วางแผนเกษียณอย่างไร ให้มีเงินใช้ไปทั้งชาติ

โดย SET
4 Min Read
30 พฤศจิกายน 2563
7.335k views
TSI_15_วางแผนเกษียณอย่างไร ให้มีเงินใช้ไปทั้งชาติ
Highlights
  • “การวางแผนเกษียณ” เสียตั้งแต่วันนี้ จะช่วยให้เรามีเงินพอใช้อย่างสุขสบายในช่วงบั้นปลายของชีวิต หากเราเอาแต่ผัดวันประกันพรุ่ง โดยไม่ทำอะไรเลย กว่าจะรู้ตัวว่ามีเงินไม่พอใช้ตอนเกษียณ ก็คงสายไปเสียแล้ว!!!

  • 6 ขั้นตอนวางแผนเกษียณ เริ่มตั้งแต่กำหนดอายุเกษียณและอายุขัย คำนวนค่าใช้จ่ายในยามเกษียณ ตรวจสอบเงินออมเพื่อเกษียณจากแหล่งต่างๆ คำนวณเงินออมที่ยังขาดอยู่ วางแผนออมเงินเพิ่ม และทบทวนเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ

“เคยคิดไหมว่า ตอนเกษียณเราจะมีเงินเท่าไหร่ แล้วจะเอาเงินจากไหนมาใช้จ่ายหลังเกษียณ”

“เคยมองไหมว่า พอแก่แล้วจะใช้ชีวิตกันแบบไหน”

“เคยดูตัวเองไหมว่า ตอนนี้เก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณกันได้แค่ไหนแล้ว”


พอพูดถึงวัยเกษียณก็อาจจะดูเหมือนไกลตัวและยังอีกนานกว่าจะมาถึงสำหรับใครหลายๆ คน แต่อย่าลืมว่า... วันเวลาในแต่ละปีนั้นผ่านไปเร็วมากขนาดไหน และถ้าหันกลับมามองตัวเอง ในแต่ละเดือนนับจากนี้ไปจนอายุ 60 ปี จะเก็บเงินได้อีกแค่ไหน ผลลัพท์ที่ได้อาจทำให้ขวัญผวากันเลยทีเดียว เพราะมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่จะมากขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในอนาคต แถมยังต้องเก็บไว้ใช้จนถึงอายุ 70-80 ปีอีกต่างหาก


เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว สิ่งที่เราควรทำคือ เริ่มต้นการวางแผนเกษียณตั้งแต่วันนี้ อย่ารอให้วันเวลาผ่านไปเรื่อยๆ จนพบว่าเราออกตัวช้าจนสายเกินไปแล้ว มาเริ่มวางแผนเกษียณกันตาม 6 ขั้นตอน ช่วยเกษียณแบบมีเงินใช้ทั้งชาติ” ดังนี้

1. กำหนดอายุเกษียณและอายุขัย โดยปกติแล้วมนุษย์เงินเดือนมักจะถูกกำหนดให้ทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี แต่ยังต้องดำรงชีวิตอยู่จนอายุถึง 70-80 ปี บางคนอายุยืนถึง 90 ปีก็มี ซึ่งเราสามารถประมาณการอายุขัยได้จากคนในครอบครัว

2. คำนวนค่าใช้จ่ายในยามเกษียณ เช่น หากตอนนี้เราอายุ 35 ปี จะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 80 ปี โดยคิดว่าจะมีค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ 20,000 บาทต่อเดือน แต่อย่าลืมว่า... ในแต่ละปีค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายต่างๆ จะแพงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องคำนวณอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย (สมมติว่า 3% ต่อปี) ทำให้เงิน 20,000 บาทในวันนี้ มีมูลค่าเพิ่มเป็น 41,875 บาทในอีก 25 ปีข้างหน้า


ดังนั้น เมื่อคำนวณแล้วเราจะต้องเตรียมเงินไว้เพื่อใช้หลังเกษียณไปอีก 20 ปี เป็นจำนวนรวม 8,323,028 ล้านบาท โดยเราต้องนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยอย่างน้อย 5% ต่อปี จึงจะทำให้เราสามารถใช้จ่ายเงินได้ตามแผนที่ตั้งใจไว้

TSI_Article_015_PF_วางแผนเกษียณอย่างไร ให้มีเงินใช้ทั้งชาติ_01

ตัวอย่างนี้เป็นเพียงเป้าหมายสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันช่วงวัยเกษียณอย่างเดียวเท่านั้น หากเรามีเป้าหมายอื่นๆ อีกล่ะ เช่น ท่องเที่ยวต่างประเทศปีละ 1 ครั้ง หรืออยากเปิดร้านขายของเล็กๆ ที่ต้องใช้เงินทุนด้วย แถมยังต้องมีเงินสำรองเผื่อการเจ็บป่วยหรือฉุกเฉินอีก ถึงเวลาแล้วที่ต้องรีบตั้งเป้าหมายและเริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่วันนี้ เพราะจะได้มีเวลาเก็บเงินนานๆ เพื่อจะสะสมความมั่งคั่งรองรับชีวิตวัยเกษียณของเราเอาไว้         


3. ตรวจสอบเงินออมเพื่อเกษียณจากแหล่งต่างๆ
ว่าในปัจจุบันเรามีเงินออมอยู่เท่าไหร่ เพียงพอหรือไม่ เช่น เงินฝากธนาคาร เงินกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินประกันชีวิต SSF RMF และการลงทุนในหุ้น


4. คำนวณเงินออมที่ยังขาดอยู่ โดยเปรียบเทียบเงินออมที่มีอยู่และเงินที่ต้องใช้ในยามเกษียณ หากเราพบว่าเงินที่เราออมไว้ยังห่างจากเป้าหมายที่ต้องการอยู่มาก ก็ต้องเร่งวางแผนเพื่อให้มีเงินออมมากขึ้น

5. วางแผนออมเงินเพิ่ม เมื่อทราบแล้วว่ายังมีขาดเงินอีกเท่าไหร่ ก็ให้เรานำเป้าหมายนั้นมาวางแผนออมเงิน โดยเริ่มจากการทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างรัดกุมเพื่อให้เกิดเงินออมในแต่ละเดือน ลงมือออมเงินอย่างต่อเนื่องและมีวินัย เลือกช่องทางการลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตัวเอง อย่าลืม... เขียนแผนการออมการลงทุน เพื่อคอยเตือนตัวเอง และลงมือปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด

6. ทบทวนเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบว่าเราสามารถทำตามแผนที่วางไว้ได้หรือไม่ ต้องเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายอย่างไรบ้าง ต้องบริหารเงินออมเงินลงทุนให้ได้ผลตอบแทนอย่างไรบ้าง รวมทั้งพิจารณาว่าระดับการยอมรับความเสี่ยงของเราเปลี่ยนไปหรือไม่ เพื่อประเมินและปรับเปลี่ยนแผนการออมให้เหมาะสมกับตัวเองมากยิ่งขึ้น
TSI_Article_015_PF_วางแผนเกษียณอย่างไร ให้มีเงินใช้ทั้งชาติ_02

จะเห็นว่า... แม้เราสามารถออมเงินเพิ่มต่อเดือนได้ไม่มาก ก็สามารถออมเงินจนบรรลุเป้าหมายเกษียณสุขได้ไม่ยาก เพียงแค่ลงมือออมตามแผนให้ได้อย่างมีวินัย และเลือกนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ให้ได้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยเพียงแค่ 5.09% ต่อปี ก็สามารถบรรลุเป้าหมายออมเงินเพิ่มอีก 2 ล้านบาทได้สบายๆ


วัยเกษียณเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เตรียมพร้อมด้านการเงินสำหรับเวลาที่จะมาถึงได้ เมื่อเราประเมินตัวเองในเรื่องอายุเกษียณ ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น และวางแผนเก็บออมให้มีเงินใช้ในยามเกษียณได้อย่างมีวินัยแล้ว เราก็จะมีชีวิตเกษียณอย่างเกษมได้อย่างแน่นอน


สำหรับใครที่อยากรู้ว่าเกษียณแล้วควรมีเงินเท่าไหร่? จึงจะเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ลองมาคำนวณเงินที่ต้องออมเพื่อเกษียณกันเถอะ >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: