นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดอนุพันธ์เพิ่มมากขึ้น สังเกตจากปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงกว่าปีที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญเนื่องจากตลาดอนุพันธ์ถูกออกแบบมาเพื่อบริหารความเสี่ยงพอร์ตหุ้นในตลาดขาลง ดังนั้น สรุปได้ว่าตลาดอนุพันธ์จะมีความคึกคักมาจาก 3 ปัจจัย
นักลงทุนในตลาดอนุพันธ์จะไม่ชอบตลาดที่ไม่มีทิศทาง แต่ชอบตลาดที่ทิศทางชัดเจน คือ จะเป็นขาขึ้นหรือขาลงก็ได้แต่ขอให้เลือกสักทาง ถ้าเป็นขาขึ้นก็จะให้น้ำหนักด้วยการเปิดสถานะซื้อ (Long) มากกว่าเปิดสถานะขาย (Short) ตรงกันข้ามถ้าตลาดเป็นขาลง จะได้ให้น้ำหนักฝั่งขาย (Short) มากกว่าฝั่งซื้อ (Long)
ถ้าราคาสินค้าอ้างอิงมีความผันผวนสูง จะกระตุ้นให้ผู้ถือสินค้าอ้างอิงเข้ามาใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น และยังจูงใจให้นักลงทุนระยะสั้นเข้ามาเก็งกำไรตามการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าอ้างอิงมากขึ้นเช่นกัน
ถ้าตลาดอนุพันธ์หรือสินค้าในตลาดอนุพันธ์ใดให้อัตราทดสูง จะได้รับความนิยมจากนักลงทุนมากเป็นพิเศษ ซึ่งตลาดอนุพันธ์ของไทยมีจุดเด่นในด้านนี้มาก ทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง
มือเก๋า... ใช้ตลาดอนุพันธ์เป็นเครื่องมือทางการเงิน
จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูงมาก และดัชนีหุ้นไทยก็ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนที่จับจังหวะการลงทุนไม่ดีก็พลาดโอกาสในการทำกำไร หรือถึงขั้นทุนหายกำไรหด
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้นักลงทุนเข้ามาใช้ประโยชน์จากอนุพันธ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อถัวความเสี่ยงในช่วงที่ราคาสินค้าอ้างอิงผันผวน เช่น ถ้าประเมินว่าการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 จะลากยาว แล้วในพอร์ตลงทุนมีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ก็เข้ามาเปิดสถานะขาย (Short) Single Stock Futures ของหุ้นตัวนั้นเพื่อถัวความเสี่ยงไว้ก่อน หรือถ้าไม่มี Single Stock Futures ให้เปิดสถานะขาย (Short) นักลงทุนก็เลี่ยงมาใช้ SET50 Index Futures แล้วถัวความเสี่ยงด้วยการปรับค่าเบต้าเพื่อหาจำนวนสัญญาที่เหมาะสมได้
ตัวอย่างเช่น ถ้ามีพอร์ตการลงทุน 1 ล้านบาท และมีค่าเบต้า (ค่าที่วัดความเสี่ยงของหุ้นเหล่านั้นเทียบกับตลาด) เฉลี่ยของพอร์ตอยู่ที่ 1.5 เท่า ขณะที่มูลค่าสัญญา SET50 Index Futures อยู่ที่ 200,000 บาทต่อสัญญา
ถ้าจับหารตรงๆ จะใช้เพียง 5 สัญญา แต่ถ้านำเบต้าเข้ามาคำนวณด้วยจะได้ 7.5 สัญญา ((-1.5 x 1,000,000) / 200,000) หรือประมาณ 8 สัญญา (มากกว่าการหารตรงๆ เพราะพอร์ตหุ้นเคลื่อนไหวแรงกว่าตลาด)
หากนักลงทุนใช้บริหารความเสี่ยงได้ถูกต้อง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนโดยรวมได้ หรือในกรณีที่เห็นโอกาสจากการลงทุน เช่น ประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยจะปรับขึ้นไปถึง 1,700 จุด เทียบเท่าดัชนี SET50 ที่ 1,150 จุด แล้วต้องการลงทุนในหุ้น แต่มีเงินลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า นักลงทุนอาจเข้าไปเปิดสถานะซื้อ (Long) ใน SET50 Index Futures เพื่อล็อคราคาซื้อไว้ก่อน ถ้าดัชนีหุ้นปรับขึ้นไปจริงๆ จะต้องซื้อหุ้นแพงขึ้น แต่จะได้เงินจากการเปิดสถานะซื้อ (Long) SET50 Index Futures มาชดเชย
สรุปได้ว่า... นักลงทุนจะไม่นำอนุพันธ์มาจัดพอร์ตลงทุน แต่จะใช้เป็นเครื่องมือทางการเงินทั้งถัวความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทน เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับพอร์ตการลงทุนในระยะยาว
นักลงทุนหน้าใหม่ ในตลาดอนุพันธ์
สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่สนใจลงทุนอนุพันธ์ ควรเลือกลงทุนใน SET50 Index Futures เป็นเครื่องมือแรก เพราะเข้าใจง่าย เนื่องจากดัชนี SET50 เป็นสินค้าอ้างอิงของ SET50 Index Futures การซื้อหรือขาย SET50 Index Futures จึงเหมือนกับการซื้อขายดัชนี SET50 ในอนาคต พูดง่ายๆ ราคาของ SET50 Index Futures จะเคลื่อนไหวขึ้นลงตามดัชนี SET50
หากดัชนี SET50 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคาของ SET50 Index Futures ก็มีแนวโน้มจะปรับขึ้นตาม ตรงกันข้ามหากดัชนี SET50 ปรับตัวลดลง ราคาของ SET50 Index Futures ก็มีแนวโน้มจะปรับลดลงตามไปด้วย
หากนักลงทุนประเมินว่า... ตลาดหุ้นส่วนใหญ่จะปรับขึ้น ให้เปิดสถานะซื้อ (Long) แต่ถ้าประเมินว่าหุ้นส่วนใหญ่จะปรับลดลง ให้เปิดสถานะขาย (Short) และเมื่อมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น ก็เลือกลงทุนใน Single Sock Futures หรือ Gold Futures หรือ SET50 Index Options ต่อไป
ความเสี่ยงที่มือเก๋า มือใหม่ต้องดู
สำหรับมือใหม่หัดเทรดฟิวเจอร์สหรือออปชัน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นวางกลยุทธ์การลงทุนอย่างไรให้ได้กำไรทั้งในภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning กลุ่มหลักสูตร “การลงทุนในอนุพันธ์” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน