หุ้นกลุ่มแบงก์ จุดเริ่มต้นของการฟื้นตัว

โดย ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส
3 Min Read
1 มีนาคม 2564
4.724k views
TSI_Article_123_Inv_หุ้นกลุ่มแบงก์ จุดเริ่มต้นของการฟื้นตัว_Thumbnail
Highlights
  • ตัวเลขผลประกอบการหุ้นกลุ่มแบงก์ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ เนื่องจากต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อที่ไม่ได้รับการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ

  • ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NLPs) อยู่ที่ระดับ 3.40% ซึ่งต่ำกว่าระดับการเพิ่มขึ้นของฐานสินเชื่อ สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่ชัดเจนขึ้น ลูกหนี้มีความสามารถกลับมาชำระหนี้ได้แล้ว

  • นับตั้งแต่ปลายปี 2563 ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่โดยรวมก็ยัง Outperform อยู่ โดยนักวิเคราะห์ได้ประเมินปัจจัยพื้นฐานว่ายังคงเป็นขาขึ้น กำลังทยอยฟื้นตัว และจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้

จากการประกาศผลการดำเนินงานหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ งวดไตรมาส 4 ปี 2563 ปรากฏว่ามีกำไรสุทธิ 31,000 ล้านบาท เติบโต 8% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ปรับลดลง 24% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2562 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ เนื่องจาก Credit Cost หรือ ต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อที่ไม่ได้รับการชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย อยู่ในระดับที่ต่ำ คือ 1.7%

 

เมื่อหันมาดูส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin : NIM) งวดไตรมาส 4 ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 2.84% ปรับลดลงจาก 2.93% ในงวดก่อนหน้า (ไตรมาส 3 ปี 2563) เนื่องจาก NIM ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อ่อนตัวลง จากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ NIM ของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กอยู่ในระดับที่ดี

 

สำหรับภาพรวมกำไรสุทธิของหุ้นกลุ่มธนาคารปี 2563 ทำได้ 135,000 ล้านบาท ปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ทำได้ 197,000 ล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับการปรับมาใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) เป็นปีแรก ส่งผลให้การพิจารณากันเงินสำรองต่างกันตามสถานะหรือชั้น (Stage) ของลูกหนี้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เช่น ตั้งสำรองสินเชื่อที่ถูกจัดชั้นเป็น Stage 2 (กลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย) ปรับสูงขึ้นจากสัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงพิเศษ (Special Mention Loan : SM) ตามมาตรฐานบัญชีเดิม และการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss : ECL) ล่วงหน้า เพื่อรองรับคุณภาพสินทรัพย์หลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ในปีนี้ ผ่านการบริหารหนี้เสีย (Management Overlay)

 

คุณภาพสินทรัพย์ชัดเจนขึ้น

 

สำหรับภาพรวมกลุ่มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NLPs) งวดไตรมาส 4 ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 510,000 ล้านบาท โดยตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของฐานสินเชื่อ ประกอบกับการตัดจำหน่าย (Write off) และขายหนี้ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ รวมถึงคุณภาพลูกหนี้ที่ยังอยู่ในการบริหารจัดการ ทำให้ NPLs Ratio อยู่ที่ระดับ 3.40% ถือเป็นระดับทรงตัวจากช่วงสิ้นปี 2562 และค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) อยู่ที่ระดับ 150% ประกอบกับช่วงสิ้นปีที่แล้ว ยังมีลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือราว 20% ของพอร์ตสินเชื่อ ปรับลดลงจากระดับ 40% ของพอร์ตสินเชื่อ ณ ช่วงไตรมาส 3 ปีที่แล้ว

 

จากภาพรวมดังกล่าว บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่ชัดเจนขึ้น โดยลูกหนี้มีความสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ จึงช่วยลดความเสี่ยงที่จะเจอ (Downside Risk) ต่อการประมาณการกำไรของปีนี้

 

สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งประกาศว่าลูกหนี้ที่ประสบปัญหาในโครงการผ่อนผันหนี้ประมาณ 60% สามารถออกจากโครงการและกลับมาชำระหนี้ภายใต้เงื่อนไขการผ่อนผันชำระก่อน COVID-19 ได้แล้ว หลังจากสิ้นสุดโครงการให้ความช่วยเหลือในเฟสแรกไปแล้วในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา

 

ล่าสุดมีลูกหนี้ประมาณ 20 – 30% ที่ยังต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม ด้วยการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้และขยายเวลาชำระหนี้ให้นานขึ้น ในขณะที่มีลูกหนี้ไม่ถึง 10% ของวงเงินต้นที่มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็น NLPs

 

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ได้ประเมินแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ระลอก 2 ในไทย รวมทั้งการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ “ยังต้องใช้เวลา” และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อรายได้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ จึงประเมินว่าผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขชำระเงินกู้ใหม่ได้และไหลตกชั้นอีกครั้ง (Relapse) เป็น Stage 2 – Stage 3 (ธนาคารต้องตั้ง ECL ราว 30 – 50% ของมูลหนี้) และส่งผลให้ NPLs Ratio ปีนี้มีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

คาดการณ์ผลประกอบการ

 

จากสถานการณ์ของสินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บทวิเคราะห์ บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินว่า อัตราส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองของธนาคาร (Credit Cost) ในปี 2563 ถือว่าเป็นระดับสูงสุดแล้ว และในปีนี้จะปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับสูงกว่าสภาวะปกติ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองเพื่อรองรับ NPLs ที่มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น

 

บทวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) อธิบายว่า ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะมีการตั้งสำรองที่แตกต่างกันออกไป เช่น กำหนดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองเอาไว้ใกล้ 0% เนื่องจากปีที่ผ่านมาได้ตั้งสำรองเอาไว้เพียงพอ และไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองผ่านการบริหารหนี้เสีย ที่สำคัญธนาคารทุกแห่งประเมินว่าอัตราส่วนดังกล่าวได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและมีแนวโน้มจะปรับลดลงในปีนี้

 

สภาวะดังกล่าว บทวิเคราะห์ บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ผลการดำเนินงานของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะใช้เวลา 3 ปีจึงจะกลับคืนสู่ระดับปกติก่อน COVID-19 โดยในปี 2564 คาดว่ากำไรโดยรวมทั้งกลุ่มจะฟื้นตัวขึ้นประมาณ 10% จากปัจจัยการตั้งสำรองสูงอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับ NPLs ขณะที่การปล่อยสินเชื่อยังชะลอตัวและทำให้ NIM ปรับลดลง

 

สำหรับปี 2565 ประเมินว่ากำไรของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเติบโตประมาณ 11% จากปัจจัยการตั้งสำรองลดลง เพราะความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ลดลง ส่วนปี 2566 กำไรจะเติบโตได้สูงถึง 19% เมื่ออัตราส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองกลับคืนสู่ระดับปกติ และโครงสร้างต้นทุนปรับลดลงจากการลงทุนครั้งใหญ่ด้านระบบดิจิทัลแบงก์กิ้งเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

 

สอดคล้องกับบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า กำไรสุทธิหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะทยอยฟื้นตัวในปี 2564 – 2566 เฉลี่ย 11% ต่อปี เป็น 142,000 ล้านบาท, 158,000 ล้านบาท และ 186,000 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

ด้านบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) มองว่า ถึงแม้ว่าการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะยังมีความเสี่ยงด้านการเพิ่มขึ้นของ NPLs และการตั้งสำรอง ขณะที่ NIM และอัตราการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมชะลอตัว แต่ธนาคารทุกแห่งมีการปรับตัวเพื่อทำให้เกิดความแข็งแกร่ง เช่น ความสามารถในการหารายได้เพิ่มจากตลาดทุน การให้บริการใหม่ๆ เช่น ธุรกิจ Wealth Management รวมถึงความสามารถในการประหยัดต้นทุน เป็นต้น

 

สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคและวิธีการคัดกรองหุ้นด้วยตนเองผ่านโปรแกรม SETSMART พร้อมเจาะลึกลักษณะของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม และปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการวิเคราะห์หุ้นในอุตสาหกรรมนั้นๆ เพื่อตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร Stock Screening & Sector Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

นอกจากนี้ สำหรับมือใหม่ที่สนใจหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยอยากเข้าใจตั้งแต่พื้นฐานของอุตสาหกรรม การวิเคราะห์รายการที่สำคัญ โครงสร้างและการอ่านงบการเงิน การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินของหุ้นกลุ่มนี้ ด้วยคำอธิบายและตัวอย่างประกอบที่เข้าใจง่าย สามารถอ่านได้ในหนังสือวิเคราะห์หุ้นราย Sector : หุ้นกลุ่มธนาคาร เขียนโดยคุณอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ นักวิเคราะห์ธุรกิจการเงินยอดเยี่ยมแห่งปี 2018 โดยทดลองอ่านหรือสั่งซื้อ ได้ที่ >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: