จัดพอร์ตต้อนรับ COVID Return

โดย ธนพงษ์ เอื้อสมิทธ์, CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
4 Min Read
8 มีนาคม 2564
2.81k views
จัดพอร์ตต้อนรับ COVID Return
Highlights
  • การกลับมาระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ประกอบกับความกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่ากำหนด จึงส่งผลให้นักลงทุนต้องหันกลับมาจัดพอร์ตลงทุนกันใหม่อีกครั้ง

  • การปรับใช้บทเรียนในปีที่ผ่านมา เช่น คาดการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ มาตรการของภาครัฐ และการประเมินความเสี่ยงจากสถานกาณ์ COVID-19 จะช่วยวางกลยุทธ์เพื่อปรับพอร์ตลงทุนได้ดีขึ้น

  • การจัดพอร์ตลงทุนตามระดับความเสี่ยงและสอดคล้องกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง พร้อมกับติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ย่อมเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีได้

ในปี 2563 ที่ผ่านมา เป็นปีที่คนทั่วโลกต่างประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อการลงทุนจนต้องปรับพอร์ตลงทุนขนานใหญ่เพื่อลดความเสี่ยงและผลขาดทุน อย่างไรก็ตาม ประโยคที่ว่า “ในวิกฤติย่อมมีโอกาส” ยังสามารถใช้ได้ เพราะมีบางอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ครั้งนี้ เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยี เนื่องจากการ Work from Home นั้น ทำให้ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น  อีกทั้งผู้คนต่างก็ใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น ทำให้ธุรกิจบันเทิงออนไลน์ต่างๆ มีจำนวนผู้ใช้งานมากขึ้น รวมถึงกระแสเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งดึงดูดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาลงทุน หรือความพยายามของบริษัทยาและเวชภัณฑ์ทั้งหลายที่เร่งวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันไวรัส COVID-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมการแพทย์ ไบโอเทค เวชภัณฑ์ยา และสุขภาพ เติบโตอย่างรวดเร็ว

 

สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่กล่าวในข้างต้น ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ดังนั้น หากลงทุนหุ้นหรือกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนมาถึงวันนี้ ก็จะได้รับผลตอบแทนในระดับที่น่าประทับใจไม่น้อย

 

กราฟ 1 : ผลตอบแทนเฉลี่ย 1 ปีที่ผ่านมา ของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีทั่วโลก

จัดพอร์ตต้อนรับ COVID Return_01

ที่มา : ข้อมูลจากเว็บไซต์ Finviz.com (ณ วันที่ 7 มีนาคม 2564)

 

โดยกราฟที่ 1 คือ ผลตอบแทนเฉลี่ย 1 ปีที่ผ่านมา ของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีทั่วโลก พบว่าหากลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทนแสงอาทิตย์ ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จะได้รับผลตอบแทนสูงถึง 122.71% รองลงมา คือ หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (84.13%) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (66.12%) ผู้ประกอบการเซมิคอนดักเตอร์ (65.61%) และธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (50.35%) ตามลำดับ

           

กราฟ 2 : ผลตอบแทนเฉลี่ย 1 ปีที่ผ่านมา ของหุ้นกลุ่มการแพทย์ทั่วโลก

TSI_Article_125_Inv_จัดพอร์ตต้อนรับ COVID Return_02

ที่มา : ข้อมูลจากเว็บไซต์ Finviz.com (ณ วันที่ 7 มีนาคม 2564)

 

เช่นเดียวกัน ในกราฟที่ 2 หากลงทุนหุ้นกลุ่มการศึกษาการวินิจฉัยโรค ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จะได้รับผลตอบแทน 45.26% รองลงมา ได้แก่ ธุรกิจบริการข้อมูลด้านสุขภาพ (45.08%) เครื่องมือแพทย์ (31.4%)   และธุรกิจไบโอเทคโนโลยี (30.18%) ตามลำดับ   

 

นอกเหนือจากปัจจัยด้านวิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีต่างๆ และอุตสาหกรรมการแพทย์ ไบโอเทค เวชภัณฑ์ และสุขภาพได้รับประโยชน์แล้ว ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) วงเงินประมาณ 1.2 แสนล้านดอลล่าร์ต่อเดือน ทำให้ขนาดงบดุลของเฟดเพิ่มขึ้นจากต้นเดือนมีนาคม 2563 ที่ 4.24 ล้านล้านดอลล่าร์ ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 7.41 ล้านล้านดอลล่าร์ (ณ วันที่ 20 มกราคม 2564) รวมถึงการลดดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 0 – 0.25% ช่วยสนับสนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

หมายความว่า หากปีที่ผ่านมานักลงทุนเน้นลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมทางการแพทย์จะได้รับผลตอบแทนที่ดีต่อใจ และในช่วงปลายปีที่แล้วก็ดูเหมือนว่าทิศทางการลงทุนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยประเมินว่ายังคงถือทั้งสองกลุ่มนี้ต่อไปได้

 

แต่แล้วเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง นักลงทุนเริ่มกังวลเกี่ยวกับขนาดงบดุลของเฟดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น และอาจทำให้เฟดต้องตัดสินใจลดขนาดงบดุลและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่ากำหนด จนส่งผลให้ดัชนี VIX Index ที่เป็นตัวชี้วัดความกังวลของนักลงทุนขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงรัฐบาลจีนได้พิจารณาในการเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และที่ลืมไม่ได้ก็คือ ความกังวลของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด ส่งผลให้นักลงทุนต้องจัดพอร์ตลงทุนกันใหม่อีกครั้ง

 

โดยนักลงทุนสามารถนำบทเรียนในปีที่ผ่านมา มาปรับใช้ในการวางกลยุทธ์เพื่อปรับพอร์ตการลงทุนในปีนี้ เช่น คาดการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ มาตรการหรือนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงประเมินความเสี่ยงจากสถานการณ์ COVID-19

 

กรณีที่ 1 ควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ได้ดีเยี่ยม ใช้นโยบายการเงินการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ

ถือเป็นกรณีที่ดีที่สุด คือ เชื้อไวรัส COVID-19 หยุดระบาด คนไทยได้รับวัคซีนอย่างเพียงพอ ขณะที่ภาคเอกชนกลับมาเดินหน้าดำเนินธุรกิจอย่างเต็มที่ หมายความว่าภาคเอกชนมีโอกาสเพิ่มเม็ดเงินการลงทุน ส่วนธนาคารพาณิชย์สามารถควบคุมหนี้เสียได้ดีและกลับมาปล่อยกู้ได้ตามปกติ หากเป็นแบบนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้รวดเร็ว ดังนั้น ควรเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มี Valuation ถูก และได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจฟื้นตัว

 

กรณีที่ 2 ควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ได้บางส่วน ใช้นโยบายการเงินการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ 

กรณีนี้ยังต้องใช้มาตรการ Lockdown ในบางพื้นที่และควบคุมกิจกรรมบางประเภทเพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลกฟื้นตัวได้ไม่ได้เต็มที่ ดังนั้น การพึ่งพาเทคโนโลยียังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ หมายความว่า หน้าตาพอร์ตลงทุนจะมีความคล้ายคลึงกับปีที่แล้ว คือ ลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่เนื่องจากราคาหุ้นกลุ่มนี้ปรับขึ้นมาในระดับสูง จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังและควรลดสัดส่วนการลงทุนลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

 

กรณีที่ 3 ควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้เลย ใช้นโยบายการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่ 

กรณีนี้มีความคล้ายกับช่วงแรกของการแพร่ระบาด COVID-19 เมื่อต้นปี 2563 ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นปรับลดลงอย่างรวดเร็ว การดำเนินกิจกรรมของภาคเอกชนหยุดชะงัก การว่างงานสูงขึ้น รายได้หด หนี้สินเพิ่มสูงขึ้น ภาครัฐยังไม่มีแผนชัดเจนในการรับมือ ดังนั้น หน้าตาพอร์ตจึงควรเน้นถือเงินสดเพื่อรอความชัดเจนของสถานการณ์

 

ตัวอย่าง กลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุน

TSI_Article_125_Inv_จัดพอร์ตต้อนรับ COVID Return_03

นอกจากนี้ เรื่องของนโยบายการเงิน ก็มีผลต่อการลงทุนในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะในขณะนี้ทั่วโลกอยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อหาผลตอบแทนที่มากขึ้น ขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนในระดับต่ำ อาจส่งผลกระทบกับการลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเกษียณอายุ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจเห็นโอกาสการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอนาคตอันใกล้ (ถ้าใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะนำไปสู่ภาวะเงินฝืดเรื้อรังได้)

 

ดังนั้น หากนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย ควรถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยเพื่อลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวม แต่หากรับความเสี่ยงได้สูงก็สามารถเพิ่มการลงทุนในหุ้นและปรับพอร์ตให้สอดคล้องตามสถานการณ์ โดยในสถานการณ์เช่นนี้ หากนักลงทุนจับจังหวะการลงทุนและจัดพอร์ตให้ตามระดับความเสี่ยงและสอดคล้องกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง พร้อมกับติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ย่อมเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีได้

 

สำหรับนักลงทุนที่สนใจ อยากรู้เทคนิคและกระบวนการบริหารพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับสไตล์ของตนเอง เพื่อสร้างพอร์ตลงทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “ครบเครื่องเรื่องบริหารพอร์ตลงทุน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: