ปรับทิศทางการลงทุนรับโควิดสายพันธุ์ใหม่

โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
4 Min Read
9 ธันวาคม 2564
2.159k views
Inv_ปรับทิศทางการลงทุนรับโควิดสายพันธุ์ใหม่_Thumbnail
Highlights
  • การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ส่งผลให้ตลาดทุนทั่วโลกตื่นตระหนกไม่น้อย เพราะไม่รู้เลยว่าประสิทธิภาพของวัคซีนที่ฉีดไปแล้วยังใช้ได้หรือเปล่า ความรุนแรงต่อสุขภาพของผู้ติดเชื้อเป็นอย่างไร และอัตราการเสียชีวิตมีมากน้อยแค่ไหน ยังเป็นโจทย์ที่ต้องติดตาม

  • สภาพคล่องในระบบการเงินที่สูง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่คอยพยุงตลาดทุนทั่วโลกให้อยู่ได้ โจทย์ต่อมาที่ต้องติดตามคือ มาตรการทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะรับมือกับเรื่องของโอมิครอนอย่างไร ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย

  • อาจเป็นโอกาสในการทยอยสะสมกองทุนรวมในกลุ่มที่จะสามารถฟื้นตัวได้ดี เช่น กอง REITs กองทุนรวม Healthcare และกองทุนรวมด้านเทคโนโลยี เป็นต้น

หลังข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า โอมิครอน ที่พบในประเทศแอฟริกาใต้ และได้กระจายไปในหลายประเทศอย่างรวดเร็ว ทำให้นักลงทุนกลับมาตื่นตระหนกตกใจและกังวลต่อการระบาดที่รุนแรงอีกครั้งจนอาจถึงขั้นต้องกลับไปล็อกดาวน์กันอีกรอบ เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์นี้อาจดื้อต่อวัคซีน และระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่เรื่องของความรุนแรงด้านสุขภาพนั้น อาจต้องติดตามกันต่อไปว่าจะทำให้อัตราการเสียชีวิตพุ่งขึ้นหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ตลาดหุ้นทั่วโลกได้แกว่งตัวลงค่อนข้างแรง เช่น ในกรณีตลาดหุ้นไทยที่นักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิแรงขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน และอาจปรับลดมุมมองเศรษฐกิจไทยลง โดยเฉพาะหากการระบาดของโอมิครอนรุนแรงและแผ่วงกว้างจนถึงขั้นต้องปิดเมืองกันอีกรอบ ซึ่งจะกระทบกับโอกาสรับรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยในอนาคต

 

เมื่อมีแรงเทขายจากต่างชาติ ค่าเงินบาทก็ปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าการระบาดของโอมิครอน ค่าเงินบาทได้ปรับทิศทางมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากระดับเหนือ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนมาเกือบแตะระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน โดยตลาดหุ้นได้รับข่าวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ไปมากแล้ว และนักลงทุนกำลังเตรียมปรับตัวเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง แต่แล้วทิศทางเงินบาทก็พลิกกลับไปอ่อนค่าพร้อมกับเงินทุนที่ไหลออก

 

แล้วการระบาดของโอมิครอนจะพลิกมุมมองการลงทุนหรือไม่? แม้วันนี้จะเร็วเกินไปที่จะมีความชัดเจน แต่ขอเสนอแนวคิดสำหรับนักลงทุนไว้ 3 ประเด็น

  • ประเด็นที่ 1 คือ โอมิครอนอาจจะเป็นต้นกำเนิดของสายพันธุ์โควิด-21 ที่มีความรุนแรงกว่าที่เราเผชิญในปีที่ผ่านมา จนวัคซีนที่เรามีอยู่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้
  • ประเด็นที่ 2 คือ โอมิครอนมีลักษณะคล้ายกับสายพันธุ์เดลต้าแต่มีการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว่า ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง แต่ก็สามารถป้องกันอาการรุนแรงได้
  • ประเด็นที่ 3 คือ โอมิครอนก็ไม่ต่างกับไวรัสสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังหรือ Variant of Concern (VOC) แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็กลายสภาพมาเป็นเพียงไวรัสสายพันธุ์ที่มีความน่าสนใจหรือ Varian of Interest (VOI) ซึ่งไม่มีความรุนแรงอะไร

 

ผมไม่ได้มองว่านี่คือวิกฤติครั้งใหม่ ผมมองการระบาดของโอมิครอนคล้ายกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในช่วงก่อนหน้านี้ ที่ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงและการแพร่ระบาดเกิดได้รวดเร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิม ซึ่งก็น่าจะเป็นสภาพปกติของไวรัสทั่วไป คล้าย ๆ กับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่กลายพันธุ์ได้บ่อยครั้ง จนทำให้เราต้องมาฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กันทุกปี และเมื่อฉีดไปแล้ว ก็มีโอกาสป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ได้อยู่ดี เพียงแต่อาการไม่รุนแรงเท่ากับกรณีที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน แต่ในกรณีของโอมิครอน เราอาจต้องรอดูอาการของผู้ติดเชื้อว่าจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด เพราะจะมีส่วนสำคัญที่รัฐบาลในหลายประเทศจะใช้ประกอบการตัดสินใจล็อกดาวน์ หากระบบสาธารณสุขไม่สามารถรับมือจนมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นสูงได้ แล้วหากโอมิครอนกลายเป็นเดลต้าที่ดุร้ายรุนแรงแล้ว ตลาดทุนจะปรับตัวอย่างไร?

 

ผมอยากชวนให้นึกถึงผลกระทบต่อตลาดทุนในแต่ละเวฟหรือแต่ละช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หากไม่นับรวมการระบาดรอบแรกเมื่อต้นปีก่อนที่เรายังไม่รู้จักไวรัสตัวนี้ ยังไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ยังไม่รู้วิธีการรักษาระยะห่างหรือการปรับตัวใด ๆ ที่จะป้องกันการแพร่เชื้อ ไม่มีเครื่องมือตรวจเชื้อที่แพร่หลาย และโดยเฉพาะยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษา ผลของการระบาดในแต่ละเวฟทั่วโลกไม่ได้ส่งผลกระทบจนตลาดทุนย่อลงแรง หรือแม้แต่จะปรับตัวลดลง ก็ลดลงเพียงไม่นานก่อนที่จะดีดตัวขึ้นอีกครั้ง เพราะปัจจัยสำคัญที่ยังคอยพยุงตลาดทุนทั่วโลกให้อยู่ได้ คือ สภาพคล่องในระบบการเงินที่สูง และตัวร้ายที่จะดึงให้ตลาดทุนย่อลงแรงได้ ก็คือ การดูดซับสภาพคล่องที่เร็ว และนั่นคือขบวนการถอนมาตรการ QE และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อที่วิ่งขึ้นเร็วในสหรัฐฯ และทั่วโลกในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีผลทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและกลับไปถือสินทรัพย์ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไปก็คือ โอมิครอนจะทำให้ Fed เปลี่ยนมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เพียงใด และ Fed จะยังต้องกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้ออยู่หรือไม่? เราคงต้องติดตามผลการประชุมในวันที่ 15 ธันวาคมนี้กัน แต่ระหว่างนี้ เราลองมาคาดการณ์กันดูไหมครับ

 

โอมิครอนจะทำให้เงินเฟ้อเร่งขึ้นหรือย่อลง? ถ้าพูดถึงราคาน้ำมันก็น่าจะย่อลงตามความต้องการน้ำมัน เพราะการเดินทางที่ลดลง แม้รัฐบาลอาจไม่ได้ประกาศจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เร่งขึ้น คนอาจขาดความเชื่อมั่นในการเดินทางหรือซื้อสินค้าและบริการ ส่วนกลุ่มโอเปกคงต้องมาประชุมเรื่องการคงกำลังการผลิตต่อไปหรือจะปรับเปลี่ยนอย่างไร แต่นอกจากราคาน้ำมันแล้ว เงินเฟ้อก็อาจสูงต่อเนื่องได้จากปัจจัยภาคการผลิตอื่น เช่นปัญหาขาดแคลนแรงงานที่จะทำให้ค่าจ้างสูงขึ้นหลังพบผู้ติดเชื้อหรือแรงงานกลับออกนอกตลาดแรงงานมากขึ้น หรือปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่น โรงงานมีปัญหาไม่สามารถผลิตวัตถุดิบได้เพียงพอต่อการผลิตสินค้าขั้นปลาย จนส่งผลให้ต้นทุนของสินค้าขยับขึ้นตามค่าแรงหรือค่าวัตถุดิบอื่น ๆ แม้เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงจากราคาน้ำมันแต่ก็ไม่น่าจะลดลงได้มาก เพราะยังมีต้นทุนภาคการผลิตอื่นที่สูง

 

ผมมองว่าอัตราเงินเฟ้อหรือแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในอนาคตน่าจะย่อลงได้ชั่วคราว ซึ่งปัจจัยเงินเฟ้อที่ย่อลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงน่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของ Fed ในการไม่เร่งการถอนมาตรการ QE และตลาดทุนน่าจะหันมาให้น้ำหนักประเด็นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า โดยหลังการประชุม Fed ในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ Fed จะมีการปรับมุมมองอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ และที่สำคัญ คือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าจากคณะกรรมการแต่ละคน และหาก Fed ส่งสัญญาณเชิงห่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าห่วงเงินเฟ้อ หรือที่นักวิเคราะห์มักเรียกว่า สายพิราบมากกว่าสายเหยี่ยว Fed อาจส่งสัญญาณไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเหมือนที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

 

และหากเป็นเช่นนั้น โอมิครอนคงไม่น่าจะทำให้ตลาดทุนเกิดการปรับฐานครั้งใหญ่ได้ และการลดลงของราคาในช่วงก่อนการประชุมในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ น่าจะเป็นโอกาสในการทยอยสะสมกองทุนรวมในกลุ่มที่จะสามารถฟื้นตัวได้ดี นักลงทุนอาจพักเงินในบัญชีออมทรัพย์ หรือในตลาดเงิน (Money Market) เพื่อเตรียมเข้าลงทุนสะสม อย่างไรก็ดี ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อยังสูง การถือครองเงินสดอาจทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อมาก หากนักลงทุนรับความเสี่ยงได้ น่าจะหาโอกาสลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น กอง REITs ที่ผลตอบแทนจากอสังหาริมทรัพย์น่าจะพยุงตัวได้ในภาวะเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวกว่าที่คาดแต่ได้แรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ หรือกองทุนรวมด้านสุขภาพ หรือ Healthcare ที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ผลิตวัคซีน หรือกองทุนรวมด้านเทคโนโลยีที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องได้จากการทำงานหรือประชุมทางไกล และจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังต่ำ

 

ในส่วนประเทศที่น่าลงทุนในสถานการณ์การระบาดของโอมิครอน ผมมองว่าหากตลาดหุ้นในสหรัฐฯ หรือยุโรปปรับย่อลงได้พอสมควร ก็น่าจะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อแบบทยอยสะสม อยากแนะนำว่าไม่ควรลงทุนมากในทีเดียว แต่อาจแบ่งไม้เข้าซื้อเป็น 2-3 ช่วงเผื่อราคาย่อลง และในช่วงที่มีความไม่แน่นอนเช่นนี้ เราน่าจะเลือกประเทศที่ไม่น่าจะมีการระบาดจากโควิด-19 ระลอกใหม่เนื่องจากยังปิดประเทศอยู่ ซึ่งก็คือจีนที่ราคายังน่าสนใจและลดลงมามากในช่วงก่อนหน้าหลังมีการจัดระเบียบต่าง ๆ ภายในประเทศ

 

และสำหรับประเทศไทยนั้น ผมยังมองว่า หากดัชนีหุ้นไทยปรับตัวย่อลงในช่วงก่อนการประชุม Fed พร้อม ๆ กับกระแสเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทยโดยนักลงทุนต่างชาติแล้ว นักลงทุนน่าจะหันกลับมาให้ความสนใจหุ้นไทยได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังมีทิศทางขยายตัวได้ตามการส่งออก การใช้จ่ายของภาครัฐ และกำลังซื้อระดับกลาง-บนที่ยังแข็งแกร่ง ส่วนภาคการท่องเที่ยวน่าจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งแม้การระบาดของโอมิครอนไม่น่าจะทำให้เรากลับไปปิดประเทศ แต่ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวอาจลดลง ประกอบกับความไม่แน่นอนในการระบาดที่ยังมีสูง แต่ก็คล้ายกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ที่ท้ายสุดแล้วจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันก็จะลดลงในที่สุด บวกกับการเร่งการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ซึ่งน่าจะสร้างภูมิคุ้มกันการระบาดได้ดีขึ้นในช่วงต้นปีหน้า โดยเฉพาะบริษัทผลิตวัคซีนต่าง ๆ ได้ส่งสัญญาณว่าพร้อมปรับสูตรวัคซีนให้รับมือไวรัสกลายพันธุ์ได้ภายใน 100 วัน อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยไทยที่ยังน่าจะอยู่ในระดับต่ำและลากยาว ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญด้านสภาพคล่องให้ตลาดหุ้นไทยยังคงคึกคักได้ในสถานการณ์ที่โควิด-19 ยังอยู่กับเรา และเราจะต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ต่อไปในอนาคต

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม ตลอดจนเทคนิคในการปรับกลยุทธ์เปลี่ยนกลุ่มลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนตามวงจรเศรษฐกิจ การเติบโตของกลุ่มธุรกิจ หรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้น ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการและสามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: