เมื่อนักลงทุนเจอเหตุการณ์ซื้อหุ้นแล้วราคาปรับลดลง โดยไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนที่ราคาจะขยับขึ้นมา ส่วนใหญ่จะหาทางออกด้วยการถือหุ้นต่อไปเพื่อรอราคาปรับขึ้นหรือไม่ก็ขายออกไปก่อนที่จะขาดทุนมากไปกว่าปัจจุบัน (Cut Loss) แต่หากนักลงทุนมีหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมออยู่ในพอร์ต โดยเฉพาะช่วงที่ตลาดผันผวนก็จะสามารถช่วยลดความเสียหายของพอร์ตลงทุนได้ เพราะถึงแม้ราคาหุ้นจะปรับลดลงแต่ก็ยังได้รับเงินปันผล
หากนักลงทุนประเมินว่าตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวน จนรู้สึกกังวลว่าอาจส่งผลต่อพอร์ตลงทุนของตนเอง จึงหาทางลดความเสี่ยงด้วยการมองหาหุ้นที่ลงทุนแล้วมีความปลอดภัยสูง โดยหุ้นที่มีความปลอดภัยนี้ เรียกว่า หุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ (Dividend Stock) ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หรือ Safe Haven ในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน
หุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ มักมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแรง จึงต้องมีผลการดำเนินงานที่ดีเติบโตอย่างสม่ำเสมอ มีกระแสเงินสดในมือสูง มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในสัดส่วนค่อนข้างสูง เช่น เกิน 50% ของกำไรสุทธิ และเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าปกติ (Defensive Stock) คือ มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดโดยรวม รวมถึงสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยเงินฝาก และผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล
หากสังเกตให้ดี จะพบว่าหุ้นใดที่ “ไม่ใช่” หุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ เมื่อเกิดวิกฤติ ราคาหุ้นจะปรับลดลงค่อนข้างแรง แต่ถ้าเป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ มักจะมีเบาะมารองรับราคาที่ปรับลดลงมา โดยเบาะรองรับที่ว่านี้ คือ ระดับอัตราเงินปันผลตอบแทน
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดวิกฤติ ราคาหุ้นมีโอกาสปรับลงมามากถึง 50% แต่ในกรณีที่เป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ถึงแม้ราคาหุ้นจะลดลงแต่ก็จะลงไม่มาก ยิ่งเป็นหุ้นที่ให้อัตราเงินปันผลตอบแทนสูง ๆ เมื่อราคาหุ้นปรับลดลงมาถึงระดับหนึ่ง จะมีแรงซื้อเข้ามาพยุงราคาไว้
การลงทุนในหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ นอกจากจะต้องเช็คความสม่ำเสมอของการจ่ายเงินปันผลในอดีตแล้ว ควรให้ความสำคัญกับมูลค่า (Valuation) ของหุ้นปันผลที่จะลงทุนด้วย เพราะหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอแต่ราคาแพง อาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะเงินปันผลที่ได้รับมาอาจไม่คุ้มกับราคาหุ้นกรณีที่ปรับตัวลดลงในอนาคต
โดยปกติแล้วการหามูลค่าหุ้นทำได้หลายวิธี ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบเหมือนนักวิเคราะห์ การหามูลค่าหุ้นก็จะนำโมเดลทางการเงินมาใช้ เช่น DDM หรือ Dividend Discount Model แต่สำหรับนักลงทุนแล้วการหามูลค่าหุ้นด้วยวิธีนี้ดูจะยุ่งยากและซับซ้อน อ่านจากบทวิเคราะห์หุ้นที่นักวิเคราะห์ประเมินมาให้แล้วอาจจะสะดวกกว่า
แต่ถ้าต้องการดูแบบเร็ว ๆ สามารถใช้ค่า P/E Ratio หรือ P/BV Ratio มาประกอบการตัดสินใจได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องดูอัตราส่วนทางการเงินอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น ถ้าวัดมูลค่าหุ้นด้วยการดู P/BV Ratio จะต้องนำอัตราส่วนผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity : D/E Ratio) มาดูประกอบด้วย
ตัวอย่างเช่น หุ้นที่มีค่า P/BV Ratio สูงมากกว่า 1 เท่า ไม่จำเป็นจะต้องเป็นหุ้นแพงเสมอไป ถ้าหุ้นตัวนั้นมีค่า ROE อยู่ในระดับที่สูงสม่ำเสมอ มีหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ และธุรกิจยังมีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต โดยค่า ROE ที่สูง แสดงให้เห็นว่าหุ้นตัวนั้นให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นในระดับสูง และหากค่า ROE สูงกว่าต้นทุนทางการเงินของบริษัท หรือที่เรียกว่า Weighted Average Cost of Capital (WACC) มากเท่าไหร่ ค่า P/BV Ratio จะยิ่งมีค่าสูงกว่า 1 เท่า ถือว่าสร้างผลตอบแทนโดดเด่นให้กับผู้ถือหุ้นมาก
นอกจากนี้ การจ่ายเงินปันผลมีความสัมพันธ์กับการเติบโตของบริษัท นักลงทุนควรติดตามอัตราการจ่ายเงินปันผล (Payout Ratio) ของบริษัทด้วยว่าเป็นอย่างไร สมมติว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 100 บาท บริษัทจ่ายเงินปันผลตอบแทนกลับมาให้ผู้ถือหุ้น 50 บาท นั่นคือ อัตราการจ่ายเงินปันผลจะเท่ากับ 50% (จำนวนเงินที่จ่ายเงินปันผลหารด้วยกำไรสุทธิ) ส่วนเงินที่เหลืออีก 50 บาท บริษัทจะเก็บไว้เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือลงทุนเพื่อขยายกิจการ ทำให้ยอดขายและกำไรเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ
ในทางกลับกันถ้าหากบริษัทมีกำไร 100 บาท แล้วจ่ายเงินปันผลตอบแทนกลับมาให้ผู้ถือหุ้นทั้งหมด 100 บาท บริษัทจะไม่มีเงินเหลือเพื่อนำไปทำให้ยอดขายและกำไรเติบโต และเมื่อไม่มีการเติบโต มูลค่าหุ้นจะลดลง และอาจส่งผลทำให้ราคาหุ้นปรับลดลง กลายเป็นว่าได้รับเงินปันผลแต่ขาดทุนจากราคาหุ้นที่ถือแทน
ดังนั้น การเลือกลงทุนในหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ จะต้องเลือกหุ้นที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลไม่สูงจนเกินไปนัก ยกเว้นแต่ว่าธุรกิจของบริษัทอยู่ในช่วงอิ่มตัวแล้ว จึงไม่มีการลงทุนที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อย่างไรก็ตาม หากลงทุนในหุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่อยู่ในระดับสูง ก็สามารถทำได้ แต่ต้องไม่หวังว่าจะได้กำไรจากราคาหุ้นที่จะปรับขึ้นมากมาย
นอกจากข้อมูลทางการเงิน นักลงทุนควรติดตามข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนและทบทวนรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เป็นประจำ ว่าธุรกิจดังกล่าวยังมีความมั่นคงทางการเงินและมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนอยู่หรือไม่ ปัจจัยพื้นฐานมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญนำมาประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อการจ่ายเงินปันผลหรือไม่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับใครที่สนใจอยากคัดกรอง “หุ้นปันผล” ด้วยตนเอง สามารถสมัครใช้บริการ SETSMART ได้ที่เว็บไซต์ www.setsmart.com เพียง 250 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับข้อมูลที่จะได้รับ เช่น ภาวะการซื้อขาย เทรนด์นักลงทุนต่างชาติ หรือข้อมูลหุ้น อนุพันธ์ และกองทุนรวม ครบจบในเว็บเดียว ก็ถือว่าคุ้มค่ามากเลย!!!
และสำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้วิธีประเมินมูลค่าหุ้นด้วย P/E Ratio และ P/BV Ratio เพื่อหาราคาที่เหมาะสมในการตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Stock Valuation : Relative Valuation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่