หากย้อนอดีตไปสัก 40 ปีที่แล้ว ใครจะเชื่อว่าจีนจะกลับมาเป็นมหาอำนาจของโลกได้อีกครั้ง เพราะเมื่อปี 2523 จีนมีขนาด GDP เพียง 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพียง 7% ของ GDP สหรัฐฯ แต่ในปี 2565 จีนมีขนาด GDP ถึง 17.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 77% หรือมากกว่า 3 ใน 4 ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั่นหมายถึงช่องว่างระหว่างขนาดของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังลดลง และมีโอกาสที่พญามังกรตัวนี้จะก้าวขึ้นมาแซงสหรัฐฯ ได้ในอนาคต
ในเชิงโครงสร้าง จีนได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคของ “เหมา เจ๋อ ตุง” ที่เน้นภาคอุตสาหกรรม ต่อมาในยุคของ “เติ้ง เสี่ยวผิง” ที่เน้นเปิดประเทศรับเงินลงทุนจากต่างชาติ จนมาถึงยุคของ “สี จิ้นผิง” ที่เน้นการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความสมดุลในสังคมจีน เพื่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว โดยหนึ่งในนโยบายหลักที่สร้างความสะเทือนไปยังตลาดหุ้นจีน – ฮ่องกงในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา คือ การจัดระเบียบกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี ตามหลักการ “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน หรือ Common Prosperity”
ในด้านนโยบายรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จีนถือเป็นประเทศที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจาก สี จิ้นผิง ยังไม่ได้ยกเลิกนโยบาย “Zero-COVID” โดยหากเริ่มมีสัญญาณผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รัฐบาลจะทำการล็อกดาวน์ทันที ทำให้นโยบายดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนดาบสองคม กล่าวคือ แม้จีนอาจจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี แต่การล็อกดาวน์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ จึงมีกระแสข่าวลือความขัดแย้งระหว่าง สี จิ้นผิง และ นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากฝั่งนายกฯ ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลี่ เค่อเฉี่ยง ได้ประกาศว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อ หากครบวาระที่ 2 ในปี 2566 ขณะที่ สี จิ้นผิง ดูเหมือนว่าจะปูทางให้ตัวเองได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 (ดำรงตำแหน่งอีก 5 ปี) ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นจีน – ฮ่องกงจะปรับตัวลดลงในช่วง 16 เดือนที่ผ่านมา หลังได้รับแรงกดดันจาก 2 นโยบายหลักที่กล่าวไปข้างต้น โดยดัชนี CSI 300 ที่สะท้อนภาพรวมของตลาดหุ้นจีน (A-share) ได้ปรับลดลงไปแล้วกว่า 25% นับจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 ขณะที่ ดัชนีฮั่งเส็ง (HSI) ที่สะท้อนถึงหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นฮ่องกง ได้ปรับลดลงกว่า 30% ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ดี ประเมินว่าจุดต่ำสุดในเชิงนโยบายได้ผ่านพ้นไปแล้ว จากเหตุการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้
สังเกตว่า สิ่งที่กดดันตลาดหุ้นจีน – ฮ่องกง มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้ดัชนี CSI 300 และดัชนีฮั่งเส็ง เริ่มฟื้นตัวจากวันที่รองนายกฯ จีนออกแถลงการณ์ครั้งสำคัญเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ราว 9% และ 15% ตามลำดับ ขณะที่ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ ปรับลดลงกว่า 12% ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ นโยบายการเงินและการคลังของทั้งสองประเทศ ยังถือว่าสวนทางกันด้วย โดยจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายต่อเนื่อง เช่น ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ขณะที่ สหรัฐฯ เข้มงวดกว่ามาก โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.75% และยังมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องในปีนี้
ทั้งนี้ ขวากหนามด้านนโยบายเดียวที่ยังเหลืออยู่ในตลาดหุ้นจีน - ฮ่องกง คือ นโยบาย Zero-COVID ซึ่งหากถูกยกเลิกไปได้ ประเมินว่าตลาดหุ้นจะกลับมาวิ่งขึ้น (Bull Market) อย่างเต็มรูปแบบ ถ้าเป็นเช่นนั้น หากนักลงทุนเริ่มมีความสนใจที่จะลงทุนในตลาดหุ้นจีน – ฮ่องกงมากขึ้น สามารถลงทุนได้ผ่านตลาดหุ้นไทย คือ DR โดยมี 3 DR ที่มีให้เลือกลงทุน ดังนี้
เป็น DR ที่อ้างอิงการลงทุนในดัชนี CSI 300 ที่ประกอบด้วยหุ้น A-share ขนาดใหญ่ 300 ตัว ในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น โดยสัดส่วนอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่ การเงิน (20%), อุตสาหการ (16%) และสินค้าอุปโภคบริโภค (15%) ขณะที่หุ้นที่มีสัดส่วนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Kweichow Moutai (7%) ผู้ผลิตสุราอันดับ 1 ของจีน / Contemporary Amperex Technology (4%) หรือ CATL เป็นเจ้าตลาดผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Lithium-Ion) และ Ping An Insurance (3%) บริษัทประกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน
เป็น DR ที่อ้างอิงการลงทุนในดัชนี STAR 50 ที่ประกอบด้วยหุ้นขนาดใหญ่ 50 ตัว บนกระดาน STAR เน้นไปที่หุ้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม A-share เปรียบเสมือนตลาดน้องใหม่ที่พร้อมก้าวขึ้นเป็นตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำอย่าง NASDAQ ของสหรัฐอเมริกาในอนาคต โดยสัดส่วนอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่ เทคโนโลยี (61%) อุตสาหการ (11.4%) และการแพทย์ (11.2%) ขณะที่หุ้นที่มีสัดส่วนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ SMIC (8%) ผู้ผลิตชิปอันดับ 1 ของจีน / Trina Solar (6%) ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ชั้นนำของโลก และ Advanced Micro-Fabrication Equipment (4%) หรือ AMEC เป็นผู้ผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการผลิตชิป โดยลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท ได้แก่ TSMC, SMIC, Intel เป็นต้น
เป็น DR ที่อ้างอิงการลงทุนในดัชนี Hang Seng Tech ที่ประกอบด้วยหุ้นเทคโนโลยี 30 ตัว ในตลาดหุ้นฮ่องกง โดยสัดส่วนอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่ เทคโนโลยี (78%) สินค้าฟุ่มเฟือย (9%) และอุตสาหการ (7%) ขณะที่หุ้นที่มีสัดส่วนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Meituan (10%) เจ้าของแอปพลิเคชันขนส่งอาหารและจองโรงแรม ร้านอาหารและท่องเที่ยว / Alibaba (9%) E-commerce ที่ใหญ่ที่สุดในจีน เจ้าของ Taobao, Tmall, Lazada และ Tencent (8%) บริษัทเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นเจ้าของ WeChat โซเชียลมีเดียอันดับ 1 ของจีน
กล่าวโดยสรุป DR ทั้ง 3 ตัว ถือเป็นเครื่องมือชั้นดีในการกระจายการลงทุนไปยังตลาดหุ้นจีน – ฮ่องกง ผ่านกลไกตลาดหุ้นไทย โดยหากเชื่อว่าฟ้าหลังฝนย่อมมีความสดใส และในวันที่ความเชื่อมั่นหุ้นจีน – ฮ่องกงกลับมา อาจเป็นตลาดการลงทุนที่น่าสนใจและสร้างผลตอบแทนในระดับที่น่าประทับใจ
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ อยากเรียนรู้และทำความเข้าใจการลงทุน DR ตลอดจนกลไกการเคลื่อนไหวของราคา วิธีการซื้อขาย และกลยุทธ์การลงทุนใน DR เพื่อกระจายการลงทุน และสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุน DR ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่