สกุลเงินดิจิทัล รอเวลาพิสูจน์ทดแทนทองคำและชนะเงินเฟ้อ

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
2 Min Read
1 กรกฎาคม 2565
2.075k views
Inv_สกุลเงินดิจิทัล รอเวลาพิสูจน์ทดแทนทองคำและชนะเงินเฟ้อ_Thumbnail
Highlights

2 – 3 ปีที่ผ่านมา หากลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลจะได้รับผลตอบแทนที่สูงมาก แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีช่องโหว่เกิดขึ้น ทำให้เส้นทางของสกุลเงินดิจิทัลเริ่มไม่สดใส และชะงักลง ส่วนความเชื่อที่ว่าสกุลเงินดิจิทัลคล้ายกับการลงทุนในทองคำและอาจทดแทนกันได้ รวมถึงในสถานการณ์เช่นนี้จะเป็นสินทรัพย์ที่มีโอกาสชนะเงินเฟ้อได้หรือไม่ มาหาคำตอบกัน

นักลงทุนที่ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) เพื่อกระจายความเสี่ยง หรือเพื่อปกป้องความมั่งคั่งจากเงินเฟ้อ อาจต้องทบทวนอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาพบว่า ราคาสกุลเงินดิจิทัลโดยส่วนใหญ่ได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ ราคาสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์กลับวิ่งสวนทางกับราคาทองคำ และนับวันยิ่งไปคนละทางอย่างชัดเจน

 

ทัตพงศ์ วงศ์สินธน นักวิเคราะห์ Wealth Management Research บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ติดตามสภาวะการลงทุนในตลาดสกุลเงินดิจิทัล ล่าสุดพบว่า สกุลเงินดิจิทัลไม่ได้เป็นสินทรัพย์ในการลงทุนเพื่อปกป้องความมั่งคั่งจากเงินเฟ้อ (Inflation Hedge) เนื่องจากการเคลื่อนไหวของราคาสกุลเงินดิจิทัล เช่น บิตคอยน์ไม่ได้มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราเงินเฟ้อหรือราคาทองคำ

 

“ผมยังคงเชื่อมั่นในทองคำว่ายังคงเป็นสินทรัพย์ที่ใช้ปกป้องความมั่งคั่งจากเงินเฟ้อได้” ทัตพงศ์ กล่าว

Inv_สกุลเงินดิจิทัล รอเวลาพิสูจน์ทดแทนทองคำและชนะเงินเฟ้อ_01

แม้แต่ Stablecoin ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลประเภทหนึ่งที่ถูกมองว่ามีความปลอดภัยสูง เพราะมีลักษณะเด่นตรงที่มีการตรึงมูลค่าไว้กับสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง เพื่อคงมูลค่าให้คงที่ได้ตลอดเวลา เช่น ทองคำ พันธบัตร สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือแม้แต่สกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 เช่น 1 เหรียญ Stablecoin มีมูลค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ทัตพงศ์ ยกตัวอย่างกรณีเหรียญ Stablecoin ที่มีปัญหาอย่างเหรียญ UST ซึ่งเป็น Stablecoin ที่ถูกสร้างขึ้นมาจาก Terra บล็อกเชน และได้ทำการก่อตั้ง Luna Foundation Guard (LFG) Reserve เพื่อรักษามูลค่าให้เหรียญ UST มีอัตราส่วน 1:1 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา LFG Reserve ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันทุกอย่างได้ล่มสลายไปแล้ว เนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจจากกรณีที่ UST ไม่สามารถตรึงมูลค่าให้เป็น 1:1 ต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐได้ และความไม่มั่นใจนี้ได้ลุกลามไปยังเหรียญ Stablecoin อื่น ๆ

 

“สะท้อนว่าแม้แต่เหรียญที่มีความผันผวนน้อยอย่าง Stablecoin ยังสามารถผันผวนรุนแรงได้ จึงยากที่จะเป็นสินทรัพย์ที่เหมาะกับการป้องกันเงินเฟ้อ” ทัตพงศ์ ให้ความเห็น

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์เป็นสิ่งที่ควรทำในการลงทุน อย่างไรก็ตาม การกระจายเงินลงทุนเข้าไปในสกุลเงินดิจิทัลที่ไม่สามารถหามูลแท้ที่จริง (Intrinsic Value) ได้ และไม่มีกระแสเงินสดอ้างอิงเพื่อหาระดับราคาพื้นฐาน ประกอบกับหากดูการเคลื่อนไหวของราคาบิตคอยน์ เทียบกับการเคลื่อนไหวของดัชนี NASDAQ ที่เปรียบเสมือนดัชนีของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวของราคาบิตคอยน์เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

 

โดยค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างราคาบิตคอยน์และดัชนี NASDAQ100 มีค่าสูงสุดถึง 0.7058

“แสดงให้เห็นว่า การกระจายเงินลงทุนเข้าสู่สกุลเงินดิจิทัลก็เปรียบเสมือนการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ดังนั้น การลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลที่มีความผันผวนสูงและอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยอาจไม่เหมาะสมในสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและอาจเพิ่มความผันผวนต่อพอร์ตลงทุนได้” ทัตพงศ์ กล่าว

Inv_สกุลเงินดิจิทัล รอเวลาพิสูจน์ทดแทนทองคำและชนะเงินเฟ้อ_02

นอกจากการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลเปรียบเสมือนการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีแล้ว นักลงทุนบางกลุ่มยังมองว่า คล้ายกับการลงทุนในทองคำ อย่างไรก็ตาม หากดูค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างการเคลื่อนไหวของราคาบิตคอยน์ – ราคาทองคำ (เส้นสีน้ำเงินเข้ม) ตั้งแต่ต้นปี 2021 ค่าสหสัมพันธ์เข้าใกล้ 0 และติดลบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 เป็นต้นมา พูดง่าย ๆ มีความเคลื่อนไหวผกผันไปกับราคาทองคำ นั่นหมายความว่า การลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลไม่สามารถทดแทนการลงทุนทองคำได้ในปัจจุบัน

 

ดังนั้น การลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีสำหรับการปิดความเสี่ยงที่เหมาะสมมากนัก ตรงกันข้ามกับทองคำ ที่ยังคงเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่จำเป็นต้องมีติดพอร์ตลงทุนภายใต้เงินเฟ้อที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้น

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: