เลือกหุ้นคุณค่าตามวิถี VI

โดย SET
4 Min Read
1 มกราคม 2564
7.01k views
TSI_120_เลือกหุ้นคุณค่าตามวิถี VI
Highlights
  • เสน่ห์ของการลงทุนในหุ้นคุณค่า คือ การมองหา “หุ้นดี ราคาถูก” ที่เหมาะกับการลงทุนระยะยาว พูดง่ายๆ คือ หุ้นที่เราจะถือได้นานๆ สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการเติบโตของบริษัท และอยู่คู่กับพอร์ตลงทุนของเราไปได้ยาวๆ

  • จังหวะที่เหมาะสมที่สุดในการเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้อาจเป็นช่วงที่เกิดความผิดปกติในภาวะตลาดหุ้นหรือเกิดวิกฤติ ซึ่งจะเป็นช่วงที่หุ้นมีราคาต่ำมาก แต่หากเมื่อไหร่ก็ตามที่ตลาดฟื้นตัว หุ้นแบบนี้จะสร้างกำไรให้เราแบบมหาศาล

การลงทุนในหุ้นคุณค่า หรือ Value Stock เป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย โดยแนวคิดของการลงทุนนี้ คือ การค้นหาหุ้นที่จะเติบโตและมั่นคงในระยะยาว มีความแข็งแกร่ง ทำกำไรได้ดีเติบโตในทุกปี หากเราสามารถค้นหาหุ้นแบบนี้ได้จะสร้างกำไรให้เราแบบมหาศาล

 

นักลงทุนต้นแบบที่เรามักจะคุ้นเคยกับแนวคิดการลงทุนรูปแบบนี้ คงจะหนีไม่พ้น “วอร์เรน บัฟเฟตต์” กูรูการลงทุนระดับโลก ส่วนในประเทศไทย คือ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้ที่สร้างชื่อเสียงจากการลงทุนในหุ้นคุณค่าและเผยแพร่แนวคิดนี้ในประเทศไทย

 

แล้วหลักการลงทุนหุ้นคุณค่าคืออะไร บริษัทแบบไหนที่เราควรเข้าซื้อ และเราควรเข้าลงทุนในจังหวะไหน วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน

 

การลงทุนแบบ VI คืออะไร?

 

VI ย่อมาจาก Value Investment หรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ซึ่งมักใช้เรียกกลุ่มนักลงทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้นคุณค่า (Value Stock) โดย Value Stock ก็คือหุ้นที่มีราคา ต่ำกว่า มูลค่าที่ควรจะเป็นของหุ้นนั้นๆ

 

ที่เรียกว่าเป็น “หุ้นคุณค่า” ก็เพราะเมื่อเวลาผ่านไป นักลงทุนในตลาดมองเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในตัวหุ้น ก็จะเข้าซื้อหุ้น ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต เป็นสาเหตุที่เรามักจะเห็นว่านักลงทุน VI ชอบลงทุนระยะยาว โดยลงทุนใน Value Stock และเมื่อเวลาผ่านไปก็จะขายหุ้นออกไปเพื่อทำกำไร เมื่อคิดว่าราคาหุ้นถึงมูลค่าที่ควรจะเป็นแล้ว หรือที่นักลงทุนมักจะเรียกกันว่าราคาหุ้นเต็มมูลค่าแล้ว   

 

การลงทุนแบบ VI เหมาะกับใครบ้าง

 

ก่อนเริ่มลงทุน นักลงทุนต้องเข้าใจสไตล์หุ้นและสไตล์การลงทุนของตัวเอง จึงจะลงทุนได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จในการลงทุน ผู้ที่เหมาะกับสไตล์การลงทุนที่เน้นหุ้นคุณค่า คือ นักลงทุนที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นที่จะลงทุน และต้องเป็นนักลงทุนที่มีระยะเวลาการลงทุนค่อนข้างยาว มีความอดทนในการเฝ้ารอการเติบโตของหุ้นคุณค่า


เทคนิคค้นหาหุ้นคุณค่า... หุ้นดี ราคาถูก  

 

นักลงทุนแต่ละคนจะมีเทคนิคการคัดเลือกหุ้นคุณค่าที่แตกต่างกันออกไป เราลองมาดู 5 เทคนิคพื้นฐานในการเลือกหุ้นคุณค่ากันดีกว่า

 

  1. พื้นฐานกิจการดี ควรเลือกหุ้นที่สินค้าและบริการของบริษัทมีจุดแข็ง เช่น สินค้ามีความน่าสนใจ สามารถสร้างลูกค้าใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง เป็นสินค้าที่หาสินค้าทดแทนได้ยาก เป็นต้น

 

  1. รายได้เติบโตสม่ำเสมอ หุ้นที่เราจะคัดเลือกเขาในลิสต์ของหุ้นคุณค่าจะต้องเป็นหุ้นที่รายได้มีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ นั่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยบ่งบอกถึงความสามารถผู้บริหารของบริษัทนั้นๆ

 

  1. มีความสามารถในการทำกำไรดี หุ้นที่ดีเมื่อรายได้มีการเติบโตแล้ว จะต้องมีความสามารถในการสร้างกำไรได้ดีด้วย ซึ่งเราอาจดูได้จากอัตราส่วนทางการเงิน เช่น EPS Growth, Net Profit Margin, ROA, ROE มีค่าสูง ซึ่งนักลงทุนแต่ละคนก็จะกำหนดค่าอัตราส่วนทางการเงินเพื่อเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกแตกต่างกันไป

 

  1. จ่ายปันผลสม่ำเสมอ เมื่อกิจการมีรายได้และความสามารถในการทำกำไรที่ดีแล้ว ก็ควรจะมีการจ่ายปันผลที่สม่ำเสมอด้วย และการจ่ายปันผลควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการเติบโตของกิจการ

 

  1. ราคาไม่แพง สำหรับหุ้นคุณค่า นอกจากจะเป็นหุ้นดีแล้ว ยังต้องมีราคาถูกด้วย ซึ่งมักจะเปรียบเทียบกับมูลค่าที่แท้จริงที่เกิดจากการประเมินมูลค่าตามแบบจำลองทางการเงินที่นักวิเคราะห์คำนวณไว้ให้ หรือนักลงทุนส่วนใหญ่อาจใช้อัตราส่วน P/E , P/BV เพื่อเป็นเกณฑ์ในการคัดกรองหุ้นคุณค่า ก็สามารถทำได้

 

เรื่องต้องห้ามสำหรับนักลงทุนแบบ VI

 

  • ห้ามคันมือ : เมื่อซื้อหุ้นแล้วควรถือไปสักระยะไม่ซื้อขายบ่อยๆ จนกลายเป็นนักเทรดเพื่อเกร็งกำไรระยะสั้น
  • ห้ามเลือกบริษัทขาดทุน : นักลงทุน VI จะเลือกบริษัทที่มีรายได้และกำไรสม่ำเสมอ ห้ามเลือกหุ้นของบริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุน

 

ข้อพึงระวังของนักลงทุนแบบ VI  

 

หลังจากคัดกรองหุ้นคุณค่าด้วยเครื่องมือที่เรากำหนดหลักเกณฑ์เรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถซื้อหุ้นทุกตัวที่ผ่านการคัดกรองได้เลยทันที โดย 3 ประเด็นหลักๆ ที่นักลงทุน VI อาจพึงระมัดระวังก่อนตัดสินใจเลือกหุ้นเข้าพอร์ต ได้แก่

 

  1. P/E ต่ำ ไม่ใช่ว่าดีเสมอไป ค่า P/E Ratio เป็นอัตราส่วนหนึ่งที่นักลงทุน VI ใช้ในการคัดเลือกหุ้นคุณค่า แม้ว่าค่า P/E มักถูกใช้วัดความถูกแพงของหุ้นก็จริง นักลงทุนจึงมักจะชอบหุ้นที่มี P/E ต่ำ ยิ่งต่ำยิ่งดี ซึ่งค่า P/E เป็นสูตรคำนวณที่เกิดจาก P (ราคาหุ้น) หารด้วย E (กำไรต่อหุ้น) เมื่อพบหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำ นักลงทุนต้องวิเคราะห์ต่อไปว่าทำไม P/E ถึงต่ำ เช่น กำไรมาจากการดำเนินงานหรือไม่ หรือเกิดจากกำไรพิเศษ วิเคราะห์เปรียบเทียบกับค่า P/E ในอดีต รวมถึงการวิเคราะห์ค่า P/E เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมเดียวกันว่ามีค่า P/E เป็นอย่างไร

 

  1. ปันผลสูงๆ ไม่ใช่ดีเสมอไป นักลงทุน VI หลายคนอาจใช้ปันผลเป็นเกณฑ์ในการเลือกหุ้นคุณค่าเข้าพอร์ต ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่มีสิ่งที่เราต้องพิจารณาต่อ สำหรับหุ้นที่มีเงินปันผลสูงๆ ได้แก่ แนวโน้มการจ่ายปันผลจะสูงต่อเนื่องในระยะยาวหรือไม่ หรือแม้แต่ว่าการจ่ายปันผลสูงๆ นั้นสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ไม่สามารถนำกำไรไปขยายกิจการต่อ ซึ่งก็จะมีผลต่อการเติบโตในระยะยาวของกิจการได้

 

  1. ความมั่นใจเกินร้อย หลังจากค้นหาหุ้นคุณค่าเจอแล้ว นักลงทุนหลายคนเมื่อลงทุนแล้วก็จะปล่อยให้กิจการดำเนินงานไป พร้อมกับความมั่นใจว่าบริษัทที่เราลงทุนต้องเติบโตและมีกำไรงดงาม โดยไม่ติดตามข้อมูลข่าวสารทั้งภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานของบริษัทที่เราลงทุน มีความมั่นใจ 100% ว่าหุ้นที่เราเลือกเป็นกิจการที่ดีและจะเติบโตอย่างแน่นอน แต่ในโลกความเป็นจริง หลังจากลงทุนในหุ้นคุณค่าแล้ว ก็ยังต้องคอยติดตามข้อมูลข่าวสารที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการอย่างใกล้ชิด

 

การจะค้นหาหุ้นคุณค่าดีๆ สักตัวอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่หากตั้งใจศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง เราก็จะสามารถค้นหาหุ้นคุณค่าเจอและเป็นนักลงทุน VI ได้ไม่ยาก ซึ่งการจะเป็นนักลงทุน VI ที่ดี เราต้องทำความเข้าใจข้อมูลบริษัทและงบการเงินของหุ้นที่ลงทุนอย่างถ่องแท้ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับหุ้นคุณค่าที่เราลงทุนอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับใครที่สนใจอยากคัดกรอง “หุ้นดี ราคาถูก” ด้วยตนเอง ลองเข้าไปที่เว็บไซต์ www.setsmart.com ซึ่งตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดโอกาสให้เราได้ทดลองใช้งาน SETSMART ฟรี 15 วัน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงแค่สมัครเป็นสมาชิก SET Member เท่านั้น และหากใครที่ต้องการใช้ต่อ ค่าใช้จ่ายก็ถูกมากๆ แค่ 250 บาทต่อเดือน ซึ่งเมื่อเทียบกับข้อมูลที่จะได้รับ เช่น ภาวะการซื้อขาย เทรนด์นักลงทุนต่างชาติ หรือข้อมูลหุ้น อนุพันธ์ และกองทุนรวม ครบจบในเว็บเดียว ก็ถือว่าคุ้มค่ามากเลย!!!

แท็กที่เกี่ยวข้อง: