วิเคราะห์งบการเงินเบื้องต้น ก่อนตัดสินใจลงทุน

โดย เจษฎา เจริญสันติพงศ์ Assistant Manager Branch Banking Client Marketing บลจ.ธนชาต
2 Min Read
3 พฤษภาคม 2565
63.938k views
Inv_วิเคราะห์งบการเงินเบื้องต้น ก่อนตัดสินใจลงทุน_Thumbnail
Highlights

การอ่านงบการเงินจะช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพว่า บริษัทที่จะลงทุนนั้นทำมาหากินเก่งหรือเปล่า (งบกำไรขาดทุน) มีความแข็งแกร่งไหม หนี้สินเยอะหรือไม่ (งบดุล) และที่สำคัญช่วยสะท้อนภาพจริงของกิจการ (งบกระแสเงินสด) ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุน จึงควรทำความเข้าใจข้อมูลสำคัญที่อยู่ในงบการเงิน เพื่อที่จะคัดเลือกบริษัทที่ดีและสร้างโอกาสในการลงทุน

ประมาณเดือนเมษายน – พฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงที่นักลงทุนเฝ้าคอยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ตัวเองลงทุนเอาไว้ว่าจะออกมาเติบโตตามที่คาดหวังหรือไม่ รวมถึงดูผลประกอบการโดยรวมเพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน ซึ่งงบการเงินจะประกอบด้วย 4 ส่วน ดังนี้

 

1. งบแสดงฐานะทางการเงินหรืองบดุล เป็นงบที่บ่งบอกความมั่งคั่ง มั่นคง และบอกฐานะของกิจการว่ารวยขึ้นหรือจนลงอย่างไร มีสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้นเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนออกมาในงบแสดงฐานะทางการเงิน ซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อบริษัท ดังนี้
  • คุณภาพของสินทรัพย์ สินทรัพย์นั้นต้องเป็นสินทรัพย์ที่พร้อมทำมาหากินและให้ประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น เช่น เงินสด ลูกหนี้การค้า สินค้าคงคลัง ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ต่าง ๆ
  • สภาพคล่องของกิจการ ธุรกิจควรมีสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าหนี้สิน พิจารณาได้จากสินทรัพย์หมุนเวียนและ หนี้สินหมุนเวียน
  • ความมั่นคงของกิจการ พิจารณาจากอัตราหนี้สินต่อหุ้น (D/E Ratio) โดยธุรกิจที่ดีอาจถูกมองว่าควรมี D/E Ratio ไม่เกิน 2 เท่า แต่โดยธรรมชาติของบางอุตสาหกรรมอาจมีค่า D/E Ratio สูง เช่น ธนาคารพาณิชย์ ประกันภัย เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีผลิตภัณฑ์เป็นเงินซึ่งระดมทุนผ่านทางหนี้ เช่น เงินฝาก และปล่อยกู้ซึ่งอยู่ในฝั่งสินทรัพย์ ทำให้ D/E Ratio อยู่ในระดับสูง 5 – 10 เท่า
  • กำไรขาดทุนสะสมยังไม่ได้จัดสรร หมายถึง กำไรสะสมและกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบันที่คงเหลือจากการจัดสรรในกรณีที่มียอดดุลสุทธิเป็นผลขาดทุนสะสม โดยแสดงจำนวนเงินไว้ในเครื่องหมายวงเล็บและเรียกเป็น “ขาดทุนสะสม”

 

2. งบกำไรขาดทุน เป็นงบที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการดำเนินงาน บริษัททำธุรกิจได้เก่งหรือไม่ มีรายได้ รายจ่าย ต้นทุน และผลกำไรเป็นอย่างไร รวมถึงแนวโน้มของกำไรที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยนักลงทุนควรสังเกตข้อมูล ดังนี้
  • รายได้ ธุรกิจที่ดีควรมีรายได้ที่เติบโตมาจากธุรกิจหลัก ซึ่งจะเห็นได้จากรายงานงบในทุกไตรมาส ซึ่งธุรกิจที่ดี รายได้จากการขายและบริการจะต้องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • รายได้พิเศษ ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานตามปกติ เช่น กำไรจากการขายที่ดิน ถ้าไตรมาสไหนมีรายได้ดังกล่าวจะทำให้รายได้ในไตรมาสนั้นเติบโตขึ้น ดังนั้น รายได้พิเศษจึงไม่มีความแน่นอนและไม่ทำให้ธุรกิจมั่นคงอย่างยั่งยืน จึงควรให้ความระมัดระวังในการศึกษาข้อมูล

 

3. งบกระแสเงินสด เป็นงบที่บอกสภาพคล่องของกิจการ เพราะงบกำไรขาดทุนจะบันทึกด้วยเกณฑ์คงค้าง แต่อาจไม่ได้มีเงินสดเข้าหรือออกจริง จึงต้องมีงบกระแสเงินสด เพราะเงินสดสำคัญต่อการอยู่รอดของกิจการ และใช้พิจารณาเงินสดที่หมุนเวียนจากกิจกรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
  • กระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน แสดงเงินสดไหลเข้าและออกจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเงินสดส่วนนี้ควรเป็น “บวก” แปลว่า กิจการสามารถดำเนินธุรกิจและสร้างหรือเก็บเงินสดได้ ไม่ใช่ดำเนินธุรกิจแล้วไม่มีเงินสดเข้ามาเลย คือ เงินสดติดลบ
  • กระแสเงินสดสุทธิจากการลงทุน แสดงการใช้เงินสดออกไปเพื่อลงทุน ถ้าส่วนนี้ตัวเลขเป็น “ลบ” แปลว่าดี แสดงว่ากิจการมีการนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนและขยายกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ
  • กระแสเงินสดสุทธิจากการจัดหาเงิน ถ้าตัวเลขเป็น “ลบ” แสดงว่ากิจการใช้เงินสดจ่ายออก เช่น นำไปจ่ายเงินปันผลหรือชำระหนี้ แต่ถ้าส่วนนี้เป็น “บวก” แสดงว่ากิจการรับเงินสดเข้า เช่น กู้เงินเพิ่มหรือเพิ่มทุนจดทะเบียน ดังนั้น ตัวเลขควรเป็น “ลบ” ถึงจะเป็นธุรกิจที่ดี

 

หลังจากศึกษาทั้ง 3 ส่วน นักลงทุนอาจมองว่าน่าจะครบถ้วนกับการอ่านงบการเงินและเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุนแล้ว อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือ หมายเหตุประกอบงบการเงิน ซึ่งเป็นส่วนอธิบายภาพรวม ที่มาที่ไปของตัวเลข และรายละเอียดต่าง ๆ ในงบการเงินทั้งหมด ซึ่งมีส่วนประกอบหลัก ๆ ดังนี้

  • ภาพรวมของนโยบายทางการบัญชี คือ นโยบายทางบัญชีที่บริษัทใช้ อธิบายเรื่องทั่วไปว่าบริษัทมีนโยบายทางบัญชีอย่างไร ก่อนจะลงรายละเอียดอื่น ๆ
  • วิธีคิดค่าเสื่อมราคา ในทางบัญชีค่าเสื่อมราคามีความสำคัญมาก เพราะมีความแตกต่างกันพอสมควร หากดูเฉพาะงบการเงินอาจไม่เข้าใจว่าค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ต่าง ๆ นั้นคำนวณอย่างไร จึงต้องดูในหมายเหตุประกอบงบการเงินซึ่งจะให้รายละเอียดชัดเจน
  • รายละเอียดลูกหนี้ การเห็นตัวเลขลูกหนี้การค้าในภาพรวมอาจไม่เพียงพอในการประเมินความเหมาะสมในการเป็น “เจ้าหนี้” ของบริษัท ดังนั้น ในหมายเหตุประกอบงบการเงินจะบอกรายละเอียดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
  • รายละเอียดเจ้าหนี้ ในงบการเงินจะบอกข้อมูลเฉพาะหนี้ระยะสั้นกับหนี้ระยะยาวเท่านั้น แต่หมายเหตุประกอบงบการเงินจะบอกองค์ประกอบต่าง ๆ ของหนี้ของบริษัท แยกหนี้เป็นก้อน ๆ เพื่อให้เห็นรายละเอียด รวมถึงหากมีการออกหุ้นกู้ก็จะชี้แจงด้วย
  • การลงทุนและถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ ข้อมูลนี้หากอยู่ในงบการเงินจะไปรวมอยู่ในสินทรัพย์ถาวร นักลงทุนต้องพิจารณารายละเอียดในหมายเหตุประกอบงบการเงิน โดยบริษัทจะชี้แจงว่าถือหุ้นในบริษัทใด ถือหุ้นเป็นสัดส่วนเท่าไร รวมถึงสร้างรายได้ในรูปแบบไหน เช่น เงินปันผล เป็นต้น
  • รายละเอียดสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ซึ่งบริษัทจะชี้แจงรายละเอียดในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
  • อัตราแลกเปลี่ยน หากงบการเงินมีประเด็นเกี่ยวกับสกุลเงินต่างประเทศ อาจทำให้ค่าเงินเปลี่ยนแปลง และข้อมูลดังกล่าวจะแสดงในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เช่น ชี้แจงที่มาที่ไปของอัตราแลกเปลี่ยนในส่วนต่าง ๆ ของงบการเงิน เป็นต้น

 

งบการเงิน คือ ข้อมูลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนรู้ว่าบริษัทหรือหุ้นที่สนใจลงทุนนั้นในอดีตที่ผ่านมามีการดำเนินธุรกิจ

เป็นอย่างไร สถานะทางการเงินแข็งแกร่งมากน้อยแค่ไหน ผู้บริหารมีประสิทธิภาพอย่างไร มีสัญญาณอะไรบ้างที่ต้องจับตา เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถประเมินได้ว่าบริษัทจะยังคงเติบโตมากน้อยแค่ไหน

สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้องค์ประกอบต่าง ๆ ของงบการเงิน และเทคนิคการอ่านงบการเงินแบบง่าย เพื่อประเมินศักยภาพของกิจการประกอบการตัดสินใจลงทุน ผ่าน e-Learning หลักสูตร Financial Statement Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: