หุ้นปันผล “จ่ายเงินสดหรือจ่ายเป็นหุ้น” เลือกแบบไหนดี

โดย อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)
2 Min Read
8 มิถุนายน 2565
26.555k views
Inv_หุ้นปันผล จ่ายเงินสดหรือจ่ายเป็นหุ้น เลือกแบบไหนดี_Thumbnail
Highlights

การจ่ายปันผลเป็นวิธีการหนึ่งที่บริษัทแบ่งปันความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้น โดยเป็นเงินที่เกิดจากรายได้จากการทำธุรกิจของบริษัท อาจจะจ่ายเป็นรายปี หรือจ่ายเป็นรายไตรมาส ซึ่งบริษัทที่จะจ่ายปันผลส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงและมีแหล่งที่มาของรายได้ที่แน่นอน ที่สำคัญจะเลือกจ่ายปันผลเป็นเงินสดหรือจ่ายเป็นหุ้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของบริษัท ดังนั้น นักลงทุนต้องทำความเข้าใจและพิจารณาว่าตัวเองเหมาะกับหุ้นปันผลประเภทใด ก่อนตัดสินใจลงทุน

“หุ้นปันผล” เป็นหุ้นประเภทหนึ่งที่นักลงทุนต้องการมีเก็บไว้ในพอร์ตลงทุน เพื่อหวังที่จะได้เงินปันผลเป็นรายได้เสริมหรือรายได้หลักหลังเกษียณ หรือมีหุ้นปันผลเพื่อลดความเสี่ยงและให้มีอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาด (Outperform) ในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน โดยปัจจุบันบริษัทนิยมจ่ายเงินปันผล 2 แบบ

 

  • จ่ายเป็นเงินสด (Cash Dividend) เป็นรูปแบบที่บริษัทนิยมมากที่สุด โดยเงินปันผลนำมาจากกำไรหรือกำไรสะสมของบริษัท โดยเป็นการจ่ายเงินปันผลจากการดำเนินงานปกติ
  • จ่ายเป็นหุ้น (Equity Stock Dividend) ด้วยการเพิ่มทุนเป็นหุ้นสามัญแล้วนำมาจ่ายปันผล โดยกำหนดจ่ายเป็นอัตราส่วนที่กำหนด เช่น จ่ายเงินปันผลเป็นหุ้นปันผลในอัตราส่วน 10:1 หมายความว่า ผู้ถือหุ้นเดิมจะได้รับหุ้นปันผล 1 หุ้นทุก ๆ หุ้นเดิมที่ถือจำนวน 10 หุ้น ดังนั้น หากถือหุ้นสามัญ 1,000 หุ้น จะได้รับหุ้นปันผล 100 หุ้น หากถือหุ้นสามัญ 10,000 หุ้น จะได้รับหุ้นปันผล 1,000 หุ้น เป็นต้น

 

สำหรับความแตกต่างระหว่างการจ่ายปันผลเป็นเงินสดกับจ่ายเป็นหุ้น หากเลือกรับเป็นเงินสด หมายถึง รายได้และเงินจะถูกโอนเข้าบัญชีนักลงทุนโดยตรง จากนั้นก็นำไปใช้จ่ายได้ตามความต้องการ ส่วนบริษัทที่เลือกจ่ายปันผลด้วยวิธีนี้ต้องมีกระแสเงินสดเพียงพอเพื่อนำมาจ่ายปันผล หมายความว่า บริษัทต้องรักษาโครงสร้างทางการเงินให้มีเสถียรภาพสม่ำเสมอ ซึ่งข้อดี คือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้น ด้านผู้ถือหุ้นมองว่าบริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินดี ผลประกอบการแข็งแกร่ง ไว้วางใจว่าบริษัทจะสร้างความมั่งคั่งไปพร้อม ๆ กับการสร้างธุรกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ที่สำคัญจะไม่เกิด Dilution Effect (จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น และราคาหุ้นลดลง)

 

ขณะที่รับปันผลเป็นหุ้น หุ้นก็จะถูกโอนเข้าพอร์ตลงทุนของนักลงทุนโดยตรง ซึ่งบริษัทมักจะเก็บเงินสดเอาไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) เตรียมขยายการลงทุนโดยไม่ต้องไปกู้ยืม หรือเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้น (เพิ่ม Free Float) อีกทั้ง ประเมินว่าในปีถัดไปธุรกิจมีโอกาสฟื้นตัวและผลประกอบการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และไม่กังวลเกี่ยวกับการเกิด Dilution Effect

 

แต่ข้อกังวล คือ หากในปีถัดไปผลประกอบการเติบโตน้อยกว่า Dilution Effect จะทำให้กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ลดลง และหากกำไรในปีถัดไปเติบโตน้อยกว่าการเกิด Dilution Effect อาจต้องประเมินว่าบริษัทจะจ่ายปันผลเป็นหุ้นลดลงหรือไม่

 

หากพูดถึงความนิยม นักลงทุนส่วนใหญ่ยังชื่นชอบหุ้นปันผลที่จ่ายเป็นเงินสด โดยเฉพาะผู้ที่มีความต้องการเงินสดเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น วัยเกษียณ หรือมีแผนนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น กองทุนรวม ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักลงทุนหลายคนชื่นชอบการได้รับเงินปันผลเป็นหุ้น เพราะหุ้นปันผลที่ได้รับอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทำให้ได้รับอัตราผลตอบแทนที่ดี หมายความว่า เมื่อเวลาผ่านไปหากราคาหุ้นขยับขึ้น เช่น วันที่รับปันผลเป็นหุ้น ราคาหุ้นอยู่ที่ 2 บาท วันนี้ราคาหุ้นอยู่ที่ 5 บาท มูลค่าเพิ่มที่ได้รับอาจมากกว่าการได้เงินปันผลเป็นเงินสด ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนที่เชื่อมั่นว่าธุรกิจจะเติบโตในระยะยาว หรือผู้ที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน เช่น ผู้ที่มีรายได้ประจำและต้องการให้หุ้นปันผลอยู่ในแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ เป็นต้น

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับใครที่สนใจอยากคัดกรอง “หุ้นปันผล” ด้วยตนเอง สามารถสมัครใช้บริการ SETSMART ได้ที่เว็บไซต์ www.setsmart.com เพียง 250 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับข้อมูลที่จะได้รับ เช่น ภาวะการซื้อขาย เทรนด์นักลงทุนต่างชาติ หรือข้อมูลหุ้น อนุพันธ์ และกองทุนรวม ครบจบในเว็บเดียว ก็ถือว่าคุ้มค่ามากเลย!!!

 

หรือนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการคัดกรองหุ้นดี น่าลงทุน ด้วยการใช้งานเครื่องมือ Settrade Stock Screening เพื่อให้ได้หุ้นดี โดนใจ โดยไม่ต้องใช้เวลาค้นหานาน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร Stock Screening” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: