เลือกลงทุนหุ้นไทยหรือไปต่างประเทศ

โดย เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม กรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส
2 Min Read
12 พฤษภาคม 2565
1.772k views
Inv_เลือกลงทุนหุ้นไทยหรือไปต่างประเทศ_Thumbnail
Highlights
  • ท่ามกลางสถานการณ์สงครามรัสเซียกับยูเครนที่มีท่าทียืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงการล็อกดาวน์บางพื้นที่เพื่อลดการแพร่ระบาด COVID-19 ของจีน ส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

  • ตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจ เมื่อพิจารณา Earning Yield Gap เทียบกับตลาดหุ้นโลก และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยก็ฟื้นตัว รวมถึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติก็ไหลเข้าต่อเนื่อง ส่งผลให้หุ้นไทยยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ต่อ

ผลกระทบจากสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียกับยูเครน การใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเพิ่มขึ้น และการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ของจีน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตลาดหุ้นต่างประเทศปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และสร้างแรงกดดันเชิงลบต่อตลาดหุ้นไทย ซึ่งบรรยากาศอึมครึมแบบนี้ ทำให้นักลงทุนตั้งคำถามกับตัวเองว่าควรลงทุนหุ้นไทยหรือไปต่างประเทศ

 

หากพิจารณาตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาที่กำลังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยการแพร่ระบาด COVID-19 ในจีน ซึ่งนำไปสู่การล็อกดาวน์บางพื้นที่ เช่น เซี่ยงไฮ้ และการปิดกั้นพื้นที่บางส่วนของกรุงปักกิ่ง ขณะที่สงครามรัสเซียกับยูเครนยังยืดเยื้อและมีโอกาสทวีความรุนแรงขึ้น  

 

โดยหากสงครามยืดเยื้อกว่าที่คาด อาจส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ เพราะสินค้าส่งออกสำคัญของรัสเซีย คือ ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำสำหรับหลายอุตสาหกรรม ผลที่ตามมาคือ ทำให้เกิดเงินเฟ้อและการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน

 

เมื่ออัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นและอยู่ระดับสูงเป็นเวลายาวนานจะทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศมีการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้น เช่น ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ระดับ 0.25% และปรับขึ้นอีก 0.5% ในเดือนพฤษภาคมนี้ รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วก็จะใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวตามสหรัฐอเมริกาด้วย

 

สำหรับเอเชีย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 4.9% ในปี 2565 เนื่องจากมีแนวโน้มเผชิญปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น (Stagflation) รวมถึงผลกระทบจากสงครามรัสเซียกับยูเครน การปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

 

ขณะที่ประเทศไทย ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามสหรัฐฯ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับขึ้น แต่เศรษฐกิจยังต้องการแรงหนุนจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 4 ปี 2564 ยังต่ำกว่าไตรมาส 4 ปี 2562 หรือก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ถึง 2.8% รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อไปตลอดปีนี้

 

หุ้นไทยหรือไปต่างประเทศ

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่บอกว่าตลาดหุ้นน่าสนใจ คือ ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของตลาดหุ้น (Earning Yield) กับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Yield) หรือเรียกว่า Earning Yield Gap โดย Earning Yield Gap เกิดจากการนำผลตอบแทนของตลาดหุ้น (กำไรต่อหุ้นของตลาดหารด้วยดัชนีหุ้น) ลบด้วยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) อายุ 1 ปี

 

ปัจจุบัน Earning Yield Gap ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 4% ดังนั้น หาก Fed รวมถึงธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้ว ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้ Earning Yield Gap แคบลง ขณะเดียวกันหากมองตลาดหุ้นไทย ประเมินว่ายังมีความได้เปรียบจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำไปอีกสักระยะ

 

หากเปรียบเทียบกับ Forward Earning Yield Gap ของหุ้นโลก ภายใต้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่อาจจะมีการปรับขึ้นอีก 5 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พบว่า Forward Earning Yield Gap ของหุ้นไทยกว้างขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 4.7% สูงกว่าตลาดหุ้นโลก (MSCI World) ที่แคบลงมาอยู่ที่ 3.5% ถือเป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยตลาดหุ้นไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ สะท้อนได้จากในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยสูงสุดในภูมิภาคประมาณ 1.1 แสนล้านบาท

 

ความน่าสนใจของหุ้นไทยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้รวบรวมข้อมูลกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนปี 2564 ที่เปิดเผยทั้งหมด 650 บริษัท มีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 1.04 ล้านล้านบาท สูงกว่า 21.3% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาด Covid-19 อยู่ที่ประมาณ 862,000 ล้านบาท

 

โดยฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ได้ทำการแจกแจงกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนออกเป็นส่วน ๆ พบว่ากำไรปี 2564 ที่เพิ่มขึ้นมาจากบริษัทจดทะเบียนใหม่ในปี 2563 – 2564 ทั้งหมด 38 บริษัท ซึ่งมีกำไรสุทธิรวมปี 2564 ประมาณ 58,000 ล้านบาท โดยถ้าหักส่วนนี้ออก กำไรสุทธิรวมของบริษัทจดทะเบียนปี 2564 จะเหลือ 930,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.1% เมื่อเทียบกับปี 2562

 

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทจดทะเบียนที่กำไรเติบโตแรง ๆ หรือมีกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่า 5,000 ล้านบาท ในช่วงที่เกิด COVID-19 ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีเกราะป้องกันหรือบริษัทที่ฟื้นตัวตามภาพรวมเศรษฐกิจโลก ซึ่งราคาหุ้นมักจะตอบสนองในเชิงบวกและปรับตัวขึ้นอย่างน่าประทับใจ

 

จากสถานการณ์ดังกล่าว ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยยังมีความได้เปรียบ อีกทั้งสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียมีไม่ถึง 1% จึงได้รับผลกระทบจำกัด ประกอบกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยฟื้นตัว และเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าต่อเนื่องหนุนให้หุ้นไทยยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ต่อ

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือสนใจเรียนรู้ภาพรวมและเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์อุตสาหกรรม เพื่อค้นหาหุ้นดีในอุตสาหกรรมที่โดดเด่น น่าลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: