สัญญาณเตือน หนี้เกินตัว

โดย กฤษกรณ์ รัมย์ไธสง บมจ.คิงส์ฟอร์ด โฮลดิ้งส์
2 Min Read
30 พฤศจิกายน 2563
3.719k views
TSI_12_สัญญาณเตือน หนี้เกินตัว
Highlights
  • ข้อมูลผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่อ้างอิงข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ระบุว่า... “คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น – มากขึ้น – นานขึ้น”

  • 3 สัญญาณที่บ่งบอกว่าเราอาจก่อหนี้เกินตัว ได้แก่ เริ่มใช้จ่ายเกินรายได้ที่มี ไม่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน และใช้เงินในอนาคตโดยไม่คำนึงถึงรายได้ ถ้าหากใครเริ่มมีการใช้เงินแบบนี้ต้องรีบแก้ไข ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทันที เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวในอนาคต

“คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น – มากขึ้น – นานขึ้น”

 

ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่อ้างอิงข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ระบุว่าคนไทย...

  • “เป็นหนี้เร็วขึ้น” เริ่มก่อหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย และ 1 ใน 5 หรือ 20% ของผู้กู้ช่วงอายุ 29 ปีเป็นหนี้เสีย

  • “เป็นหนี้มากขึ้น” ปริมาณหนี้ต่อหัวสูงขึ้นจาก 377,109 บาท เป็น 552,499 บาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

  • “เป็นหนี้นานขึ้น” ภาระหนี้ไม่ได้ลดลงแม้จะเข้าสู่วัยเกษียณ และ 4 ใน 5 ของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาจากผู้กู้รายเดิม ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการมีหนี้หลายประเภทโดยเฉพาะสินเชื่อบุคคล

โดยหนี้ครัวเรือนเป็นสัญญาณของการก่อหนี้ภาคเอกชน ซึ่งสัญญาณเตือนของการก่อหนี้เกินตัว แบ่งออกเป็น 3 ปัจจัย ดังนี้

 

สัญญาณที่ 1 : การใช้จ่ายเกินรายได้

 

การใช้จ่ายเกินรายได้ของตัวเองถือเป็นสัญญาณเตือนแรกๆ ของคนไทยที่มีหนี้เกินตัว เนื่องจากไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากสินค้าและบริการต่างๆ เช่น ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่เกินความจำเป็น ซื้อสินค้าบางอย่างเพื่อโชว์ไม่ได้เพื่อใช้งานจริง ซื้อสินค้าตามแฟชั่นตามกระแส

 

ดังนั้น ก่อนซื้อควรคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากสินค้าและบริการชนิดนั้น รวมถึงความจำเป็น ความคุ้มค่า และคำนึงถึงรายได้ของตัวเองด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วหนี้สินที่เกิดจากการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ไม่ควรมีสัดส่วนเกิน 20% ของรายได้ต่อเดือน

TSI_Article_012_PF_สัญญาณเตือน หนี้เกินตัว_01

สัญญาณที่ 2 : การไม่มีเงินสำรองไว้เผื่อฉุกเฉิน

 

เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเป็นเงินก้อนที่คนไทยส่วนใหญ่มักจะมองข้าม เพราะคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ หรือมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินแต่กลับนำไปใช้ซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น อุบัติเหตุและต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล แต่ไม่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินก็อาจจำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสิน ทำให้เป็นภาระต่อการผ่อนชำระ

 

ดังนั้น การมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยแต่ละครอบครัวควรมีเงินก้อนนี้อย่างน้อย 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน

 

สัญญาณที่ 3 : การใช้เงินในอนาคตโดยไม่คำนึงถึงรายได้

 

การใช้เงินในอนาคตโดยไม่คำนึงถึงรายได้ เป็นอีกสัญญาณหนึ่งของการก่อหนี้เกินตัว โดยส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยผ่านบัตรเครดิต ซึ่งหากไม่คำนึงถึงรายได้ก็จะเกิดการบริโภคที่เกินตัวและอาจทำให้มีปัญหาในการชำระหนี้

 

ดังนั้น หากคนไทยรับรู้ถึงสัญญาณ 3 สัญญาณดังกล่าว แล้วรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายและการการออม เชื่อว่าการก่อหนี้เกินตัวจะไม่เกิดขึ้น และทำให้หนี้ที่มีลดลงอย่างแน่นอน

 

สำหรับผู้ที่สนใจ อยากเรียนรู้เทคนิคและกระบวนการวางแผนชำระหนี้อย่างถูกต้อง เพื่อให้มีเงินเหลือออม สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “หมดหนี้ มีออม” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: