7 เรื่องต้องรู้ก่อนเทรด DW

โดย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย)
3 Min Read
3 มีนาคม 2564
16.79k views
TSI_Article_111_7 เรื่องต้องรู้ก่อนเทรด DW_Thumbnail
Highlights
  • DW เป็นเครื่องมือทางการเงินที่นักลงทุนสามารถเทรดได้เหมือนหุ้นตัวหนึ่ง โดยราคาของ DW จะเปลี่ยนแปลงไปตามราคาหุ้นและดัชนีอ้างอิง ซึ่ง DW แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ Call DW (คาดการณ์ว่าราคาหุ้นอ้างอิงจะเพิ่มขึ้น) และ Put DW (คาดการณ์ว่าราคาหุ้นอ้างอิงจะลดลง)

  • ในการเลือก DW นักลงทุนต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น อัตราทด (Gearing) มูลค่าทางเวลาที่ลดลง (Time Decay) ค่า Implied Volatility และความน่าเชื่อถือของ Market Maker นอกจากนี้ ยังควรศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวกับ DW เพิ่มเติม รวมไปถึงลักษณะพิเศษของ DW ที่ผู้ออกแต่ละรายได้กำหนดไว้อย่างละเอียด เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือก DW ได้เหมาะสม

ก่อนลงทุนใน DW นักลงทุนควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ DW อย่างละเอียด ทั้งลักษณะพื้นฐานและเงื่อนไขหรือปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาของ DW หลายคนอาจบอกว่า... การลงทุนใน DW มีความเสี่ยงสูง แต่หากเราเข้าใจถึงความเสี่ยงอย่างถ่องแท้ และสามารถบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เรารับได้ ประกอบกับมีหลักการในการเลือกลงทุน DW ที่ดี ก็จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุน DW ได้ไม่ยาก เราลองมาดู 7 เรื่องต้องรู้ก่อนเทรด DW กัน

 

  1. เริ่มต้นรู้จัก DW

DW ย่อมาจาก Derivative Warrants หรือ “ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์” เป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งที่นักลงทุนสามารถซื้อขายผ่านบัญชีซื้อขายหุ้นเดิมเหมือนซื้อขายหุ้นตัวหนึ่ง โดยราคาของ DW แต่ละตัวจะอ้างอิงกับหุ้นอ้างอิง และราคาเปลี่ยนแปลงไปตามราคาหุ้นอ้างอิง โดยปกติแล้วผู้ออก DW แต่ละราย จะมีการแสดงตารางราคาอ้างอิงของ DW เทียบกับราคาหุ้นอ้างอิงไว้ในเว็บไซต์ของผู้ออก นอกจากอ้างอิงกับหุ้นแล้ว DW สามารถอ้างอิงดัชนีได้ โดย DW ที่อ้างอิง SET50 (สัญลักษณ์ขึ้นต้นด้วย SET50) นั้นได้รับความนิยมสูงสุด โดยมีมูลค่าซื้อขายคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของมูลค่าการซื้อขาย DW ทั้งหมด

 

  1. ประเภทของ DW

DW แบ่ง 2 ประเภท คือ Call DW และ Put DW

 

  • Call DW : ราคาจะปรับขึ้นเมื่อราคาหุ้นอ้างอิงปรับตัวขึ้น เหมาะกับการเก็งกำไรขาขึ้น
  • Put DW : ราคาจะปรับขึ้นเมื่อราคาหุ้นอ้างอิงปรับตัวลง เหมาะกับนักลงทุนที่มีมุมมองว่าราคาหุ้นจะปรับตัวลง

 

โดยปกติแล้ว DW จะเหมาะสำหรับการเก็งกำไรระยะสั้นถึงกลาง ไม่เหมาะที่จะถือจนหมดอายุ แต่ถ้านักลงทุนถือ DW จนครบอายุ DW ที่ถืออยู่นั้น จะถูกใช้สิทธิโดยอัตโนมัติ โดยผู้ถือจะได้รับชำระราคาเป็นเงินสดส่วนต่างจากผู้ออกในกรณีที่ DW มีมูลค่าเหลืออยู่เป็น In-the-money

  1. สัญลักษณ์ของ DW

ก่อนเทรด DW นักลงทุนควรทำความเข้าใจว่าสัญลักษณ์ของ DW แต่ละตัวมีความหมายอย่างไร เพื่อที่จะสามารถเลือกลงทุนได้อย่างถูกต้อง

การอ่านสัญลักษณ์ของ DW

dw
  1. ลักษณะพิเศษของ SET50 DW เทียบกับ DW อ้างอิงหุ้น

ปกติแล้วราคาของ SET50 DW จะไม่อ้างอิงกับดัชนี SET50 โดยตรง แต่จะอ้างอิงกับสัญญา SET50 Futures บนกระดาน TFEX เพราะสัญญา SET50 Futures เกิดจากการซื้อขายจริงของนักลงทุนทุกกลุ่ม ทำให้มีสภาพคล่องสูงและราคาปรับขึ้นลงตลอดเวลา ทำให้ราคาของ SET50DW อ้างอิงราคา SET50 Futures สามารถสะท้อนแรงซื้อขายที่เกิดขึ้นจริงและมุมมองของนักลงทุนได้ดีกว่า

 

เนื่องจาก SET50 Futures มีให้เลือกหลาย Series โดยปกติแล้วทางผู้ออกจะเลือก Series ที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดมาใช้อ้างอิง และระบุไว้ในตารางราคา DW (สำหรับ DW13 นักลงทุนสามารถดู Series ที่ใช้อ้างอิงได้จากส่วนบนของตารางราคา) กรณีที่สัญญา SET50 Futures ใกล้หมดอายุ ผู้ออกจะเปลี่ยน Series ถัดไปที่มีสภาพคล่องสูงที่สุด

     5. ผลกระทบจากเงินปันผล

ปกติแล้ว DW จะมีการปรับสิทธิเงินปันผลของหุ้นอ้างอิงให้แก่นักลงทุน (สูตรคำนวณตามมาตรฐานสากล) ทำให้นักลงทุนที่ถือ DW ข้ามวัน XD ไม่ได้รับผลกระทบจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลงตามเงินปันผลที่จ่าย แต่สำหรับ SET50 DW จะไม่มีการปรับสิทธิจากเงินปันผล เพราะ SET50 DW จะอ้างอิงกับสัญญา SET50 Futures ซึ่งราคาซื้อขายจะมีการสะท้อนผลกระทบจากเงินปันผลอยู่แล้ว ทำให้นักลงทุนไม่ได้เสียสิทธิ

 

     6. หลักการเลือก DW ให้เหมาะสม

อัตราทด (
Gearing)

 

อัตราทด (Gearing) หมายถึง อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคา DW เมื่อราคาหุ้นอ้างอิงเปลี่ยนแปลงไป เช่น DW มีอัตราทด Gearing 5 เท่า หมายความว่า เมื่อหุ้นอ้างอิงเปลี่ยนแปลง 1% ราคา DW จะเปลี่ยนแปลง 5% ปกติ อัตราทดที่นักลงทุนนิยมเลือกเทรดจะประมาณ 4-5 เท่าสำหรับ DW หุ้น และ 10-15 เท่าสำหรับ SET50 DW

 

อัตราทด (Tick) หรือ Sensitivity หมายถึง อัตราการเปลี่ยนแปลงของช่องราคา DW เมื่อราคาหุ้นอ้างอิงเปลี่ยนแปลง 1 ช่องราคา เช่น DW ที่มีอัตราทด (Tick) ใกล้เคียง 1 หมายความว่า เมื่อหุ้นอ้างอิงเปลี่ยนแปลง 1 ช่องราคา ราคา DW จะเปลี่ยนแปลง 1 ช่องราคา ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากของนักลงทุนที่ชอบเก็งกำไร DW ควบคู่ไปกับหุ้นอ้างอิงภายในวัน

 

มูลค่าทางเวลาที่ลดลง (Time Decay)

 

ราคา DW ที่นักลงทุนซื้อขายจะมีมูลค่าทางเวลาอยู่ (Time Value) และมูลค่านี้จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป (Time Decay) โดยปกติแล้ว DW ที่มีอายุคงเหลือไม่มาก จะมีการลดลงของมูลค่าทางเวลามากกว่า DW ที่มีอายุคงเหลือยาวกว่า ทำให้นักลงทุนควรเลือกลงทุนใน DW ที่มีอายุคงเหลืออย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไป

 

ความน่าเชื่อถือของ Market Maker

 

Market Maker มีหน้าที่ในการวาง Bid-Offer ของ DW ตามราคาหุ้นแม่เพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อขาย DW ได้ด้วยสภาพคล่องที่เพียงพอ นักลงทุนควรเลือกผู้ออก DW ที่มีประสบการณ์ยาวนานและมีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ผู้ดูแลสภาพคล่อง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถเทรด DW ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดผันผวนมากๆ

 

Implied Volatility

 

Implied Volatility (IV) เป็นค่าที่ใช้เปรียบเทียบความแพงหรือถูกของราคา DW ที่อ้างอิงบนหุ้นอ้างอิงตัวเดียวกัน ค่า IV สูงหมายถึง DW ตัวนั้นแพงกว่า อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องพิจารณาลักษณะอื่นๆ ของ DW ประกอบด้วยเสมอก่อนที่จะนำ IV มาพิจารณา เช่น DW ตัวหนึ่งมีค่า IV ต่ำก็จริง แต่ถ้าไปดูย้อนหลังมีค่า IV ผันผวน เพราะนักลงทุนไม่จำเป็นต้องเลือก DW ที่ต่ำสุดเสมอไป ควรเน้นเลือก DW ที่มี IV ไม่สูงมากและมี IV ย้อนหลังไม่เปลี่ยนแปลง

 

  1. ความเสี่ยง DW

 

  • ความเสี่ยงด้านราคา DW ที่ผันผวน โดยเฉพาะ DW ที่มีอัตราทดสูง ที่ถึงแม้จะเพิ่มโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงมาก แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจทำให้ขาดทุนได้มากเช่นกัน
  • DW มีอายุจำกัด ทำให้การลงทุนใน DW แตกต่างจากการลงทุนในหุ้นระยะยาว เมื่อเวลาผ่านไปมูลค่าของ DW จะลดลงไปหรือที่เรียกว่า Time Decay นักลงทุนต้องศึกษาถึงผลกระทบเรื่องมูลค่าทางเวลาและอายุของ DW เป็นอย่างดี
  • ความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือของผู้ออกหรือ Credit Risk ของผู้ออก เมื่อนักลงทุนนำ DW ไปใช้สิทธิกับผู้ออก
    นักลงทุนควรเลือกผู้ออก DW ที่มีความน่าเชื่อถือและมีประสบการณ์ยาวนานในการออก DW

 

นอกจาก 7 เรื่องที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความรู้เพิ่มเติมที่นักลงทุนควรทำความเข้าใจเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการเทรด DW ซึ่งนักลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaiwarrant.com/Knowledge/articles

 

หรือสำหรับมือใหม่ที่อยากหัดเทรด DW แต่ยังไม่มีพื้นฐาน ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุน DW ฉบับมือใหม่” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: