อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เร่งตัวแรงต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75% ในรอบการประชุม FOMC เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับ 0.75% อีกในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่แรงเช่นนี้เพื่อหวังลดแรงกดดันจากฝั่งอุปสงค์ หรือเพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ทำให้คนชะลอการบริโภคและการลงทุน และหวังดึงอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า แต่พออัตราดอกเบี้ยพุ่งแรง และอาจแตะที่ระดับ 3.50% ในช่วงปลายปีนี้ นักลงทุนก็มีความกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวแรงจนเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ แม้ในช่วงนี้เฟดจะให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อมากกว่าการรักษาระดับการจ้างงาน แต่เฟดคงไม่น่าจะตั้งใจกดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ชะลอหนักจนเกิดปัญหาการว่างงานที่รุนแรงจนเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะวิกฤติ และน่าจะเป็นการชะลอตัวหรือภาวะถดถอยเพียงชั่วคราว แต่เมื่อมีความกังวลในความไม่แน่นอนเหล่านี้ นักลงทุนจะยังลงทุนได้หรือไม่ในช่วงที่เฟดอัดยาแรงด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเร็วเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
เฟดกำลังจะชะลอการเหยียบเบรก
ผมมองว่า เมื่ออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ น่าจะใกล้แตะระดับสูงสุดในช่วงต้นไตรมาส 3 นี้ เฟดน่าจะเริ่มพิจารณาความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ควบคู่ไปด้วย แม้เฟดยังคงจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพด้านราคาต่อเนื่องในปีนี้ แต่เฟดไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงจาก 0.75% เป็น 1.0% หรือแม้แต่คงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับนี้ไว้ แต่เฟดน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง คือลดลงจาก 0.75% เป็น 0.5% ในรอบการประชุม FOMC ในเดือนกันยายน และน่าจะปรับลงจาก 0.5% เป็น 0.25% ในแต่ละรอบการประชุมเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม
แม้ปลายปีนี้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อาจจะอยู่ที่ 3.5% แต่การเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือปัจจัยที่ตลาดกังวลน่าจะผ่านไปแล้ว หรือตลาดรับรู้ข่าวเหล่านี้ไปมากแล้ว และการลดความร้อนแรงในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เพียงแต่นักลงทุนอาจจะยังกังวลในการเข้าไปลงทุนในตลาดสหรัฐฯ ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้เพราะอาจรอการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งนักลงทุนอาจจับตามองประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะปัญหาราคาพลังงานที่น่าจะกดดันเศรษฐกิจยุโรปได้อยู่ในระยะนี้ แล้วนักลงทุนจะลงทุนอะไรได้บ้างท่ามกลางความผันผวน?
3 ธีมการลงทุน รับมือความผันผวน
หากเฟดยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจถดถอย หรือเกิด Recession จะมีมากขึ้น แต่ผมมองว่าเฟดไม่น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องทั้งปี และน่าจะทยอยลดความร้อนแรงลงได้หากอัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลง เพราะเฟดคงไม่อยากเป็นแพะรับบาปหรือต้นตอที่ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานหรือปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ แต่ในช่วงที่มีความผันผวนในเดือนกรกฎาคมนี้ นักลงทุนน่าจะปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดสหรัฐฯ และยุโรป และหันมาลงทุนในตลาดแถบเอเชียที่มีพื้นฐานดีและมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อต่ำ โดย 3 ธีมการลงทุนที่น่าสนใจ มีดังนี้
หลังรัฐบาลจีนเริ่มคลายล็อกดาวน์และมีมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมทั้งการลดความเข้มงวดในกิจกรรมด้านไอทีหรือกลุ่มเทคโนโลยีในจีน ซึ่งนักลงทุนน่าจะมองเป็นโอกาสกลับเข้าไปสะสมหุ้นกลุ่มนี้ โดยเฉพาะด้านปัจจัยพื้นฐานหรือ Valuation ที่น่าสนใจกว่ากลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯ รวมทั้งมองว่าจีนน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือสามารถลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก โดยเฉพาะเมื่ออัตราเงินเฟ้อของจีนยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งนักลงทุนอาจเริ่มหาโอกาสกระจายการลงทุนจากกลุ่มเทคโนโลยีในจีนไปยังกลุ่มอุปโภคและบริโภคอื่น ๆ ในจีนได้เพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 3 นี้ หลังเห็นสัญญาณการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลจีนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ตลาดหุ้นเวียดนามมีความผันผวนแรงในช่วงไตรมาส 2 จากมาตรการควบคุมการปั่นราคาหุ้นและการตรวจสอบที่เข้มงวดจากทางการเวียดนาม ซึ่งแม้จะเป็นปัจจัยลบต่อตลาด แต่น่าจะเป็นการปัดกวาดความไม่เรียบร้อยเพื่อความสงบและโอกาสในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในอนาคต โดยเวียดนามมีโอกาสเติบโตสูงจากการส่งออกและการเปิดประเทศรับการลงทุนและการท่องเที่ยว อีกทั้งปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ ที่น่าจะเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มบริโภคในเวียดนามที่เติบโตได้ดีที่ล้วนเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ รวมไปถึงการใช้นโยบายการเงินและนโยบายคลังของภาครัฐ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หรือเรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม ตลอดจนเทคนิคในการปรับกลยุทธ์เปลี่ยนกลุ่มลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนตามวงจรเศรษฐกิจ การเติบโตของกลุ่มธุรกิจ หรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้น ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการและสามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่