ทุกวันนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น บางอย่างกลายมาเป็นที่นิยม เช่น การซื้อขายออนไลน์ การชำระเงินแบบดิจิทัลหรือแบบไร้สัมผัส การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องเข้ามาที่สำนักงาน สามารถสื่อสารและประชุมออนไลน์ได้ มีระบบเก็บข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud) ผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ในส่วนของธุรกิจการเงินการลงทุนก็เช่นกัน ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) มาช่วยในการตัดสินใจลงทุน ปัจจุบันมีหลายกองทุนรวมในต่างประเทศที่ใช้ AI ในการบริหาร หรือแม้แต่พัฒนาให้ AI เขียนบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ ใช้ในการพยากรณ์ราคาหุ้นหรือดัชนี และช่วยตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์
ในประเทศไทย เริ่มมีบางสถาบันการเงินที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักในการบริหารจัดการเงินลงทุนของลูกค้าในรูปแบบของกองทุนส่วนบุคคล มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) หลายแห่งที่หันมาใช้ AI ในการช่วยจัดการบริหารพอร์ตลงทุน มีการนำเสนอบริการ Robo Advisor หรือการใช้หุ่นยนต์ AI มาช่วยจัดพอร์ตกองทุนรวมอัตโนมัติ จึงถือเป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผู้ช่วยและเป็นมือใหม่ในการลงทุน หรือนักลงทุนที่ไม่มีเวลา
Robo Advisor ทำงานอย่างไร
Robo Advisor หรือที่เรียกว่า หุ่นยนต์ที่ปรึกษาทางการเงิน หุ่นยนต์ผู้แนะนำ หรือผู้แนะนำการลงทุนอัตโนมัติ ล้วนทำหน้าที่ให้บริการช่วยเหลือด้านการลงทุนผ่าน Digital Platform ก่อนเริ่มต้นลงทุน โดยนักลงทุนต้องกรอกข้อมูลที่จำเป็น เช่น วัตถุประสงค์ในการลงทุน ระยะเวลาในการลงทุน จำนวนเงินที่ต้องการลงทุนครั้งแรก ความต้องการลงทุนต่อเนื่อง (ลงทุนแบบ DCA) และความสามารถในการรับความเสี่ยง เป็นต้น จากนั้นระบบ AI จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความต้องการและประเมินว่านักลงทุนเหมาะกับแผนการลงทุนแบบใด
เมื่อเลือกแผนการลงทุนได้แล้ว นักลงทุนสามารถสร้างพอร์ตลงทุนได้ไม่ยาก ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันทำการ และสามารถตัดเงินลงทุนจากบัญชีธนาคารของนักลงทุนได้เลย โดยเมื่อเวลาผ่านไปพอร์ตที่ดูแลด้วยระบบ Robo Advisor จะถูกปรับสัดส่วนการลงทุนโดยอัตโนมัติให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนเดิมที่แนะนำหรือปรับสมดุลพอร์ต (Rebalancing) หากสัดส่วนของพอร์ตลงทุนเบี่ยงเบนไปมากจนถึงค่าที่กำหนด หรืออาจเป็นการปรับสัดส่วนตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ทุก 3 เดือน ทุก 6 เดือน หรือทุก 1 ปี เป็นต้น
ข้อดีของ Robo Advisor
หลายคนเมื่อมีเงินเก็บก็อยากเริ่มต้นลงทุน แต่ไม่มีเวลาศึกษา ไม่รู้จะถามใครดี หากต้องใช้บริการที่ปรึกษาการลงทุนก็มีเงินลงทุนขั้นต่ำหรือมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ทำให้ไม่ได้ลงทุนสักที การใช้บริการ Robo Advisor ในปัจจุบันสามารถทำผ่าน Application ได้โดยง่าย จึงสามารถลงทุนและติดตามพอร์ตลงทุนได้ทุกที่ทุกเวลา และเริ่มต้นลงทุนได้ด้วยเงินเพียงหลักพันบาท
หากต้องตัดสินใจเลือกลงทุนเอง ในบางครั้งนักลงทุนมักเลือกลงทุนเฉพาะสินทรัพย์ที่ตัวเองสนใจหรือเล็งเห็นว่าน่าจะทำกำไรได้ เช่น อาจเลือกลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว (หรือแม้แต่ตัวเดียว) โดยไม่ได้กระจายอุตสาหกรรมหรือเลือกลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงเพราะหวังว่าจะได้ผลตอบแทนดีและเร็ว โดยไม่คำนึงถึงการกระจายการลงทุน แต่บริการ Robo Advisor เป็นการจัดสรรการลงทุนผ่านกองทุนรวมในหลากหลายสินทรัพย์ (Asset Allocation) ได้แก่ หุ้น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
การลงทุนระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินเพื่อเกษียณหรือเพื่อสร้างผลกำไร ในระหว่างทางก่อนถึงเป้าหมายควรมีการตรวจสอบสัดส่วนของพอร์ตลงทุนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อให้พอร์ตลงทุนอยู่ในสัดส่วนของสินทรัพย์เดิมที่ตั้งใจลงทุนในตอนแรกหรือให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของนักลงทุน เพื่อให้พอร์ตลงทุนไม่เสี่ยงสูงจนเกินไป และไม่เสี่ยงต่ำจนเกินไปเช่นกัน การลงทุนผ่าน Robo Advisor จะปรับสมดุลให้อัตโนมัติ นับเป็นความสะดวกสบายและเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
Robo Advisor ถูกสร้างขึ้นให้มีความฉลาด สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจได้เองเหมือนมนุษย์ โดยใช้ความหลากหลายของข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจ และยังสามารถเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนาตัวเองไปพร้อมกันได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีความเป็นกลาง ไม่ตัดสินใจโดยมีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ผลของการตัดสินใจนั้นอาจมีประสิทธิภาพหรือเที่ยงตรงมากกว่าของมนุษย์ที่อาจเผลอตัดสินใจด้วยอารมณ์
ข้อเสียของ Robo Advisor
ส่วนใหญ่แล้วแผนการลงทุนที่นำเสนอแก่นักลงทุน มักจะเป็นแผนสำเร็จรูปหรือเป็นพอร์ตการลงทุนที่มีอยู่แล้วในระบบ จำนวนของพอร์ตการลงทุนที่ให้บริการจะแตกต่างกันไปขึ้นกับสถาบันการเงิน (บลจ. / บลน.) นั่นคือ เป็นแผนสำหรับคนกลุ่มใหญ่ที่มีข้อมูล (Profile) คล้ายคลึงกัน เช่น ผู้ที่ต้องการรายได้ประจำ (Income Oriented) หรือกลุ่มคนที่รับความเสี่ยงได้สูง (Aggressive Growth) เป็นต้น
ในระหว่างที่ลงทุน หากต้องการขายกองทุนบางกองออกไปหรือต้องการซื้อกองทุนบางกองเข้ามาในพอร์ตลงทุน จะไม่สามารถทำได้ รวมถึงไม่สามารถเพิ่มหรือลดสัดส่วนการลงทุนของแต่ละกองทุนได้ด้วยตัวเอง
ในบางครั้งนักลงทุนอาจรู้สึกไม่สบายใจหรือมีความกังวลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของพอร์ตที่ลงทุน รวมถึงมีคำถามเกี่ยวกับการลงทุน การลงทุนผ่าน Robo Advisor จะไม่สามารถโต้ตอบ ปลอบประโลม หรืออธิบายนักลงทุนเกี่ยวกับสภาวะตลาดได้ ในทางกลับกัน การลงทุนโดยใช้บริการที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นมนุษย์ สามารถรับฟังหรือให้ความรู้ที่นักลงทุนต้องการได้ และโดยทั่วไปที่ปรึกษาทางการเงินหรือนักวางแผนการเงิน ยังสามารถให้คำแนะนำทางการเงินในด้านอื่นที่ครอบคลุมมากกว่า เช่น การคำนวณเงินเกษียณ เงินเพื่อการศึกษาบุตร หรือด้านภาษี เป็นต้น
จัดพอร์ตเอง หรือ Robo Advisor แบบไหนดีกว่ากัน
นักลงทุนต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่ว่าจะเป็นการจัดพอร์ตลงทุนด้วยตัวเองหรือใช้บริการ Robo Advisor ก็ไม่ได้หมายความว่าวิธีใดจะปลอดภัยกว่าหรือมีโอกาสสูญเสียเงินลงทุนได้น้อยกว่า การลงทุนทั้งสองวิธียังคงมีความเสี่ยงในการลงทุนและมีโอกาสขาดทุนเช่นกัน
ดังนั้น หลักในการเลือกเบื้องต้น คือ พิจารณาจากตัวเอง หากมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนอยู่แล้วหรือต้องการเลือกกองทุนเอง มีเวลาในการศึกษาหาความรู้และติดตามพอร์ตลงทุน รวมถึงสามารถปรับสมดุลพอร์ต (Rebalancing) ได้เอง ก็สามารถเลือกจัดพอร์ตเองได้
อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนไม่ได้ทำ Rebalancing หรือไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร และหากมองว่าต้องการรับบริการในส่วนนี้ รวมถึงยังต้องการคำแนะนำด้านการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูง ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มากนัก และไม่มีเวลาในการจัดการหรือยังมีประสบการณ์ในการลงทุนน้อย อยากค่อย ๆ เรียนรู้ การเลือกใช้ Robo Advisor อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม
ในแง่ผลการดำเนินงาน มีข้อมูลการวิเคราะห์ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 จนถึงกลางปี 2563 พบว่า ในจำนวน Robo Advisors 20 ราย มีผู้ให้บริการที่ทำผลตอบแทนสูงสุดที่ 4.71% ต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 ในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 9.53% ต่อปี หมายความว่า หากลงทุนในกองทุนดัชนี S&P 500 จะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าลงทุนใน Robo Advisor ถึงสองเท่า
บทความของ ScienceDirect ยังกล่าวอย่างน่าสนใจว่า กองทุนรวมที่บริหารโดยใช้ AI แม้ไม่ได้ชนะตลาด แต่ก็เอาชนะกองทุนที่บริหารโดยมนุษย์ได้ นั่นเพราะมีค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่ต่ำกว่า มีความสามารถในการเลือกหุ้นได้ดีกว่า รวมถึงมีอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยกว่า
ไม่ว่าจะเลือกวิธีใด นักลงทุนควรเข้าใจวัตถุประสงค์ของการลงทุน แม้การลงทุนผ่าน Robo Advisor จะไม่ต้องตัดสินใจเลือกแผนการลงทุน ไม่ต้องเลือกสัดส่วนของพอร์ตลงทุน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องศึกษาเรื่องการลงทุน หรือไม่ต้องติดตามพอร์ตเลย อย่าลืมว่านี่คือเงินลงทุนของตัวเอง ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง หากมีความรู้ความเข้าใจก็จะช่วยให้ลงทุนได้อย่างสบายใจ ไม่เป็นกังวล สามารถลงทุนต่อได้อย่างสม่ำเสมอ เลือกลงทุนเพิ่มเติมในยามที่ตลาดเป็นขาลงเพื่อสะสมหน่วยลงทุน ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจได้เร็วขึ้นด้วย
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการเลือกกองทุนรวม พร้อมสร้างและบริหารพอร์ตกองทุนรวมด้วยตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ห้องเรียนกองทุนรวม The Series” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่