จับชีพจรแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2564

โดย นารินทิพย์ ท่องสายชล ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
4 Min Read
1 มีนาคม 2564
15.816k views
TSI_Article_122_Inv_จับชีพจรแนวโน้มเศรษฐกิจโลก_Thumbnail
Highlights
  • แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ประมาณ 2-3% ซึ่งเป็นการปรับลดลงมาจากก่อนหน้าที่คาดการณ์ไว้ที่ 3-4% โดยมีปัจจัยหลักอยู่ 2 ประเด็น คือ ระยะเวลาในการรับมือ COVID-19 ระลอกใหม่ และการฉีดวัคซีน

  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะขยายตัวได้ 5.1% เพราะเริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้ว และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงการได้อานิสงค์จากเงินออมภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

  • เศรษฐกิจจีนยังคงเป็นความหวังของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าจะเติบโตประมาณ 8.1% ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่น จะฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย และคาดว่าทั้งสองจะใช้ระยะเวลาฟื้นตัวนานกว่าที่เศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับเดิม

ในช่วงต้นปี 2564 ธนาคารโลก (World Bank) ได้ออกมาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะเติบโตประมาณ 4% ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตประมาณ 5.5% รวมถึงยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะเติบโตช้าลงหรือน้อยลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 4% ตอนนี้ปรับลดลงมาเหลือ 2.7% เรียกได้ว่าปีนี้ยังคงเป็นอีกปีแห่งความท้าทายของเศรษฐกิจทั่วโลก อีกทั้งเป็นปีแห่งการต้องรีบแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19

 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564


ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า “ตอนแรกเราประเมินไว้ว่าน่าจะโตได้ประมาณ 3-4% เพราะมองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 สามารถควบคุมได้ แต่เมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพราะว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังคงเดินทางมาไม่ได้ อีกทั้งวัคซีนที่จะมาถึงในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ยังมีปริมาณค่อนข้างจำกัด โดยจะเริ่มฉีดได้ในวงกว้างในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยคงจะใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ ดังนั้น ในปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ประมาณ 2-3%”

 

โดยปัจจัยที่จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ดร.กิริฎา มองว่า เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้ค่อนข้างไม่แน่นอน ดังนั้น ปัจจัยที่ต้องจับตามอง คือ ระยะเวลาในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ เนื่องจากครั้งนี้รัฐบาลมีความห่วงใยด้านเศรษฐกิจ จึงไม่ได้ล็อคดาวน์ทั้งประเทศเหมือนกับเมื่อไตรมาส 2 ของปี 2563 เพราะฉะนั้นโอกาสที่คนติดเชื้อ COVID-19 จะแพร่เชื้อก็ยังมีอยู่ในประเทศ และไม่แน่ใจว่าการควบคุมการระบาดระลอกใหม่นี้จะใช้ระยะเวลานานเท่าใด

 

อีกปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน ก็คือ การที่คนไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายซึ่งอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เพราะตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ คือ จะฉีดวัคซีนให้คนไทย 50% ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 66 ล้านโดส (1 คนจะต้องใช้ 2 โดส) ให้ได้ภายในปีนี้ และถึงแม้ว่าคนไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนครบ 50% แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า COVID-19 จะจบ เพราะยังมีคนไทยอีก 50% ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือนหลังจากที่ 50% แรกได้รับวัคซีนแล้ว กว่าที่ 50% หลังจะมีภูมิคุ้มกัน หรือเรียกว่า “ภูมิคุ้มกันหมู่” (Herd Immunity)

 

หากคนไทยยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ เศรษฐกิจก็จะยังคงไม่ลื่นไหลเหมือนเดิม การเดินทางระหว่างประเทศจะยังมีอุปสรรค ทำให้การท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว และคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่เศรษฐกิจจะกลับไปเท่าระดับปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยกว่า 40 ล้านคน

 

นอกจากนี้ ดร.กิริฎา ยังวิเคราะห์ต่อว่า ยังมีปัจจัยภายนอกที่อาจกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้ นั่นก็คือ นโยบายของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โดยหลายๆ นโยบาย ดร.กิริฎา มองว่าน่าจะเป็นผลบวกต่อประเทศไทย เช่น การส่งเสริมการค้าขายที่เป็นมิตรมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีนโยบายที่น่าจับตามอง เช่น นโยบาย Buy American ที่สนับสนุนให้ประชาชนอเมริกัน ซื้อสินค้าอเมริกัน มากกว่าที่จะซื้อสินค้าจากต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยอาจจะไม่ได้ผลิตสินค้าเพื่อขายให้สหรัฐอเมริกาโดยตรง แต่อาจจะเป็น Supply Chain บางสินค้า อาจทำให้ได้รับผลกระทบทางอ้อม และหากประชาชนอเมริกันรู้สึกว่าควรซื้อสินค้าที่ผลิตในอเมริกามากขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยในระยะยาว

 

อีกทั้ง โจ ไบเดน ยังให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่อง นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เพราะเชื่อในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ดังนั้น การลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับแรกๆ ของเขา จึงได้ลงนามนำสหรัฐอเมริกากลับเข้าสู่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการแก้ปัญหาโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งอาจจะมีเงินมาสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้มีพลังงานสะอาด มีธุรกิจพลังงานสีเขียว จึงเป็นผลบวกต่อไทย

 

ในขณะเดียวกัน จากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ประเด็นคาร์บอนจะเป็นเรื่องสำคัญด้วย เช่น หากสินค้าอะไรที่สหรัฐอเมริกาซื้อจากประเทศอื่น ต้องมี Carbon Footprint ที่ต่ำ ถ้าสินค้าใดมี Carbon Footprint ที่สูงก็อาจจะมีกฎหมายไม่ให้นำเข้า

 

“ประเด็นนี้อาจกระทบประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยได้ ดังนั้น ไทยต้องเตรียมตัวว่า สินค้าใดที่ผลิตและส่งไปสหรัฐอเมริกา มีอะไรที่ทำให้มี Carbon Footprint สูงบ้าง ให้เตรียมการแก้ไข” ดร.กิริฎา กล่าว

 

ประเด็นถัดมาที่ โจ ไบเดนให้ความสนใจ คือ สิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่ไทยก็ต้องจับตามอง เพราะอะไรที่สหรัฐอเมริกา มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาได้ รวมถึงเรื่องการค้าขายเพราะสหรัฐอเมริกา พยายามดูว่าประเทศไหนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) เพราะฉะนั้นประเทศไทยต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

 

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา


ดร.กิริฎา กล่าวว่า หากดูจากที่ IMF ได้ออกมาคาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา จะขยายตัว 5.1% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อ 6 เดือนที่แล้วว่าจะขยายตัวที่ 3.1% ด้วยเหตุผลหลักมาจากการเริ่มฉีดวัคซีน ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายว่า ประชาชนอเมริกันทั้งหมดจะได้รับการฉีดวัคซีนภายในปีนี้ รวมถึงเรื่องนโยบายการคลังที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจจะไม่ได้ผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรสได้ทั้งหมด แต่ถ้าผ่านงบประมาณได้บางส่วนก็จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

 

อีกทั้งประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมาก ก็คือ “ในช่วงที่มี COVID-19 เงินออมของภาคครัวเรือนในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น เพราะคนเน้นเก็บออม ดังนั้น ถ้าสถานการณ์ COVID-19 ผ่อนคลายลง คนอเมริกันสามารถออกไปจับจ่ายใช้สอยได้ ก็เชื่อว่าภาคการบริโภคก็จะได้อานิสงค์หรือผลบวกจากเงินออมภาคครัวเรือนที่เก็บไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว”

 

ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ยังคงต้องจับตามอง คือ นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกากับจีน เพราะจะส่งผลต่อการค้าระหว่างสองประเทศ และอาจส่งผลกระทบทางอ้อมกับไทยด้วย เช่น ในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ จีนส่งออกไปสหรัฐอเมริกาน้อยลง จีนจึงสั่งซื้อวัตถุดิบจากไทยน้อยลง และก็ยังมีประเด็นสงครามเทคโนโลยี (Tech War) ซึ่งโจ ไบเดน ประกาศว่าจะไม่เลิกพยายามสกัดกั้นเทคโนโลยีของจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อไทยในแง่ที่ว่า ถ้าจะซื้อเทคโนโลยี ไทยจะสร้างความสมดุลอย่างไรระหว่างเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกากับเทคโนโลยีจากจีน

 

เศรษฐกิจจีน


ประเทศจีนถือเป็นความหวังของเศรษฐกิจโลก เพราะในปีที่ผ่านมาสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ก่อนประเทศอื่น จึงสามารถเปิดประเทศและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำให้เติบโตได้ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เศรษฐกิจติดลบหรือหดตัว มาในปีนี้เศรษฐกิจจีนก็ยังคงจะโตต่อไปจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโต 8.1% ซึ่งทำให้ไทยได้รับอานิสงค์ทางบวกไปด้วย เนื่องจากมีการค้าขายกับจีนค่อนข้างเยอะ จึงสามารถขยายการส่งออกไปจีนได้ในปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรจับตา ก็คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการอัดฉีดเงินของภาครัฐเข้าไปค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจจีนโตได้ในปีที่แล้วเป็นการลงทุนจากภาครัฐ ไม่ใช่การบริโภคของภาคครัวเรือน ดังนั้น การบริโภคของภาคครัวเรือนจีนในปีนี้จะฟื้นแล้วหรือไม่ รวมถึงสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีจะเป็นอย่างไร ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม” ดร.กิริฎา กล่าว

 

เศรษฐกิจยุโรป


ในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจยุโรปหดตัวไปค่อนข้างมาก โดย IMF คาดการณ์ว่า ปีนี้จะเติบโตประมาณ 4.2% และเมื่อแต่ละประเทศมีปัญหาที่ไม่เหมือนกัน การฟื้นตัวจึงต้องใช้เวลานาน แต่ที่น่าสนใจคือ Brexit โดยระหว่างที่อังกฤษรอ Brexit ก็ได้ทำสนธิสัญญาทางการค้ากับ 91 ประเทศ เนื่องจากตระหนักดีว่า เมื่อออกจากสหภาพยุโรปแล้วจะไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ทาง EU มีกับประเทศสมาชิก

 

“อังกฤษเองค่อนข้างกระตือรือร้นในการทำการค้ากับโลก ที่สำคัญอังกฤษอยากจะเข้าร่วม CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยกำลังพยายามจะทำให้เกิดขึ้น” ดร.กิริฎา กล่าว  

 

เศรษฐกิจญี่ปุ่น


เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีการฟื้นตัวคล้ายยุโรป คือ ฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย โดย IMF คาดการณ์ว่า ปีนี้จะขยายตัวประมาณ 3.1% เพราะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะการเลื่อนการจัดงาน “โตเกียวโอลิมปิก” ซึ่งญี่ปุ่นลงทุนไปเยอะมาก มาในปีนี้ประกาศว่าจะจัดกีฬาโอลิมปิกในเดือนกรกฎาคม แต่ก็ต้องดูสถานการณ์และความเป็นไปได้ว่าจะจัดได้หรือไม่ ประกอบกับเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกประเทศค่อนข้างเยอะ เพราะเป็นสังคมสูงวัย การบริโภคภายในประเทศจึงไม่ได้เยอะ ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจโลกกลับมาดีขึ้นเมื่อไหร่ เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็จะดีตามไปด้วย

 

ความท้าทายของเศรษฐกิจไทย


ดร.กิริฎา ได้ฉายภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก จึงประเมินว่า ปีนี้ก็ยังเป็นอีกปีที่ท้าทาย โดยเศรษฐกิจไทยอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวจนถึงปลายปี 2565 กว่าที่เศรษฐกิจจะกลับไปสู่ระดับเดิมที่เท่ากับปี 2562 และสิ่งที่ต้องจับตา คือ หากต้องเผชิญกับเศรษฐกิจในลักษณะนี้ไปอีก 2 ปี ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คือ ผู้ที่ไม่ได้มีรายได้ ผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร จะได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก

 

“อาจมี SMEs ปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก รวมถึงแรงงานที่ตกงานหรือที่มีชั่วโมงการทำงานน้อยลง ทักษะการทำงานบางอย่างอาจหายไป ดังนั้น เมื่อ COVID-19 จบลง เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และเห็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้น เราจึงต้องหมั่นพัฒนาทักษะ ดูแลสุขภาพ เพื่อให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น” ดร.กิริฎา กล่าวทิ้งทาย

 

มาถึงตรงนี้ ทุกท่านคงจะเห็นภาพเหมือนกันว่า เศรษฐกิจไทยต่อจากนี้ไปคงไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ดังนั้น มาใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้เทคนิคและวิธีการวางแผนจัดการเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อเตรียมพร้อมรับทุกสภาวะเศรษฐกิจและบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจไว้ได้ ผ่านการเรียนรู้ e-Learning หลักสูตร “เงินทองต้องวางแผน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ: บทความนี้เรียบเรียงเนื้อหาจากงานสัมมนา Maruey Talk ตอน "จับชีพจรเศรษฐกิจโลกปี 64 สู้วิกฤติ COVID-19” ณ วันที่ 27 ม.ค. 2564 โดย ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แท็กที่เกี่ยวข้อง: