินเฟ้อ “ที่สำคัญเฟดเพิ่งเริ่มต้น เพราะเพิ่งขึ้นดอกเบี้ยได้เพียง 3 ครั้ง และดอกเบี้ยเพิ่งอยู่ที่ระดับ 1.5% ยังไม่สูงเพียงพอที่จะจัดการกับเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นในอีก 1 ปีข้างหน้า จะเห็นเฟดโหมโรงขึ้นดอกเบี้ย โดยอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 3 - 4% เพื่อเอาเงินเฟ้อให้ลงมา นี่คือเหตุการณ์ที่อยู่ในห้อง ICU หลังจากการหนีตายจบลงแล้ว แต่เฟดยังไม่หยุด เหมือนกับคุณหมอที่ผ่าตัดไปเรื่อย ๆ เพื่อเอาเงินเฟ้อออก” ดร.กอบศักดิ์ ฉายภาพให้เห็น
ในช่วงที่ 3 เมื่อคุณหมอคิดว่าคว้านเอาเนื้อร้ายหรือลิ่มเลือดออกหมดแล้ว ก็จะย้ายคนไข้ไปพักที่ห้องผู้ป่วยธรรมดา ถึงตอนนั้นคนไข้คงนอนพะงาบแล้ว และสิ่งที่หลายคนพูดคือ จะเกิด Recession หรือเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งการเกิด Recession ในครั้งนี้ คาดว่าจะเป็น Global Recession ไม่ได้เกิดขึ้นแค่หนึ่งหรือสองประเทศเหมือนที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันทั่วโลก ไม่มีที่ไป ทำให้เกิดผลกระทบกับภาคส่งออก ภาคการผลิตทั่วโลกพร้อม ๆ กัน ซึ่งผลในช่วงที่ 3 จะเกิดหลังจากเฟดและธนาคารกลางอื่น ๆ ขึ้นดอกเบี้ยไปเยอะแล้ว เศรษฐกิจจะเริ่มซึม และการซึมของเศรษฐกิจมีความจำเป็นในการต้องเอาเงินเฟ้อลงมาให้ได้
และหลังจากนั้นเมื่อหมอคิดว่าทุกอย่างจบแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงที่ 4 คือ ให้คนไข้กลับบ้านได้ แต่การกลับบ้านคนไข้ก็ต้องทำกายภาพ หมอก็จะให้ยากระตุ้น เช่น ลดดอกเบี้ย กระตุ้นสภาพคล่อง เป็นต้น ทั้งหมดผมอยากจะบอกว่า “เราต้องมองให้ทะลุว่า 2 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งขณะนี้ผมคิดว่า เราเห็นภาพทั้งหมดแล้ว และต้องคิดต่อว่าเราจะลงทุนอย่างไร ซึ่งตอนนี้เราน่าจะอยู่ปลาย ER ต้นของ ICU” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
2. มองเห็นโอกาสในวิกฤติ
ในวิกฤติมีโอกาสเสมอ ท่ามกลางเรื่องที่แย่ ก็ยังมีสิ่งที่พอจะทำได้ เช่น ช่วงโควิด-19 ทุกอย่างย่ำแย่ เสียหายใหญ่โต แต่ก็ยังมีหลายอุตสาหกรรมที่ไปได้ เช่น ถุงมือยาง หน้ากาก อิเล็กทรอนิกส์ เดลิเวอรี่ และวัคซีน เป็นต้น
“ท่ามกลางความปั่นป่วนผันผวน เราต้องมองให้ลึกว่ามีอะไรที่ไปได้ เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้า มอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า พลังงานทดแทน (เพราะน้ำมันแพง) โลจิสติกส์ (เพราะต้นทุนภาคขนส่งแพงขึ้น) รวมถึงอุตสาหกรรมด้านอาหาร เกษตร ปุ๋ย ท่องเที่ยว และระบบ Payment ใหม่ ๆ เป็นต้น อันนี้เป็นโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ รวมไปถึงหุ้นที่ตกลงมา ทั้งหุ้นไทยและหุ้นนอกก็มีหลายตัวที่น่าสนใจ มีหลายตัวที่คิดว่าอนาคตเขาต้องมา แต่ ณ ขณะนี้ ราคาลงมาพอสมควรแล้ว” ดร.กอบศักดิ์ แนะนำ
3. มองหาจุดเปลี่ยนให้ได้ (Turning Point)
โดยเริ่มจากดูจุดเปลี่ยนในภาพรวมก่อน ต้องมองหาว่าจุดเปลี่ยนของวิกฤติคืออะไร เช่น วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 เงินบาทอ่อนค่าลงไปถึง 56 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ ในเดือนมกราคม ปี 2541 มีข่าวว่า “ประเทศไทยจากที่เคยขาดดุลบัญชีเงินสะพัด ได้เกินดุลแล้ว เพราะค่าเงินเกี่ยวข้องกับเงินสำรองระหว่างประเทศ เงินสำรองระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับเงินไหลออกเท่าไหร่ ต้องจ่ายค่าสินค้า จ่ายค่าต่าง ๆ เท่าไหร่ แต่พอมีข่าววิกฤติ จากที่เคยขาดดุลต่อเนื่อง ตัวเลขนำเข้าก็ลดลง ค่าเงินที่อ่อนก็ทำให้ส่งออกดีขึ้น และก็กลับมาสมดุล ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดจึงกลับมาเป็นบวก นี่คือจุดเปลี่ยนของวิกฤติ เพราะพอถึงจุดนั้นคนก็ฟันธงว่า เงินบาทคงไม่อ่อนค่ามากไปกว่านี้แล้ว” ดร.กอบศักดิ์ เล่า
เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญคือต้องมองหาจุดเปลี่ยน ต้องมานั่งดูว่าในวิกฤติครั้งนี้อะไรคือจุดเปลี่ยน หลายคนชอบถามว่าเงินเฟ้อจะพีคหรือยัง “ผมคิดว่าเงินเฟ้อโลกในช่วงครึ่งหลังของปีจะเริ่มดีขึ้น เพราะปัญหาหลักของเงินเฟ้อมาจากเรื่องของน้ำมันและอาหาร นี่คือ 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งทะยาน และเงินเฟ้อกำลังจะเข้าสู่จุดพีคในช่วงถัดไป” ดร.กอบศักดิ์ เน้นย้ำ
ที่พูดเช่นนี้ เนื่องจากตัวเลขราคาน้ำมันเริ่มลงมาแล้ว แรงกดดันจากราคาน้ำมันต่อเงินเฟ้อโลกจะเริ่มหมดไปในช่วงครึ่งหลังของปี โดยสาเหตุที่ราคาน้ำมันขึ้นเพราะยุโรปคว่ำบาตรรัสเซีย ท่อน้ำมันจึงถูกปิดลงอย่างกะทันหัน แต่ตอนนี้ท่อน้ำมันกลับมาเปิดอีกครั้ง และไหลไปในเส้นทางใหม่ เช่น จีน อินเดีย และตะวันออกกลาง รัสเซียเริ่มกลับมาขายน้ำมันได้ น้ำมันทยอยกลับเข้าสู่ตลาดโลกอย่างอ้อม ๆ ขณะที่ตะวันออกกลางก็ส่งน้ำมันไปให้ยุโรป ปัญหาน้ำมันเริ่มมีทางออก สาเหตุที่ 2 ถ้าโลกเข้าสู่ Global Recession กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง ความต้องการใช้น้ำมันก็จะลดลง และราคาน้ำมันก็จะลดลงไปด้วย จึงมองว่าเงินเฟ้ออาจขึ้นไปอีกระยะหนึ่ง และในช่วงครึ่งหลังของปีจะวกกลับมา นี่คือจุดเปลี่ยนที่คนมองว่า เงินเฟ้อจะพีคเมื่อไหร่
จุดเปลี่ยนที่ 2 คือ ที่แย่ ๆ มันผ่านไปหมดแล้วหรือยัง มีปัญหาอะไรที่ซุกซ่อนอยู่หรือเปล่าที่ยังไม่บอกออกมา เช่น เฟดจะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์อีกไหม บอกมาหมดหรือยัง โดยระหว่างที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย สิ่งที่ต้องจับตาคืออสังหาริมทรัพย์ในอเมริกา เนื่องจากราคาขึ้นไปเยอะแล้ว แต่โดยรวมคาดว่าราคาบ้านอาจจะลง และไม่น่าจะลุกลามเป็นวิกฤติใหญ่โตเหมือนวิกฤติซับไพรม์ นอกจากนี้ เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ก็จะเริ่มแย่ เช่น ศรีลังกา สปป.ลาว เมียนมาร์ ปากีสถาน ซิมบับเว และกานา เป็นต้น
“วิกฤติครั้งนี้ ช่วงแรกในอเมริกา ผมคิดว่าเขาน่าจะจัดการของเขาได้ถึงระดับหนึ่ง และสินทรัพย์ในอเมริกาก็อาจจะกลับมาได้ ขณะเดียวกันในปีข้างหน้า เมื่อดอกเบี้ยขึ้นไปพอสมควร ก็จะนำมาสู่แรงกดดันต่อ Emerging Market จึงต้องดูจุดเปลี่ยนในลักษณะว่า อเมริกาจะ Turn เมื่อไหร่ และหลังจากนั้น Emerging Market จะมีข่าวออกมามากน้อยแค่ไหน เพราะถ้า Emerging Market เกิดข่าวขึ้นเรื่อย ๆ ผมว่าหุ้นไทยก็ไม่ง่าย เพราะจะมีปัญหาเรื่องเงินที่อาจจะต้องถูกดึงกลับ” ดร.กอบศักดิ์ ให้ความเห็น
4. มีความอดทน
ต้องอดทนที่จะไม่เข้าในบางครั้ง ช่วงนี้ต้องรักเงินต้นให้เยอะ เวลาที่เกิดตลาดหมีพอตลาดลงเสร็จปุ๊บ เมื่อตลาดหมีจบลง ภายใน 6 เดือนให้หลังจะกลับมาขึ้น และภายใน 1 ปีให้หลังจะขึ้นไปเกือบเท่าเดิม ช่วงขาขึ้นจะหอมหวานเป็นพิเศษ แต่วันที่ตลาดเริ่มลงและจุดเปลี่ยนผ่านไปแล้ว เรามีเงินหรือเปล่า
ดร.กอบศักดิ์ มองว่า ครั้งนี้โอกาสจะดีเป็นพิเศษ เพราะวิกฤติใหญ่ ๆ ไม่ได้มาง่าย ๆ Global Recession เกิดขึ้นแค่ 5 ครั้งในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา วิกฤติใหญ่ ๆ จะเปิดโอกาสดี ๆ จึงอยากให้ลงทุนด้วยมุมมองที่ว่า “อดทนต่อการลงทุนเล็กน้อย รักเงินต้นให้มาก และถ้าเกิดจะเข้าไปลงทุนต้องลงแล้วลงเลย อย่าเข้า ๆ ออก ๆ จะเกิดความเสียหายได้ ตัดสินใจให้ดีว่าตัวที่เลือกมานั้นมีอนาคตอย่างแท้จริง ที่สำคัญลงทุนต้องคิดว่า เราไม่สามารถซื้อที่จุดต่ำสุดได้ เพราะมีความผันผวนมีขึ้นลง แต่ให้คิดว่าเราซื้อในราคาที่เหมาะสมแล้วหรือยัง”
นี่คือ 4 เรื่องที่นักลงทุนควรมีหากจะลงทุนในช่วงวิกฤติ และแม้ว่าสถานการณ์กำลังปรับตัวดีขึ้น แต่โจทย์ของวันนี้ก็ไม่ง่าย ขอให้ลงทุนด้วยความระมัดระวัง มีสติ รอบคอบ และที่สำคัญมีความอดทน แล้วทุกอย่างจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่