ปฏิเสธไม่ได้ว่า... นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่จะเชี่ยวชาญ “ซื้อหุ้นเป็น” มากกว่า “ขายหุ้นเป็น” สังเกตได้จากเวลา “ซื้อหุ้น” จะซื้อด้วยความมั่นใจ หลังจากที่ได้ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ มาอย่างมากมาย แต่พอถึงจังหวะที่จะต้อง “ขายหุ้น” กลับลังเลและกังวล ทำให้เกิดความล่าช้าในการตัดสินใจ ด้วยเหตุผล 3 ประการ
1. คิดที่ว่าราคาจะสามารถสูงขึ้นไปได้อีก
เมื่อเห็นราคาหุ้นที่ซื้อไว้กำลังปรับตัวสูงขึ้น อารมณ์และความโลภจะทำให้นักลงทุนเริ่มมองโลกในแง่ดี ว่าราคาจะปรับตัวขึ้นไปอย่างเนื่องตามที่เราต้องการ จึงตัดสินใจถือต่อไป แม้ว่าขายตั้งแต่ตอนนี้จะได้กำไร 10-15% แล้วก็ตาม แน่นอน... หากราคาปรับขึ้นไปเรื่อยๆ ตามที่คาดไว้ก็ไม่เสียหายอะไร แต่หากวันดีคืนดี ราคาหุ้นปรับตัวลดลงรวดเร็วจากปัจจัยลบหรือปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลง จนขายไม่ทัน อาจเกิดความเสียหายเจ็บตัวหนักถึงขั้นขาดทุนเลยทีเดียว
2. การไม่ยอมรับความจริง (ดื้อ)
เมื่อหุ้นที่ซื้อมาราคาปรับตัวลดลง แต่นักลงทุนกลับตัดสินใจถือต่อโดยไม่มีจุดหยุดขาดทุน (Stop Loss) เพราะเชื่อว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งราคาจะปรับขึ้นมาได้ หากราคาหุ้นปรับขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่น่ามีปัญหาใดๆ แต่หากไม่เป็นไปตามที่คาดคิด การปล่อยหุ้นที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลงทิ้งไว้ในพอร์ตย่อมทำให้สถานการณ์ย่ำแย่มากขึ้นเรื่อยๆ
3. พยายามคาดเดาตลาดเพื่อหาจังหวะขายหุ้น
ในโลกความเป็นจริง ไม่มีใครที่สามารถมองอนาคตได้อย่างแม่นยำ ดังนั้น นักลงทุนที่ “ซื้อในราคาต่ำที่สุด แล้วขายในราคาสูงที่สุด” จึงหาได้ยากมาก แม้แต่วอร์เรน บัฟเฟตต์ และปีเตอร์ ลินช์ ยังยอมรับว่าไม่สามารถทำได้ ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือ ซื้อและขายในราคาที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ในราคาที่ดีที่สุด
จะเห็นว่า... นอกจากการ “ซื้อหุ้นให้เป็น” นักลงทุนยังต้อง “ขายหุ้นให้เป็น” ด้วย เพราะการซื้อและขายหุ้นอย่างเหมาะสมเป็นกระบวนการทำกำไรที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อย่าลืมว่า “จุดที่ทำกำไร คือ จุดในการขาย” แต่เมื่อซื้อแล้วขายไม่เป็น โอกาสขาดทุนก็ย่อมสูงกว่าได้กำไร
แน่นอนว่า... การซื้อหุ้นนอกจากจะต้องซื้อในราคาเหมาะสมแล้ว ยังต้องซื้อในจังหวะที่ดีด้วย แต่กำไรจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการขายหุ้นออกไป หากยังไม่ขายหุ้น กำไรที่เห็นก็เป็นเพียงกำไรทางบัญชีเท่านั้น ดังนั้น เมื่อนักลงทุนเห็นความสำคัญของการขายแล้ว เทคนิคถัดมาที่ต้องเรียนรู้ก็คงหนีไม่พ้นการ “ขายให้ถูกที่ถูกเวลา” เพื่อทำให้ผลตอบแทนที่จะได้รับอยู่ในระดับที่พึงพอใจ
ลองมาดู เหตุผลดีๆ ที่ควรขายหุ้น กัน
1. ตัดสินใจหรือวิเคราะห์ผิดพลาด
เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะบางครั้งเราซื้อหุ้นบนพื้นฐานของข้อมูลและการวิเคราะห์ แต่เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงหรือการวิเคราะห์มีความผิดพลาด ไม่สะท้อนความเป็นจริงของกิจการ ก็ควร “ขายหุ้น” ถึงแม้ว่าจะขาดทุนก็ตาม ย่อมดีกว่าใช้อารมณ์ในการตัดสินใจแล้วเสียดายตัดสินใจถือหุ้นต่อโดยไม่ยอมรับความจริง
2. ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
หากเห็นว่าราคาหุ้นปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ควรวิเคราะห์ให้ละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้นว่าเกิดจากสาเหตุใด หากเกิดจากการที่นักลงทุนประเมินได้อย่างแม่นยำก็เป็นสิ่งที่ดี แต่หากราคาปรับขึ้นด้วยสาเหตุที่ไม่น่าไว้วางใจ ก็อาจไม่ใช่เหตุผลที่ดีที่สุดในการตัดสินถือต่อเพื่อหวังกำไรที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้น ถ้าหุ้นขึ้นเร็วราวจรวดและแตะถึงระดับราคาที่เรามีกำไร ควรตัดใจขายออกมาก่อนส่วนหนึ่ง แล้วค่อยรอจังหวะซื้อคืนอีกครั้งก็ยังไม่สาย
3. ราคาหุ้น ไม่สะท้อนมูลค่าที่ประเมิน
ต่อให้คิดคำนวณราคาที่เหมาะสมมาเป็นอย่างดีแค่ไหน ก็ใช่ว่าราคาหุ้นจริงๆ จะขยับไปถึงจุดนั้นได้ เพราะการประเมินมูลค่าหรือการคาดการณ์ราคาเป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ ให้คนร้อยคนประเมินมูลค่าหุ้นเดียวกัน ก็อาจจะได้คำตอบร้อยแบบ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนต่อหุ้นตัวนั้นๆ
หากเราลงทุนตามการประเมินมูลค่าที่วางแผนไว้ แต่ราคายังคงนิ่งสนิทไม่ไปไหนสักที รอมานานหลายปี ราคาก็ยังไม่ไปตามคาด เราก็ควรจะขายหุ้นทิ้งและไปซื้อหุ้นใหม่
สำหรับมือใหม่หัดลงทุนหรือใครที่ขายหุ้นไม่ค่อยทัน ไม่รู้จะตั้งจุด Stop Loss อย่างไร อยากได้ตัวช่วยเจ๋งๆ ปัจจุบัน Settrade Streaming มีฟังก์ชันที่ชื่อว่า “Settrade Conditional Order” ที่สามารถตั้งคำสั่งเพื่อ Take Profit หรือ Cut Loss ไว้ล่วงหน้า เมื่อราคาขยับไปถึงจุดที่เราที่ตั้งไว้ บอกลาปัญหานั่งเฝ้าหน้าจอไปเลย ดูรายละเอียดเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่