ถึงเวลาปรับพอร์ตลงทุน PVD หรือยัง

โดย กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
3 Min Read
10 มีนาคม 2564
16.995k views
ถึงเวลาปรับพอร์ตลงทุน PVD หรือยัง
Highlights
  • ไม่มีใครห้ามหากต้องการปรับพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงเลี้ยงชีพ แต่ควรมีสัดส่วนการลงทุนระหว่างสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำและสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนสูงให้เหมาะสมกับเป้าหมาย ระดับความเสี่ยง และระยะเวลาการลงทุนของตนเอง

  • ถ้าหุ้นตก อย่าเพิ่งด่วนปรับพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงเลี้ยงชีพ เพราะอาจจะเสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี หรือหากอยากกลับมาลงทุนหุ้นใหม่ก็จะซื้อในราคาแพงกว่าที่ขาย ควรคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายการลงทุน

ผ่านพ้นช่วงปีใหม่มาได้ระยะหนึ่งแล้ว สำหรับพนักงานบริษัท ส่วนใหญ่จะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนเป็นประจำทุกปี ซึ่งรอบการปรับมักจะเป็นช่วงเดือนต้นปี แต่ไม่ว่าจะได้ปรับขึ้นมากหรือน้อย สิ่งหนึ่งที่กระทบอย่างแน่นอน นั่นคือ เงินสะสมของพนักงานที่หักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

อัตราการสะสมเงินของพนักงานเป็นประเด็นหนึ่งที่วัยเริ่มต้นทำงานยังเข้าใจผิดว่า “ยิ่งหักมาก จะไม่เป็นผลดีกับตนเอง เพราะจะเหลือเงินไว้ใช้จ่ายได้น้อยลง”

 

แต่ถ้าบริษัทมีการชี้แจงให้ทราบเบื้องต้น หรือพนักงานได้รับการปลูกฝังแนวคิดที่ถูกต้องมาก่อนว่า แท้จริงแล้วการหักเงินสะสมออกจากบัญชีเงินเดือนเลยทันที เป็นการจ่ายให้ตัวเองก่อน (Pay Yourself First) นั่นคือ ออมเงินเพื่อตัวเองในอนาคต แถมยังเป็นการฝึกวินัยในการออมที่ดีอีกด้วย

 

สำหรับนโยบายการสมทบเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทแต่ละแห่งจะมีนโยบายการสมทบที่แตกต่างกันไป และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะถูกนำไปสร้างผลตอบแทนผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่บริษัทได้คัดเลือกเพื่อดูแลเงินกองทุนนี้ ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเงินในกองทุน คือ อัตราผลตอบแทนของกองทุน ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุน

 

โดยบริษัทอาจมีนโยบายการลงทุนเพียงนโยบายเดียว พนักงานไม่สามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้เอง ไม่ว่าอายุเท่าไรก็จะใช้แผนการลงทุนที่เหมือนกัน เงินส่วนใหญ่จึงมักถูกนำไปลงทุนในตราสารการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ เพื่อปกป้องเงินต้น

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยหลายบริษัทเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะกับตนเองได้ (Employees Choice) โดยมีแผนการลงทุนที่เป็นส่วนผสมสินทรัพย์การลงทุน เช่น ตราสารทุนและตราสารหนี้

 

นอกจากนี้ยังมีตัวเลือกแผนการลงทุนแบบแผนสมดุลตามอายุ (Target Date) หรืออาจเรียกว่า Life Path, Life Cycle เป็นนโยบายการลงทุนที่มีการจัดสรรเงินลงทุนตามอายุของสมาชิก หากเลือกแผนนี้ก็จะมีการปรับพอร์ตการลงทุนให้อัตโนมัติเมื่อมีอายุเปลี่ยนแปลงไป

 

แนวทางในการปรับพอร์ตการลงทุน

 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นกองทุนเพื่อการออมระยะยาว และเป็นแหล่งเงินเกษียณก้อนใหญ่สำหรับพนักงานประจำ จึงควรใส่ใจในแผนการลงทุนที่เลือกไว้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน หรือกลุ่มคน Gen Z ที่มีเวลากว่าครึ่งชีวิตในการทำงาน และกลุ่มคน Gen Y ที่ทำงานมาระยะหนึ่งแล้วแต่ยังเหลือระยะเวลาก่อนเกษียณอยู่พอสมควร  

 

โดยปกติแล้วในแต่ละปีบริษัทจะเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ เช่น ปีละ 1 ครั้งหรือมากกว่าแล้วแต่นโยบาย

 

การปรับพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ การปรับเพิ่มหรือลดสัดส่วนการลงทุนของสินทรัพย์แต่ละประเภท หากสัดส่วนการลงทุนในปัจจุบันแตกต่างจากสัดส่วนที่กำหนดไว้ในตอนต้น เพื่อให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรือด้วยปัจจัยอื่น เช่น อัตราผลตอบแทนที่ต้องการ การเพิ่มตัวเลือกแผนการลงทุนจาก บลจ. เป็นต้น

 

กลุ่ม Gen Z

 

เป็นกลุ่มที่มีภาระหนี้สินค่อนข้างน้อยหรือไม่มีเลย และสิ่งที่ได้เปรียบกว่าคนวัยอื่นคือ มีระยะเวลาการลงทุนยาวนาน จึงสามารถจัดสรรเงินลงทุนส่วนใหญ่ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ และหากพบว่าพอร์ตการลงทุนปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ในตราสารหนี้เป็นส่วนใหญ่ ก็ควรเปลี่ยนแผนการลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น หุ้น เพื่อโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว

 

แต่หากแผนการลงทุนของบริษัทมีให้เลือกจำกัดหรือเลือกไม่ได้เลย แปลว่าลงทุนได้เฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงต่ำทั้งหมด ทางออก ก็คือ หากมีกระแสเงินสดเหลือควรพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น กองทุนรวมผสม กองทุนรวมหุ้น หรือกองทุน SSF เป็นต้น

 

กลุ่ม Gen Y

 

เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมานานหลายปี มีการปรับอัตราเงินสะสม/เงินสมทบ ตามอายุงาน ดังนั้น เมื่อสะสมถึงจุดหนึ่ง อัตราเงินสมทบจะไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย (แล้วแต่นโยบายบริษัท) แต่ตัวเองต้องการเพิ่มเงินลงทุนให้มากขึ้น เช่น ต้องการแบ่งเงินลงทุนเพื่อวัยเกษียณ 15% ของเงินเดือน แต่ปัจจุบันสามารถหักเงินสะสมได้สูงสุด 10% หากเป็นกรณีนี้ควรตัดสินใจนำเงินส่วนที่เหลือ 5% ไปลงทุนในกองทุน SSF หรือ RMF เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเป็นการออมในระยะยาวเหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

อย่างไรก็ตาม จะสังเกตได้ว่าส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้จะมีการลงทุนกองทุน LTF มาแล้ว ซึ่งกองทุนนี้จะมีนโยบายลงทุนในหุ้น ดังนั้น เงินลงทุนในส่วน 5% ควรนำไปลงทุนในกองทุน SSF หรือ RMF ที่มีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ แต่หากสามารถรับความเสี่ยงได้สูงก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ 

 

กลุ่ม Gen X

 

เป็นวัยที่เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีค่อนข้างเยอะและอาจแตะหลักล้านบาท เพราะทำงานมานาน ดังนั้น การเลือกนโยบายลงทุนควรเน้นสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ และยิ่งเข้าใกล้สู่วัยเกษียณต้องปรับพอร์ตด้วยการเน้นรักษาเงินต้น

 

การออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการลงทุนระยะยาว ระหว่างทางอาจเจอกับความผันผวนจากสถานการณ์ต่างๆ แต่การรีบร้อนเปลี่ยนนโยบายไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำเมื่อเห็นราคาหุ้นปรับลดลง เช่น ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อาจทำให้เสียประโยชน์ได้ เพราะบริษัทจัดการที่ดูแลกองทุนต้องขายหุ้นในส่วนของสมาชิกที่ราคาปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นการขายในราคาถูกแล้วนำไปซื้อตราสารหนี้ และยังเสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีเมื่อราคาหุ้นปรับขึ้น

 

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจปรับพอร์ตลงทุนของกองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ ควรศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วน ติดตามสภาวะตลาด สภาพเศรษฐกิจ และที่สำคัญให้นึกถึงเรื่องการวางแผนการเงิน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเป้าหมายเกษียณและสถานะการเงินของตนเอง 

 

อย่าลืมว่าเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินออม เงินลงทุนของตัวเราเองก็ควรเลือกลงทุนด้วยตนเอง ไม่เลือกหรือปรับพอร์ตตามคนอื่น เพราะความต้องการ ความสามารถในการรับความเสี่ยง จำนวนเงิน ระยะเวลาการลงทุนและเป้าหมายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

 

หลักการหนึ่งที่สามารถใช้เป็นแนวทางได้ คือ การกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทเพื่อลดความผันผวนของพอร์ต เพราะสินทรัพย์แต่ละประเภทมีการเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน หรือสามารถเลือกแผนการลงทุนแบบ Target Date เพื่อให้บริษัทจัดการปรับพอร์ตการลงทุนอัตโนมัติให้เหมาะสมกับอายุสมาชิก ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี

 

สำหรับใครที่สนใจอยากเริ่มวางแผนเกษียณ อยากรู้เทคนิคเพิ่มเงินออมในกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ และวิธีการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาว เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายการเกษียณได้อย่างมีความสุข เรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: