5 ข้อดี ETF ที่นักลงทุนไม่ควรพลาด

โดย SET
3 Min Read
24 ธันวาคม 2563
18.637k views
TSI_Article_112_Inv_Thumbnail
Highlights
  • ETF เป็นกองทุนที่สามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เหมือนหุ้นตัวหนึ่ง มุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของดัชนีหรือราคาสินทรัพย์ที่กองทุนใช้อ้างอิง (Passive Fund) ซึ่งมีหลากหลายประเภท ทั้งดัชนีราคาหุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ หุ้นรายกลุ่มอุตสาหกรรม รวมไปถึงดัชนีตราสารหนี้ และทองคำ

  • ETF มีคุณสมบัติที่แตกต่างจากเครื่องมือการลงทุนอื่นๆ และมีคุณสมบัติเด่นเรื่องความสามารถในการกระจายการลงทุน จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน

ETF ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ชื่นชอบการลงทุนสไตล์ Passive Investing เนื่องจาก ETF มีลักษณะคล้ายกับกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) ซึ่งมีนโยบายการลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนให้ออกมาใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของดัชนีมากที่สุด


แต่ถึง ETF จะได้ชื่อว่าเป็นกองทุน ก็มีความพิเศษแตกต่างกับกองทุนรวมทั่วๆ ไป คือ ETF เป็นกองทุนรวมดัชนีที่สามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เหมือนหุ้นรายตัว หรือสามารถซื้อขายแบบ Real Time นั่นเอง


จากเหตุผลที่กล่าวมา เชื่อว่าคงเป็นเหตุผลที่นักลงทุนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจและอยากจะเริ่มลงทุนใน ETF แต่รู้หรือไม่ว่า... นอกจากเราจะซื้อ ETF เพื่อหวังผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคาแล้ว ETF ยังมีข้อดีอีกมากมาย เราลองมาดู 5 ข้อดี ETF ที่นักลงทุนไม่ควรพลาด กันดีกว่า

  1. ETF เครื่องมือกระจายความเสี่ยง ต้นทุนต่ำ

เนื่องจาก ETF มีนโยบายการลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนให้ออกมาใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง นั่นหมายความว่า ETF มีตะกร้าสินทรัพย์การลงทุนเหมือนดัชนีที่อ้างอิง ตัวอย่างเช่น หากเราชื่นชอบหุ้นกลุ่มแบงก์ แต่ปัญหา คือ ไม่รู้จะเลือกซื้อหุ้นแบงก์ตัวไหน เพราะกลัวเลือกหุ้นผิดตัว หรืออยากจะซื้อให้ครบทุกตัวก็ใช้เงินลงทุนเยอะเกินไป


นี่คือสิ่งที่ ETF เข้ามาตอบโจทย์ กรณีนี้วิธีแก้ปัญหาคือ เราสามารถซื้อ ETF ที่ชื่อ EBANK(กองทุนเปิด KTAM SET BANKING ETF TRACKER) เพียงกองเดียว ก็จะเท่ากับว่าเราได้กระจายการลงทุนไปยังหุ้นกลุ่มแบงก์ครบทุกตัว ด้วยเงินลงทุนที่ไม่สูงมาก พร้อมช่วยลดความเสี่ยงจากการเลือกหุ้นผิดตัวได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

  1. ETF ตัวเลือกที่ดีสำหรับการลงทุนแบบ DCA

การลงทุนแบบ DCA นั้น นอกจากวินัยการลงทุนแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเติบโตของสินทรัพย์ที่เราตัดสินใจเลือกมาทำการ DCA


ถ้าถามว่าทำไม ETF ถึงแก้ปัญหาข้อนี้ได้ นั่นก็เพราะ ETF คือ สินทรัพย์ที่ไม่มีวันล้มละลาย หรือมูลค่าไม่มีทางเป็นศูนย์! เพราะมีการกระจายสินทรัพย์ไว้หลายตัว ซึ่งจะแตกต่างจากการลงทุนสินทรัพย์รายตัว ที่อาจเกิดความไม่แน่นอนขึ้นได้ เช่น ธรรมาภิบาลของผู้บริหาร หรือการถูกฟ้องร้อง ที่อาจทำให้บริษัทที่เคยดีเกิดล้มละลายได้ ดังนั้น ETF จึงเหมาะกับการลงทุนระยะยาวด้วยวิธีการ DCA นั่นเอง

  1. ใช้ ETF จัดพอร์ตแบบ Asset Allocation

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักคำนี้ Asset Allocation คือ การจัดสรรเงินลงทุน โดยกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์หลายๆ ประเภทเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยกำหนดสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของนักลงทุน และระยะเวลาที่ต้องการลงทุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุน


ตัวอย่างเช่น สัดส่วนของพอร์ต 100% ที่เราเลือกมาทำ Asset Allocation ประกอบไปด้วย

  • หุ้นไทย 50%
  • หุ้นต่างประเทศ 35%
  • และสินทรัพย์ทางเลือกอีก 15%


และเนื่องจาก ETF เป็นเหมือนตัวแทนของสินทรัพย์ต่างๆ จากการอ้างอิงตามดัชนี เราจึงสามารถใช้ ETF ในการทำ Asset Allocation ตามที่เราออกแบบไว้ได้ โดยขอยกตัวอย่าง ETF ที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น

  • TDEX 50% (ให้เป็นตัวแทนของ “หุ้นไทย”)
  • CHINA 35% (ให้เป็นตัวแทนของ “หุ้นต่างประเทศ”)
  • GLD 15% (ให้เป็นตัวแทนของ “สินทรัพย์ทางเลือก”)


จากนั้นเราลองมาดูผลตอบแทนย้อนหลังของ ETF จากการทดสอบว่า... หากเราลงทุนแบบ DCA ทุกเดือน เดือนละ 2,000 บาท กับพอร์ตนี้ตั้งแต่ปี 2558 (ย้อนหลัง 5 ปี) ปัจจุบันหน้าตาจะเป็นอย่างไร?

TSI_Article_112_Inv_5 ข้อดี ETF ที่นักลงทุนไม่ควรพลาด_01

จากตัวอย่างในตารางจะเห็นว่า ถึงแม้เราจะกระจายการลงทุนในหุ้นไทยด้วย TDEX แล้ว ก็ยังมีโอกาสติดลบได้ (หรือหากเราเลือกหุ้นเองอาจติดลบได้เยอะกว่านี้) เพราะหุ้นไทยก็นับเป็นเพียง 1 สินทรัพย์จากสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีอยู่ทั่วโลกที่เราสามารถลงทุนได้ผ่าน ETF บางครั้งโอกาสของการลงทุนอาจอยู่ที่สินทรัพย์อื่น เช่น ประเทศจีนที่กำลังเติบโตอย่างโดดเด่นในที่ผ่านมา หรือแม้แต่ยามตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน “ทองคำ” ก็อาจเป็นตัวช่วยพยุงพอร์ตเราไว้ กรณีแบบนี้ก็เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง


การที่เรากระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่นๆ ทั่วโลก บวกกับระยะเวลาการลงทุนที่นานพอ จะช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตเราได้มาก เพียงเท่านี้... เราก็สามารถทำ Asset Allocation ด้วย ETF ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปซื้อสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อทำการ Asset Allocation เลย นอกจากนั้น ETF ยังมีค่าธรรมเนียมถูกกว่าหลายๆ สินทรัพย์อีกด้วย


สิ่งสำคัญหนึ่งในการทำ Asset Allocation ก็คือ Portfolio Rebalancing หรือการปรับสัดส่วนของสินทรัพย์หลักที่เราวางแผนไว้ในระยะยาว ให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนเดิมที่เราตั้งไว้ตอนแรก ด้วยการขายสินทรัพย์ส่วนเกิน และซื้อสินทรัพย์ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าที่เรากำหนด

TSI_Article_112_Inv_5 ข้อดี ETF ที่นักลงทุนไม่ควรพลาด_02

จะเห็นว่า... ในช่วงแรกๆ ของการลงทุน พอร์ตเราจะเป็นไปตามแผนที่กำหนด ตามความเสี่ยงหรือวัตถุประสงค์ของเรา แต่พอเวลาผ่านไปพอร์ตเริ่มเกิดการกำไรขาดทุนจากราคาตลาด ทำให้สัดส่วนพอร์ตเปลี่ยนไป จากรูปด้านบน หากเราจะทำการ Rebalancing สิ่งที่เราต้องทำ คือ ขาย CHINA ให้เหลือ 35% แล้วนำมาซื้อ TDEX ให้กลับมาเป็น 50% ตามแผนที่เราตั้งไว้ตอนแรกนั่นเอง

ทั้งนี้ การทำ Portfolio Rebalancing ตามหลักการเราสามารถเลือกทำได้ 3 วิธี คือ

  • การกำหนดเวลา (Time) เช่น ทุกครึ่งปี หรือทุกหนึ่งปี
  • การกำหนดสัดส่วน (Threshold) เช่น เมื่อสัดส่วนเปลี่ยนแปลงไปเกิน 10%
  • เมื่อความเสี่ยงที่รับได้เปลี่ยนไป เช่น เมื่อเราอายุมากขึ้น ก็อาจปรับสัดส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงให้ลดลง เป็นต้น

  1. ลงทุนเพื่อสร้างกระแสเงินสดจาก “เงินปันผล” ได้ แม้ไม่มีเวลาติดตามตลาด

สำหรับนักลงทุนสายปันผล ปัญหาการเลือกหุ้นรายตัวเพื่อหาปันผลจะหมดไป เพราะเราสามารถเลือกลงทุนหุ้นใน SETHD ได้ทั้ง 30 ตัว ผ่าน ETF เพียงตัวเดียวที่อิงกับดัชนี SETHD ได้เลย


ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งที่เราได้จากการลงทุน ETF เพื่อรับเงินปันผลก็คือ เราไม่จำเป็นต้องติดตามตลาดว่าหุ้นตัวไหนปันผลดี หรือปันผลไม่ดี เพราะนอกจาก ETF ประเภทนี้ จะเน้นลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของ SETHD แล้ว ยังรวมไปถึงหุ้นที่อยู่ระหว่างการเข้าหรือออกจากการเป็นหลักทรัพย์ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี SETHD อีกด้วย เรียกได้ว่ามีคนคอยติดตามและเฝ้าตลาดแทนเรานั่นเอง


นอกจากนี้ ETF บางตัวก็มีนโยบายจ่ายเงินปันผลเช่นกัน โดยในแต่ละกองทุนของ ETF จะมีนโยบายพิจารณาจ่าย หรือไม่จ่ายเงินปันผลก็ได้ นักลงทุนจึงต้องศึกษาข้อกำหนดและเงื่อนไขให้ดีเสียก่อน

  1. Tracking Error ก็สำคัญเช่นกัน

เนื่องจาก ETF มีความเป็นกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) อยู่มาก เราจึงจำเป็นต้องดู Tracking Error ด้วย เพราะ Tracking Error จะเป็นตัวเลขที่บอกว่า ETF กองนี้สร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงมากน้อยเพียงใด หาก ETF ตัวนั้นมีค่า Tracking Error มาก แสดงว่าผลตอบแทนของ ETF กองนั้น มีความเบี่ยงเบนไปจากดัชนีอ้างอิงมาก ในทางกลับกัน หากมีค่า Tracking Error น้อย ก็แสดงว่าว่าผลตอบแทนของ ETF กองนั้นมีความเบี่ยงเบนไปจากดัชนีอ้างอิงน้อย


ตัวเลขนี้จะเป็นตัวบ่งบอกเราว่า ETF กองนั้นๆ มีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนเลียนแบบดัชนีได้มีประสิทธิภาพเพียงใด ยิ่งในกรณีที่ ETF แต่ละตัวมีดัชนีอ้างอิงตัวเดียวกัน Tracking Error จะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือก ETF ที่อิงตามดัชนีที่เราต้องการ โดยเราสามารถดูค่า Tracking Error ได้จากหนังสือชี้ชวน


ต้องทำใจได้... กับการขึ้นลงของราคาตามดัชนี


สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ให้นักลงทุนที่ตัดสินใจลงทุนใน ETF ทราบว่า... เมื่อเราเลือกที่จะลงทุนสไตล์ Passive Investing แล้ว แปลว่าเราต้องมีความอดทน และยอมรับกับการขึ้นลงของราคาตามดัชนีให้ได้


หรือแม้กระทั่งหลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ETF โดยคาดหวังผลตอบแทนให้ได้มากกว่าดัชนี เนื่องจาก ETF นั้นมีนโยบายการลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนให้ออกมาใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของดัชนีมากที่สุดนั่นเอง


สำหรับใครที่สนใจอยากเริ่มลงทุนใน ETF สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุน ETF ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม

แท็กที่เกี่ยวข้อง: