Digital Economy เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

โดย นารินทิพย์ ท่องสายชล ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
28 ธันวาคม 2563
56.635k views
TSI_121_Digital Economy เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
Highlights
  • “เศรษฐกิจดิจิทัล” เป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งจะเป็นแก่นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอีก 10 - 20 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ไป

  • คาดการณ์ว่า... เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะเติบโตขึ้น 7% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยจะมีมูลค่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียนรองจากประเทศอินโดนีเซีย

  • หากมองถึงโอกาสทางธุรกิจมี 3 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่โดดเด่นและน่าสนใจ ได้แก่ การบริการทางการเงินดิจิทัล (FinTech) เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech)

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า... การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้โลกหมุนช้าลง เพราะต้องจำกัดการเดินทาง การเคลื่อนย้าย หรือการพบเจอกัน แต่ในโลกของดิจิทัลนั้น ทุกอย่างกลับหมุนเร็วขึ้นกว่าเดิม และไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ดิจิทัลก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว ตั้งแต่การใช้งาน Social Media การซื้อขายสินค้า เล่นเกม ดูหนัง สั่งอาหาร ท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งการศึกษา

 

โดยกลุ่มธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์ก็คงหนีไม่พ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลหรือออนไลน์ ซึ่งเห็นได้จากการที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดหุ้นต่างประเทศได้ปรับตัวขึ้นไปสูงมากในช่วงปีที่ผ่านมา

 

เศรษฐกิจดิจิทัลคืออะไร?

 

เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy เป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การขนส่ง การขาย และการบริการ

ภาพรวมของเศรษฐกิจดิจิทัล ในปี 2020

 

จากรายงานการวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน (e-Conomy SEA 2020) โดย Google, Temasek and Bain & Company ซึ่งได้ศึกษาพฤติกรรมในโลกอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคจาก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์นั้น ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2020 นี้ เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนจะเติบโตมีมูลค่าเกิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเติบโตถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025

 

ขณะที่คาดว่า ในปี 2020 เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะเติบโตขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยจะมีมูลค่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียนรองจากประเทศอินโดนีเซีย และคาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเติบโตถึง 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตขึ้นประมาณ 25% ในปี 2025

 

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในปี 2020 มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ ทั้งในเวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นกว่า 40 ล้านราย ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้งานโดยรวมเพิ่มเป็น 400 ล้านราย คิดเป็น 70% ของประชากรในอาเซียนที่มีทั้งหมด 600 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ประมาณ 30% จากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ

 

โอกาสทางธุรกิจ

 

ในรายงานการวิจัยดังกล่าวยังพบว่า เกือบทุกวงการของเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียนมี Penetration Rate ที่ยังต่ำมาก ส่งผลให้นักลงทุนหรือ Digital Platform จากต่างชาติหันมาสนใจลงทุนในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น

 

ตัวอย่างเช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ในภูมิภาคอาเซียนมีสัดส่วนเพียง 3-5% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด ในขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของประเทศจีนมีสัดส่วนถึงเกือบ 30% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ภูมิภาคอาเซียนจะเนื้อหอม เพราะหลายคนมองว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

 

สำหรับประเทศไทยจะพบว่า อีคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจดิจิทัลที่ขยายตัวมากที่สุดถึง 81% จากปีที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2025

 

หากมองเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ พบว่า มี 3 อุตสาหกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ การบริการทางการเงินดิจิทัล (FinTech) (การชำระเงิน การโอนเงิน การให้กู้ยืม ประกันภัย และการลงทุน) เนื่องจากผู้บริโภคและธุรกิจ SMEs ในไทยได้หันมาใช้บริการทางการเงินดิจิทัลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และนอกเหนือจากบริการให้กู้ยืมแล้ว มูลค่าธุรกรรมรวมการชำระเงินดิจิทัล (Payment) ยังเติบโตสูงขึ้นอีกด้วย ดังนั้น ในปีหน้า คาดว่าจะได้เห็นการขยับที่สำคัญจากแบงก์ไทย รวมถึง FinTech ไทยด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 อุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง COVID-19 ได้แก่ เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และ เทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) ซึ่งก็มีความน่าสนใจและควรจับตามอง

 

ความสามารถในการแข่งขันในโลกดิจิทัลของไทย

 

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ของโลก รูปแบบเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าประเทศนั้นๆ จะมีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กหรือใหญ่ แต่หากมีความพร้อมทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ทั้งระหว่างหน่วยงานของภาครัฐด้วยกันเอง และระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และมีกำลังคนที่มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีจะมีศักยภาพในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในยุคต่อจากนี้ไปได้

 

หากดูความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย ซึ่งจัดอันดับโดย The IMD World Digital Competitiveness Ranking 2020 เพื่อประเมินความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของเขตเศรษฐกิจทั่วโลก จากปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านองค์ความรู้ (Knowledge) 2. ด้านเทคโนโลยี (Technology) และ 3. ด้านความพร้อมรองรับอนาคต (Future Readiness) ในปี 2020 นี้ ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 39 จาก 63 ประเทศ ขยับขึ้นมา 1 อันดับ จากปี 2019 ที่อยู่อันดับ 40 และปีก่อนหน้า คือ ปี 2018 อยู่อันดับที่ 39 ซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญที่ประเทศไทยอาจต้องเร่งพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างสวยงามในอนาคต

TSI_Article_078_Inv_Digital Economy เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย_01

นอกจากนี้ หากขยับลงมาดูในระดับอุตสาหกรรม ที่กำลังเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ หรือ New S-Curve ซึ่งประกอบไปด้วย 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics), อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics), อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital), อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) จะพบว่า... อุตสาหกรรมดิจิทัล คือหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศที่คาดว่าจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

 

โดยหากดูในเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมดิจิทัล จะประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมย่อย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ และดูแลรับผิดชอบโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ซึ่งได้เปิดเผย ผลการสำรวจอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2561-2562 ออกมาว่า ในปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมดิจิทัลมีมูลค่ารวม 647,952 ล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ย 1.61% และมีรายละเอียดในแต่ละอุตสาหกรรมย่อย ดังนี้

 

  1. อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ มีมูลค่า 134,817 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 13.37% จากปีที่ผ่านมา
  2. อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ มีมูลค่า 299,343 ล้านบาท เติบโตลดลงเฉลี่ย 7.97% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากมูลค่าตลาดของคอมพิวเตอร์ลดลงต่อเนื่อง ทั้งในด้านจำนวนเครื่องและมูลค่า ขณะที่อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Device) มีอัตราเติบโตดี แต่ก็ยังติดลบเพราะการนำเข้าที่ลดลง และการย้ายฐานการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์ในประเทศไทย
  3. อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล มีมูลค่า 169,536 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 10.45% จากปีที่ผ่านมา
  4. อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ มีมูลค่า 31,080 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 11.51% จากปีที่ผ่านมา
  5. อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า มีมูลค่า 13,176 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 8.63% จากปีที่ผ่านมา

 

เมื่อดูในแต่อุตสาหกรรมย่อยของอุตสาหกรรมดิจิทัลแล้ว จะเห็นว่า... อุตสาหกรรมต่างๆ มีการเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ที่มีมูลค่าสูงและกำลังเติบโต ซึ่งหากภาครัฐส่งเสริมให้อุตสาหกรรมดิจิทัลเติบโตมากขึ้น ก็จะเป็นหนึ่งในแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ขณะที่ในแง่ของการลงทุน อุตสาหกรรมดิจิทัลกำลังเป็นธีมการลงทุนที่น่าสนใจและนักลงทุนควรจับตามอง และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างละเอียด เพื่อที่จะได้ไม่พลาดหรือตกขบวนการลงทุนสายดิจิทัล

 

สำหรับใครที่สนใจด้านการลงทุนและอยากเรียนรู้เทคนิคการคัดเลือกหุ้นดีในอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ พร้อมฝึกวิเคราะห์อุตสาหกรรม และการวิเคราะห์หุ้นรายตัว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Advanced Sector Analysis เจาะลึกหุ้นดีในกลุ่มอุตสาหกรรม” ฟรี!!!>> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: