สินทรัพย์ดิจิทัลกับการลงทุนในตลาดหุ้น

โดย รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง
3 Min Read
11 กรกฎาคม 2565
5.948k views
Inv_สินทรัพย์ดิจิทัลกับการลงทุนในตลาดหุ้น_Thumbnail
Highlights

สินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นมิติใหม่แห่งการลงทุน และด้วยความคาดหวังผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง ทำให้หลายคนเริ่มหันมาสนใจที่จะลงทุนกันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผลตอบแทนที่สูงก็มาพร้อมกับความเสี่ยงสูงเช่นกัน ซึ่งหากนักลงทุนต้องการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล การลงทุนผ่านตลาดหุ้นอาจมีความเสี่ยงน้อยกว่า ด้วยการลงทุนผ่าน ETF หรือ DR

ปัจจุบันโลกของการลงทุนเปิดกว้างขึ้นมาก มีทางเลือกการลงทุนในสินทรัพย์มากมายที่ไม่ได้จำกัดแค่หุ้น กองทุนรวม ตราสารหนี้ ทองคำ หรืออสังหริมทรัพย์ ล่าสุดคือ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนและกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตลงทุน

 

สินทรัพย์ดิจิทัล คือ หน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่แสดงมูลค่าเหมือนสินทรัพย์ทั่วไป ถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ จึงจับต้องไม่ได้ด้วยมือเปล่า แต่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนความเป็นเจ้าของได้ โดยใจความสำคัญ คือ เป็นการแลกเปลี่ยนแบบไม่ต้องผ่านตัวกลาง (Decentralized Finance: DeFi) แลกเปลี่ยนกันผ่านโลกออนไลน์ที่ทำงานผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) แตกต่างกับสิ่งที่คุ้นเคยกันอย่างเงินสดหรือเงินฝากที่มีตัวกลาง (Centralized Finance) เป็นธนาคารหรือสถาบันการเงิน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลสามารถซื้อขายได้ 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ แบบไม่มีวันหยุด

 

สินทรัพย์ดิจิทัล แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก

  1. คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin, Ethereum, Dogecoin เป็นต้น โดยคริปโทเคอร์เรนซี ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) สินค้า บริการ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ด้วยกันเอง อย่างไรก็ดี คริปโทเคอร์เรนซี อาจยังไม่มีมูลค่าในตัวเองหรือจับต้องได้เหมือนทองคำ นอกจากความคาดหวังที่นักลงทุนซื้อเพื่อนำไปขายในราคาที่สูงกว่าให้กับผู้อื่น อีกทั้ง ยังมีความผันผวนสูงมากอันเนื่องมาจากความนิยมในการลงทุนแบบเก็งกำไร ส่งผลให้ยังไม่ได้เป็นที่รับรองอย่างเป็นทางการในการเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน

 

  1. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีสินทรัพย์จริงหนุนหลัง มีลักษณะคล้าย Asset Backed Securities (ABS) ที่ให้สิทธิผู้ลงทุนในกิจการหรือโครงการ เช่น สิทธิจากส่วนแบ่งรายได้ เป็นต้น ต่างจากคริปโทเคอร์เรนซี ที่ไม่ให้สิทธิแก่ผู้ถือ โดยโทเคนสามารถออกเสนอขายได้ผ่านกระบวนการ Initial Coin Offering (ICO) ซึ่งนักลงทุนจะรู้แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ออก ทั้งนี้ ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) อาจมีลักษณะบางส่วนคล้ายกับโทเทนดิจิทัล โดยนักลงทุนที่ซื้อ DR จะได้สิทธิที่จะได้รับผลตอบแทนเสมือนถือหลักทรัพย์ต่างประเทศที่นำมาอ้างอิง

 

  1. โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) สามารถเสนอขายด้วยวิธีแบบ ICO ได้เช่นกัน โดยจะให้สิทธิแก่ผู้ถือในสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งแบ่งออกเป็น Utility Token แบบพร้อมใช้กับไม่พร้อมใช้ โดยแบบพร้อมใช้จะมีลักษณะคล้ายคูปอง (Voucher) ที่ผู้ถือสามารถนำไปแลกสิทธิตามที่กำหนด ส่วนแบบไม่พร้อมใช้ ผู้ขายจะต้องทำการระดมทุนก่อน แล้วจึงนำเงินที่ระดมได้ไปพัฒนาสินค้าและบริการ

 

แม้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลจะสร้างโอกาสมากมาย แต่ก็มีข้อจำกัดที่นักลงทุนควรพิจารณาก่อนลงทุน เช่น นักลงทุนจะต้องทำการเปิดบัญชีใหม่กับผู้ให้บริการด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะไม่สามารถใช้บัญชีร่วมกับบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ทั่วไปได้ หรือการที่สินทรัพย์ดิจิทัลไม่มีศูนย์กลาง กล่าวคือ ไม่ได้ซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ อาจทำให้การควบคุมดูแลโดยทางการหรือภาครัฐอาจไม่ทั่วถึงเท่ากับสินทรัพย์อย่างหุ้น ETF หรือ DR ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้ง ในด้านของสภาพคล่องก็ถูกสร้างโดยผู้ให้บริการนั้น ๆ เท่านั้น

 

ด้วยข้อจำกัดข้างต้น ส่งผลให้ธนาคารกลางในหลายประเทศมีนโยบายสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง เช่น Central Bank Digital Currency (CBDC) ของสหรัฐอเมริกา หรือ Digital Yuan (e-RMB) ของจีน สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีนโยบายออกสกุลเงินดิจิทัลโดยใช้ชื่อว่า CBDC เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนได้เข้าถึงสกุลเงินดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยมากขึ้น โดย CBDC แบ่งการทำธุรกรรมหลักออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ การทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) ซึ่งได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2561 และการทำธุรกรรมสำหรับรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDC) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวในวงจำกัด ภายในไตรมาส 4 ปี 2565

 

เมื่อทราบถึงรายละเอียดและคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว หากนักลงทุนต้องการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านตลาดหุ้น ซึ่งอาจมีความเสี่ยงน้อยกว่าดังเหตุผลที่ได้กล่าวไป สามารถเลือกลงทุนได้ผ่าน ETF ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • ProShares Bitcoin Strategy ETF (BITO) อ้างอิงสกุลเงินดิจิทัล Bitcoin โดยมีค่าธรรมเนียมการจัดการอยู่ที่ 0.95% ต่อปี
  • Siren Nasdaq NexGen Economy ETF (BLCN) อ้างอิงบริษัทที่มีการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain เช่น Coinbase, Block Inc, PayPal เป็นต้น ขณะที่ค่าธรรมเนียมการจัดการอยู่ที่ 0.68% ต่อปี
  • Global X Blockchain & Bitcoin Strategy ETF (BITS) อ้างอิงสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในสกุลเงินดิจิทัล Bitcoin ที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ และลงทุนในบริษัทที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี Blockchain เช่น Coinbase, Riot Blockchain เป็นต้น ด้านค่าธรรมเนียมการจัดการอยู่ที่ 0.65%
  • Bitwise Crypto Industry Innovators ETF (BITQ) อ้างอิงบริษัทที่ให้บริการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลและบริษัทที่มีธุรกิจขุดคริปโทเคอร์เรนซี เช่น MicroStrategy, Silvergate Capital เป็นต้น ส่วนค่าธรรมเนียมการจัดการอยู่ที่ 0.85% ต่อปี

 

หรืออีกทางเลือกหนึ่ง นักลงทุนสามารถลงทุนใน DR NDX01 ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งอ้างอิงดัชนี Nasdaq 100 ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นกัน เช่น Tesla ที่มีสัดส่วนการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี หรือ PayPal ที่มีธุรกิจให้บริการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลและมีการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain เป็นต้น

 

โดยสรุป การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความน่าสนใจแต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงที่สูงมาก ซึ่งต่างจากหุ้นหรือ ETF ที่ซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์และมีประวัติดำเนินการมายาวนาน เช่น ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา มีอายุมากกว่า 200 ปี หรือตลาดหุ้นไทยก็ก้าวเข้าสู่ปีที่ 48 ขณะที่ผู้ให้บริการด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลยังมีอายุเพียง 5 ปี ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ว่าจะสร้างความน่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


หากสนใจลงทุน สามารถติดต่อสอบถามตัวกลางในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) โดยนักลงทุนสามารถตรวจเช็ครายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตได้ >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: