สกัดจุด Scan หุ้นจากงบการเงิน

โดย SET
3 Min Read
28 ธันวาคม 2563
6.074k views
TSI_116_สกัดจุด Scan หุ้นจากงบการเงิน
Highlights
  • หัวใจสำคัญของการอ่านและวิเคราะห์งบการเงินของกิจการก็คือ การทำความเข้าใจข้อมูลต่างๆ ในงบการเงิน เพื่อให้เราสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างสมเหตุสมผล แถมยังทำให้การลงทุนมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สามารถเลี่ยงหุ้นที่ควรเลี่ยง และติดตามหุ้นที่ควรตามติดได้

  • งบการเงินมี 3 งบหลักๆ คือ งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่เราเรียกกันว่า “หมายเหตุประกอบงบการเงิน” ที่จะแจกแจงรายละเอียดต่างๆ ที่ไม่มีในงบทั้ง 3 ประเภท

เวลาลงทุนในหุ้น ใครๆ ก็อยากได้หุ้นจากบริษัทที่ดี ซึ่งการวิเคราะห์บริษัทว่าดีหรือไม่ ต้องดูข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณที่สามารถสะท้อนฝีมือการบริหารธุรกิจ ทั้งตัวผลิตภัณฑ์ การบริหารบุคลากร การตลาด รวมไปถึงการบริหารการเงิน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ สามารถเพิ่มมูลค่าหุ้นของบริษัทให้อยู่ในระดับที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

 “งบการเงิน” ถือว่าเป็นตัวแทนของรายงานทางการเงินที่สะท้อนประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทที่ชัดเจนที่สุด ดังนั้น นักลงทุนจึงควรเข้าใจว่างบการเงินมีความสำคัญอย่างไรต่อการตัดสินใจลงทุน ด้วยการ “ทำความเข้าใจ” ข้อมูลในงบการเงินเพื่อหาโอกาสในการลงทุน เพราะหากเราทราบว่าต้องดูข้อมูลตรงไหน และรู้ว่าข้อมูลนั้นสำคัญอย่างไร เราก็จะสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น

 

สำหรับนักลงทุนระยะสั้นถึงสั้นมาก (หรือนักเก็งกำไร) อาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องอ่านงบการเงินเลย เพราะไม่ได้ต้องการจะถือหุ้นยาวแบบนักลงทุนระยะยาว ที่ต้องคอยติดตามผลประกอบการผ่านงบการเงินอยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก ในความจริงแม้จะเป็นลงทุนระยะสั้นๆ นักลงทุนก็ควรอ่านงบการเงินแบบสรุปมาบ้าง อย่างน้อยก็ดูผ่านๆ เพื่อให้แน่ใจว่า... บริษัทมีที่มาที่ไปทางธุรกิจ มีรายได้ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสมเหตุผล และพอมีกำไรบ้าง ไม่ใช่บริษัทที่ขาดทุนซ้ำซาก หนี้บานเบอะ ขาดทุนสะสมหนาปึ้ก ส่วนของทุนใกล้ติดลบ ซึ่งหุ้นแบบนั้นจัดเป็นหุ้นที่ไม่น่าลงทุน

 

 

ส่วนนักลงทุนที่เน้นลงทุนระยะยาวหรือแนววีไอ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตามดูงบการเงิน ซึ่งสาระสำคัญของงบการเงินที่นักลงทุนต้องพิจารณามีอยู่ด้วยกัน 3 งบและ 1 รายงาน คือ

 

รวยไม่รวย... ดูที่งบแสดงฐานะการเงิน หรืองบดุล (Balance Sheet)

 

ใช้ดูฐานะและโครงสร้างทางการเงิน สิ่งที่เรามองหาจากงบดุล คือ

 

  • คุณภาพสินทรัพย์ ต้องเป็นสินทรัพย์ที่พร้อมทำมาหากินและให้ประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น หลักๆ คือ เงินสด ลูกหนี้ สินค้าคงคลัง และที่ดิน อาคาร อุปกรณ์
  • สภาพคล่องกิจการ ธุรกิจควรมีสินทรัพย์หมุนเวียน (เงินสด หรือลูกหนี้) มากกว่าหนี้สินระยะสั้น (เงินกู้ระยะสั้นที่ต้องชำระคืนภายใน 1 ปี)
  • ความมั่นคงของกิจการ โดยดูจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio : D/E) ซึ่งธุรกิจที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ส่วนของเจ้าของบางเฉียบ ถือว่าไม่ดี ถ้าจะให้ดี อัตราส่วนนี้ต้องไม่เกิน 2 เท่า เพราะยิ่ง “หนี้น้อย ส่วนของทุนหนา” ก็จะยิ่งดูดี
  • กำไรสะสม (Retain Earnings) เป็นกำไรสุทธิที่เกิดจากการทำมาหากินของบริษัทนับตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทจนถึงปัจจุบัน บริษัทที่มีกำไรสะสมมาก แสดงถึงฝีมือทำมาหากินที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสปันผลสูง

 

เก่งไม่เก่ง... ดูที่งบกำไรขาดทุน (Income Statement)

 

ใช้ดูผลการดำเนินงาน เราต้องการหุ้นที่ รายได้เพิ่ม กำไรเพิ่ม ซึ่งควรสแกนดูทั้ง Top Line หรือ “รายได้” บรรทัดแรก และ Bottom Line หรือ “กำไรสุทธิ” บรรทัดสุดท้าย ทั้งสองตัวเลขนี้ต้องเป็นบวกและควรจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วหรือไตรมาสที่แล้ว แต่การจะมีกำไรสุทธิเพิ่ม ก็ต้องมาจาก “รายได้เพิ่ม” ไม่ควรมาจากการลดต้นทุนอย่างเดียว เพราะเป็นการเพิ่มกำไรที่ไม่ยั่งยืน

 

อย่าลืมว่า... หากบริษัททำมาหากิน มีรายได้เพิ่ม มีกำไรดี ผู้ถือหุ้นก็จะอยู่ดีกินดีไปด้วย เพราะกิจการจะจ่ายปันผลดี หรือถ้าไม่จ่ายเป็นเงินปันผลออกมา ก็ไปสะสมอยู่ใน “กำไรสะสม” ในส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มมากขึ้น นั่นคือ บริษัทมีฐานะทางการเงินเข้มแข็งมากขึ้น

 

รอดไม่รอด... ดูที่งบกระแสเงินสด (หรือ Cash Flow Statement)

 

ใช้ดูที่มาที่ไปของกระแสเงินสดของกิจการ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ

 

  • กระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน แสดงกระแสเงินสดไหลเข้าออกจากการทำมาหากิน ซึ่งเงินสดส่วนนี้ บรรทัดสุดท้ายควรต้องเป็น “บวก” แปลว่าทำมาหากินแล้วสร้างเงินสด ไม่ใช่ผลาญเงินสด
  • กระแสเงินสดสุทธิจากการลงทุน แสดงการใช้เงินสดออกไปลงทุน ถ้าส่วนนี้เป็น “ลบ” แปลว่าดี เพราะแสดงว่ามีการนำเงินออกไปลงทุนสร้างผลตอบแทนเพิ่ม
  • กระแสเงินสดสุทธิจากการจัดหาเงิน ถ้าเป็นลบ แสดงว่าใช้เงินสดจ่ายออก เช่น ปันผลหรือชำระหนี้ แต่ถ้าส่วนนี้เป็นบวก แสดงว่ารับเงินสดเข้า เช่น กู้เงินเพิ่มหรือเรียกเพิ่มทุนเข้ามา ซึ่งเห็นชัดเลยว่าเป็น “ลบ” ถึงจะดี

 

โปร่งใสหรือไม่... ดูที่หมายเหตุประกอบงบการเงิน (Notes to Financial Statement)


ใช้ดูขยายความรายการต่างๆ ในงบการเงินทั้งสาม ดูคดีความฟ้องร้อง เหตุการณ์ที่ผิดปกติ และข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นสาระสำคัญ แต่ไม่ได้แสดงในงบ เพื่อนักลงทุนสามารถนำมาประกอบการวิเคราะห์ถึงที่มาที่ไปของตัวเลขในบางรายการได้ ซึ่งหมายเหตุประกอบงบการเงินถือเป็นอีกหนึ่งในข้อมูลที่มีความสำคัญมาก

 

จากที่เล่ามาทั้งหมด นักลงทุนก็คงพอจะทราบกันไปแล้วว่า... ในการอ่านงบการเงิน เค้าต้องดูหรือต้องวิเคราะห์อะไรบ้างในแต่ละงบ ดังนั้น ก่อนลงทุนหุ้นตัวใด อย่าลืม!!! Scan หุ้นจากงบการเงินก่อนเสมอ เพราะจะช่วยให้การลงทุนของเราปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สามารถทำกำไรในตลาดหุ้นได้มากขึ้น จะเลี่ยงหุ้นที่ควรเลี่ยง จะติดตามหุ้นที่ควรตามติด ซึ่งเป็นการทำความรู้จักกับหุ้นที่สุดแสนจะคลาสสิคและได้ผลที่สุด

TSI_Article_116_Inv_สกัดจุด Scan  หุ้นจากงบการเงิน_01

สำหรับใครที่อยากรู้เทคนิคในการอ่านงบการเงินและวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินประเภทต่างๆ ของกิจการ เพื่อเลือกหุ้นดีน่าลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนหุ้นมั่นใจ ต้องเข้าใจงบการเงิน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: