นักลงทุนทั่วโลกกำลังจับตามองภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาว่ามีโอกาสถดถอย (Recession) หรือไม่ เพราะหนึ่งในสัญญาณที่ใช้ในการพยากรณ์ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยที่สำคัญ คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี มีโอกาสต่ำกว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี หรือเรียกปราฏการณ์นี้ว่า Inverted Yield Curve
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อธิบายว่า สาเหตุที่จับตามองภาวะดังกล่าวเนื่องจากที่ผ่านมา Inverted Yield Curve มักเกิดก่อนที่เศรษฐกิจจะเป็นขาลงหรือเศรษฐกิจถดถอย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ มักจะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวมากกว่าระดับศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นมาก และสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ ทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้นมาก เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา ดังนั้น จึงเป็นสัญญาณเตือนที่ชี้ว่าเศรษฐกิจอาจถดถอยได้ในอนาคต
โดยในอดีตที่ผ่านมา Inverted Yield Curve สามารถพยากรณ์การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้หลายครั้ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีของสหรัฐอเมริกา โดยหากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปี 2523 เป็นต้นมา พบว่าสหรัฐฯ จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายใน 1 ถึง 2 ปี หลังจากเกิด Inverted Yield Curve อย่างไรก็ดี Inverted Yield Curve เคยให้คำเตือนที่ผิดพลาดเช่นกัน เช่น ในปี 2525 และ 2541 ที่แม้จะเกิด Inverted Yield Curve แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยตามมาในช่วงนั้น
ดังนั้น นักลงทุนจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจประกอบด้วยว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ โดยอัสนา ดุลลาพันธุ์ นักวิเคราะห์ Wealth Management Research บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) มองว่าเศรษฐกิจโลกจะยังไม่เกิดภาวะถดถอยในช่วง 6 – 12 เดือนข้างหน้า ด้วยปัจจัย ดังนี้
ถึงแม้ว่าจากนี้ไปเศรษฐกิจโลกอาจไม่เกิดภาวะถดถอย แต่ทัตพงศ์ วงศ์สินธน นักวิเคราะห์ Wealth Management Research บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะเกิดภาวะถดถอยแบบอ่อน ๆ ที่เรียกว่า Quasi Stagflation คือ เศรษฐกิจเติบโตที่ระดับต่ำ 0 – 2% (เศรษฐกิจเติบโตไม่ติดลบ) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับสูงกว่า 2%
“เศรษฐกิจเติบโตช้าและอยู่ในระดับต่ำ แต่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงกว่า 2% อาจส่งผลลบต่อการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน ซึ่ง Bloomberg ปรับลดคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาลงมาอยู่ในแดนลบเป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการชะลอตัวลงของการเติบโตของกำไรหลังจากเติบโตอย่างร้อนแรงในปี 2564” ทัตพงศ์ อธิบาย
เมื่อการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มปรับลดลง ขณะที่ระดับมูลค่าพื้นฐานของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ในระดับค่อนข้างสูง อัสนาแนะนำให้นักลงทุนจับตาตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด “มีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดหุ้นจะปรับฐานลงมาได้”
ทัตพงศ์ แนะนำนักลงทุนทุกคนควรกระจายการลงทุนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้วยการเข้าสู่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในประเทศเอเชียที่มีระดับมูลค่าพื้นฐานต่ำ และได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ส่วนเกินทั่วโลก หรือกลุ่มหุ้นที่มีศักยภาพในการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อรักษาอัตราการทำกำไร หรือ Margin ให้เติบโตสม่ำเสมอในสภาวะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูง
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม ตลอดจนเทคนิคในการปรับกลยุทธ์เปลี่ยนกลุ่มลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนตามวงจรเศรษฐกิจ การเติบโตของกลุ่มธุรกิจ หรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้น ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการและสามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่