เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนไม่ค่อยดี หากดูสถิติย้อนหลัง 30 ปี ตั้งแต่ปี 2535 – 2564 ดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงเดือนดังกล่าว ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.43% น้อยกว่าช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6.23%
“แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีนัยสำคัญแบบนั้นแล้ว ถ้าพิจารณาระยะสั้นย้อนหลังไป 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560 – 2564 พบว่าเหตุการณ์ Sell in May and Go Away เกิดขึ้นปีเว้นปี” วันวิสาข์ อรุมชูตี AFPT™ ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า K-Expert ธนาคารกสิกรไทย กล่าว
เหตุการณ์ Sell in May and Go Away ดั้งเดิมมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของฝั่งตะวันตก โดยนักลงทุนจะลดสัดส่วนการถือครองหุ้นในช่วงนี้ลง ก่อนจะกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ซึ่งคาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงวันหยุดยาว ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายเบาบางลง ทำให้นักลงทุนสถาบันลดการถือครองหุ้นตามไปด้วย
วิศกรณ์ คีรีวรรณ, CFA ผู้อำนวยการ วิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุน บล. เคทีบีเอสที ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ Sell in May and Go Away ในปัจจุบันจะยังคงเกิดขึ้นหรือไม่ ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานในสถิติอย่างชัดเจนมากนักถึงข้อสรุปว่าจะเกิดขึ้น “แต่ประเด็นนี้จะอยู่ในความสนใจของนักลงทุนทุกปี เช่น ในปีนี้การค้นหาคำว่า Sell in May และ Sell in May and Go Away อยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน ๆ ”
ด้านวันวิสาข์ อธิบายว่าไม่ใช่ทุกปีที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โดยการเกิดก็ขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์ต่าง ๆ ในปีนั้น ๆ โดยในปี 2565 ความผันผวนเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี ได้แก่
ขณะที่ตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาว ถูกเทขายอย่างหนักจากนักลงทุน ซึ่งสะท้อนแนวทางของ Fed ที่ต้องการจะควบคุมสภาพคล่องในตลาด รวมถึงการที่ Fed จะลดขนาดงบดุลในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งการเร่งมาตรการเหล่านี้เป็นไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ไม่ปกติ โดยผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้น ปรับขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะยาว
“รูปแบบดังกล่าวเป็นลักษณะของ Inverted Yield Curve ที่แสดงถึงต้นทุนทางการเงินมีแนวโน้มปรับตัวพุ่งสูงตามนโยบายของ Fed ทั้ง ๆ ที่ระยะยาวแล้วทิศทางเศรษฐกิจก็ยังไม่แน่นอน ส่งผลให้นักลงทุนอาจขาดความมั่นใจในการลงทุน”
จากการศึกษาของวิศกรณ์ พบว่าปัจจัยกดดันที่อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ Sell in May and Go Away ในปีนี้ เป็นเรื่องเศรษฐกิจที่ได้รับแรงกดดันจาก Fed ในการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลต่อตัวแปรทาง Valuation และอัตราการเติบโตของผลกำไร
“สิ่งที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญ คือ การเติบโตของกำไรในตลาด ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นว่ามีสัญญาณของการเกิดเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ ซึ่งการให้น้ำหนักกับประเด็นกำไรของตลาดเป็นเรื่องสำคัญในการกำหนดทิศทางการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้”
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนท่ามกลางเหตุการณ์ Sell in May and Go Away วันวิสาข์แนะนำว่า นักลงทุนที่มีสินทรัพย์ในพอร์ต ให้ตรวจสอบพอร์ตลงทุนของตัวเองว่าสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่นั้น ยังสามารถไปต่อได้หรือไม่ หากตรวจสอบแล้วคาดว่ายังสามารถไปต่อได้ มีโอกาสเติบโตต่อได้ในอนาคต ให้ถือข้ามผ่านความผันผวนไป
ส่วนนักลงทุนที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพอร์ต หากตลาดหุ้นปรับตัวลดลงก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเพิ่มสัดส่วน เพราะในระยะยาวแล้วการลงทุนในหุ้นก็ยังให้ผลตอบแทนที่สูงอยู่นั่นเอง “ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ การหาโอกาสให้เจอ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในปีนี้ไม่ง่ายเหมือนปีที่ผ่าน ๆ มา โดยเฉพาะการขายออกและเข้าซื้อในราคาที่ถูกกว่าอาจทำได้ยากขึ้น โดยนักลงทุนควรมีการแบ่งเงินลงทุน และกำหนดสัดส่วนให้เหมาะสม เงินลงทุนในหุ้นควรเป็นส่วนที่แบ่งมาแล้วและสามารถลงทุนได้มากกว่า 3 – 5 ปีขึ้นไป” วันวิสาข์ กล่าวสรุป
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้วิธีวางกลยุทธ์การซื้อขาย เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Buy & Sell Strategy” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่