เส้นค่าเฉลี่ย ตัวช่วยพอร์ตหุ้นสายเทคนิคอล

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
29 มีนาคม 2564
15.439k views
เส้นค่าเฉลี่ย ตัวช่วยพอร์ตหุ้นสายเทคนิคอล_Thumbnail
Highlights
  • เส้นค่าเฉลี่ย (Moving Average) เป็นเครื่องมือทางเทคนิคที่เข้าใจง่ายและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ หรือเริ่มต้นศึกษาด้วยตัวเองได้ไม่ยาก

  • การใช้งานเส้นค่าเฉลี่ยขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในการลงทุนและติดตามหุ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะลงทุนระยะสั้นหรือยาวแค่ไหน

  • ความสำเร็จไม่จำเป็นต้องลงทุนทุกวัน แต่ขอให้รู้จังหวะที่ควรลงทุนและต้องมีวินัย รวมถึงรู้จักใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยประกอบการตัดสินใจให้เหมาะกับสถานการณ์และสไตล์การลงทุน

ด้วยโลกของเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดน ทำให้การตัดสินใจซื้อหุ้นเข้ามาในพอร์ตลงทุนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและรวดเร็วด้วย โดยเฉพาะนักลงทุนสไตล์เข้าเร็ว-ออกเร็ว (เทรดดิ้ง) ซึ่งนอกจากต้องรู้ว่าจังหวะไหนควรซื้อเพื่อถือ และจังหวะไหนควรขายเพื่อทำกำไร ยังต้องรู้ด้วยว่าหุ้นที่กำลังเล็งอยู่นี้ มีแนวโน้มที่ดีอยู่หรือไม่ หรือต้องระมัดระวังเรื่องใดบ้าง

 

สำหรับการจับสัญญาณในการซื้อขายหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง นักลงทุนสายเทคนิคอลสามารถใช้ปัจจัยทางเทคนิคเข้ามาช่วยได้ โดยเครื่องมือยอดนิยมและเข้าใจได้ง่าย ก็คือ การใช้เส้นค่าเฉลี่ย (Moving Average) ซึ่งจะช่วยบอกการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้ม

เส้นค่าเฉลี่ย ตัวช่วยพอร์ตหุ้นสายเทคนิคอล

ที่มา : e-Learning หลักสูตร “จับจังหวะซื้อขาย ด้วยปัจจัยเทคนิค : ซื้อขายหุ้นอย่างมั่นใจ ถูกใจ ถูกจังหวะ” ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

เครื่องมือเส้นค่าเฉลี่ยนี้จะช่วยบอกอารมณ์ของตลาดหุ้นและแนวโน้มของหุ้นที่จะลงทุน ซึ่งเป็นเครื่องมือทางเทคนิคประเภทหนึ่งที่สามารถปรับใช้ได้หลายรูปแบบ ทั้งดัชนีหุ้นไทย หุ้นรายกลุ่มอุตสาหกรรม หรือหุ้นรายตัว

 

ยกตัวอย่างเช่น เส้นค่าเฉลี่ย 5 วันที่ผ่านมา อยู่ที่ 10 บาท แต่ขณะนี้ราคาหุ้น XYZ อยู่ที่ 11 บาท แสดงว่าราคาหุ้น XYZ ยังมีแรงจะขึ้นต่อไปได้ ในทางกลับกันหากเส้นค่าเฉลี่ย 5 วันที่ผ่านมา ราคาหุ้นอยู่ที่ 10 บาท แต่ขณะนี้ราคาหุ้น XYZ อยู่ที่ 9 บาท แสดงว่านักลงทุนเริ่มมีความกังวลและไม่มั่นใจที่จะถือหุ้นตัวนี้ต่อไป จึงมีแรงเทขายออกมา ราคาหุ้นจึงต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย

 

การใช้เส้นค่าเฉลี่ย เป็นเครื่องมือทางเทคนิคที่เข้าใจง่ายและสามารถประยุกต์ใช้หรือเริ่มต้นศึกษาด้วยตัวเองได้ไม่ยาก โดยนักลงทุนควรมองราคาหุ้นในกรอบระยะเวลาที่กว้างมากขึ้น (ไม่มองเพียงแค่ว่า ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากราคาเมื่อวานเท่าใด)

 

สำหรับการเลือกใช้เส้นค่าเฉลี่ย โดยส่วนใหญ่มักนิยมใช้เส้นค่าเฉลี่ย 5  วันแทนค่าเฉลี่ยราคาหุ้น 1 สัปดาห์ เส้นค่าเฉลี่ย10  วันแทนค่าเฉลี่ยราคาหุ้น 2 สัปดาห์ เส้นค่าเฉลี่ย 25 วันแทนค่าเฉลี่ยราคาหุ้น 1 เดือน เส้นค่าเฉลี่ย75  วันแทนค่าเฉลี่ยราคาหุ้น 1 ไตรมาส และเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันแทนค่าเฉลี่ยราคาหุ้น1  ปี

 

สำหรับมือใหม่ การใช้เส้นค่าเฉลี่ยเพียง 1 เส้นก็เพียงพอที่จะใช้วิเคราะห์ดูแนวรับแนวต้านได้ แต่หากนักลงทุนมีความชำนาญมากขึ้น การใช้เส้นค่าเฉลี่ยเพิ่มเป็น 2 หรือ 3 เส้น ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจได้อีกทางหนึ่ง เพราะหลักการทางเทคนิคเชื่อว่า เมื่อราคาหุ้นหลุดจากเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้น ราคาหุ้นมีโอกาสจะวิ่งเข้าไปหาแนวเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาว ดังนั้นหากราคาหุ้นหลุดจากเส้นค่าเฉลี่ย10  วัน จุดต่อไปที่ราคาจะไปถึง คือ เส้นค่าเฉลี่ย25  วัน เป็นต้น

 

หรือวิธีการสังเกตแนวโน้มขาลงนั้น ราคาหุ้นที่รีบาวน์ ไม่ควรจะเกินเส้นค่าเฉลี่ย ดังนั้น ถ้าราคาหุ้นต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย จะใช้เส้นค่าเฉลี่ยเป็นแนวต้าน แต่ในทางกลับกัน ถ้าเป็นแนวโน้มขาขึ้น ราคาหุ้นควรจะยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย และหากมีการย่อตัวลงมาก็ต้องไม่ต่ำไปกว่าเส้นค่าเฉลี่ย และให้ใช้เส้นค่าเฉลี่ยเป็นแนวรับแทน

 

นอกจากสัญญาณซื้อหรือขายแล้ว นักลงทุนต้องดูด้วยว่า หุ้นที่กำลังเล็งอยู่มีแนวโน้มเป็นอย่างไร โดยหลักๆ แล้วจะมี 3 รูปแบบด้วยกัน คือ ราคาหุ้นไม่ไปไหน (Sideway) ราคาหุ้นมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อ และราคาหุ้นมีแนวโน้มปรับลดลง ซึ่งเส้นค่าเฉลี่ยก็สามารถช่วยได้

  • เส้นค่าเฉลี่ยเป็นแนวนอน บ่งบอกว่า ราคาหุ้น Sideway
  • เส้นค่าเฉลี่ยมีความชันขึ้น บ่งบอกว่า เกิดแนวโน้มที่ชัดเจน ราคาหุ้นวิ่งขึ้น
  • เส้นค่าเฉลี่ยเริ่มเปลี่ยนปักหัวลง แสดงถึงแนวโน้มขาลง เป็นจุดที่ต้องระวังว่า อาจเป็นสัญญาณว่าราคาหุ้นกำลังปรับลดลง

 

อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ซื้อหุ้นตั้งแต่จุดต่ำสุด แต่ประเมินแล้วว่าแนวโน้มหุ้นยังดีอยู่ จากราคาที่ยังอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย (ยังเป็นสัญญาณซื้ออยู่) หากเข้าซื้อจุดนี้ก็ยังมีโอกาสที่ดีในการทำกำไร ในทางกลับกันก็มีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ซื้อตั้งแต่จุดต่ำสุด ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกครั้งที่เห็นสัญญาณซื้อ แต่ควรซื้อให้น้อยลงและขายทำกำไรให้ถูกจังหวะ เส้นค่าเฉลี่ยเป็นเพียงเครื่องมือประเภทหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น นักลงทุนต้องดูเครื่องมือลงทุนประเภทอื่นเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ และสิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การมีวินัยและอย่าฝืน เช่น เมื่อเห็นราคาหุ้นปรับลดลงมาก็ต้องขายตัดขาดทุน (Stop Loss) ไม่เช่นนั้นอาจ “ติดหุ้น” ก็เป็นได้

 

สำหรับคนที่สนใจ อยากวิเคราะห์กราฟเทคนิคด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ผ่าน Settrade Technical Chart ซึ่งมี Indicators ต่างๆ แบบครบครัน ทั้ง ADX, MACD, Ichimoku และอื่นๆ กว่า 50 ตัว รวมถึง Drawing Tools หลากหลายรูปแบบ เพื่อช่วยให้วิเคราะห์สัญญาณทางเทคนิคได้อย่างคล่องตัว เข้าใช้งาน >> คลิกที่นี่


และสำหรับมือใหม่ที่สนใจเรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ปัจจัยเทคนิค เพื่อกำหนดจังหวะการลงทุน ทั้งจุดซื้อ จุดขาย และจุดทำกำไร เพื่อเป็นเครื่องมือประกอบการลงทุนทั้งตลาดขาขึ้นและตลาดขาลง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนหุ้นมั่นใจ ต้องเข้าใจกราฟเทคนิค” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: