บริหารเงิน (Money Management) อย่างไร ให้ประสบความสำเร็จในการเทรด DW

โดย เชิงชล ทองเจริญสุข ผู้อำนวยการ ฝ่ายตราสารอนุพันธ์ บล.หยวนต้า
3 Min Read
4 มกราคม 2564
24.789k views
TSI_110_บริหารเงิน (Money Management) อย่างไร ให้ประสบความสำเร็จในการเทรด DW
Highlights
  • ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนประสบความสำเร็จในการเทรด DW คือ “การบริหารเงินหน้าตักในการลงทุน” (Money Management) ซึ่งถือเป็นการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนอย่างหนึ่ง โดยนักลงทุนควรกำหนดแบบแผนให้ชัดเจนและมีวินัยในการเทรดตามแผนอย่างเคร่งครัด

  • แนวคิดในการบริหารความเสี่ยงด้วย Money Management ประกอบด้วย 1) การกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในการเทรด (Position Sizing) 2) การหาจังหวะที่มีโอกาสได้กำไรได้มากกว่าขาดทุน (Reward/Risk Ratio) 3) การบริหารเงินลงทุนให้สอดคล้องกับอัตราทดที่เรารับได้ หรือการควบคุมการ Overtrade 4) การตั้งจุด Stop Loss ก่อนซื้อขาย DW ทุกครั้ง

ปกติถ้าเป็นนักลงทุนแนวเดย์เทรดเพื่อจบในวัน หรือเทรดเก็งกำไรระยะสั้น อาจไม่ได้คำนึงถึงเรื่อง “การบริหารเงินหน้าตักในการลงทุน” หรือที่เรียกว่า Money Management” มากนัก มักมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้ยาก ซึ่งวันนี้เราจะมาเล่าสิ่งที่หลายคนมองว่ายากให้เป็นเรื่องง่าย และเน้นไปที่วิธีการนำไปใช้จริง สำหรับนักลงทุนที่อยากประสบความสำเร็จในการเทรด DW

 

Money Management ที่ดีมีอะไรบ้าง?

 

  1. Position Sizing

 

นักลงทุนทุกคนย่อมต้องการให้เงินลงทุนของตนงอกเงย แต่การที่เงินของเราจะโตหรือมีกำไรนั้น แทบเป็นไม่ได้เลยที่จะเกิดจากการลงทุนเพียงครั้งเดียว แล้วทำกำไรได้เยอะๆ โดยที่ระหว่างทางไม่ขาดทุนเลย

 

Position Sizing จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เหล่าเทรดเดอร์นิยมนำมาใช้ในการควบคุมความเสี่ยง (Risk Management) โดยกำหนดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เรายอมรับได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ควบคุมให้ “ขาดทุนไม่เกินกี่บาท หรือขาดทุนไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์” นั่นเอง

 

จริงๆ แล้วการเทรดที่ได้กำไรมากกว่าขาดทุนเป็นระยะเวลายาวนานต่างหากที่ “เป็นการเทรดที่ดี” เพราะไม่มีระบบหรือวิธีใดที่สมบูรณ์พร้อม ไม่มีใครที่ไม่เคยพลาด

 

หลักการของการ Position Sizing คือ เมื่อราคา DW เปลี่ยนแปลง ถึงจุดที่ต้องตัดสินใจ เราจะต้องขาดทุนไม่เกินราคาที่เราตั้งไว้ เช่น ถ้าตั้งกฎไว้ว่าการเปิดซื้อ DW 1 ครั้ง จะขาดทุนได้แค่ 2% ของมูลค่าพอร์ต

การกำหนดระดับการขาดทุนที่ยอมรับได้ว่าจะเป็น 1% 2% 3% 4% หรือ 5% ของเงินทุนทั้งหมดนั้น ขึ้นอยู่กับการรับความเสี่ยงได้ของแต่ละคน แต่พยายามอย่าเกิน 7% ของพอร์ต เพราะเวลาเราพลาดต่อเนื่องกันหลายๆ ครั้ง เราจะกลับมาเท่าทุนได้ยาก

การทำกลยุทธ์นี้ จะช่วยทำให้เราไม่ได้ขาดทุนมากจนเกินไป และยังมีเงินเหลือพอ ที่จะไป “แก้มือ” และทำกำไรในครั้งถัดๆ ไปนั่นเอง

 

  1. Reward/Risk Ratio

 

หลายคนอาจจะงง เมื่อเห็นคำว่า Reward/Risk Ratio แต่จริงๆ แล้ว ไม่ได้เข้าใจยากเลย คำว่า Reward/Risk Ratio” นั้น หมายถึง ค่าอัตราส่วนของผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่รับได้ ซึ่งเราจะต้องมีการกำหนดจุดที่จะ Cut Loss และจุดที่จะ Take Profit จากการลงทุนนั้นๆ ไว้ด้วย

 

ตัวอย่างเช่น หากปัจจุบัน ราคา DW อยู่ที่ 1 บาท และเราคาดการณ์ว่าราคา DW จะสามารถขึ้นไปได้ถึง 1.5 บาท และเราจะขาย DW เพื่อทำกำไร (Take Profit) ที่ 1.5 บาท และหากเราคาดการณ์ผิด ราคา DW ปรับลดลงถึงราคา 0.8 บาท เราจะ Cut Loss เพื่อป้องกันความเสียหาย ดังนั้น ค่า Reward/Risk Ratio จะอยู่ที่ 2.5 (1.5 – 1 / 1 – 0.8) นั่นเอง

 

นักลงทุนที่สามารถทำกำไรได้ในระยาวนั้น มักลดความสำคัญของวิธีการเข้าออก แล้วหันมาสนใจ Reward/Risk มากขึ้น โดยมองเป็นจังหวะเทรดตามหน้างานไป จังหวะไหนที่ Reward/Risk สวยๆ ถึงจะเข้าเทรด (จังหวะที่เรามองว่าเราจะมีโอกาสได้กำไรได้มากกว่าขาดทุน)

 

ทั้งนี้ ให้มองไปที่ Risk ก่อนเสมอ ความจริงแล้วเทรดเดอร์ที่ดีควรจะรู้จุดออก (จุด Stop Loss) ก่อนจุดเข้าเสียด้วยซ้ำ ขอสรุปขั้นตอนง่ายๆ เวลาที่เราอยากจะหาจุดที่ซื้อขาย DW ได้ดังนี้เลย

TSI_Article_110_Inv_บริหารเงิน (Money Management) อย่างไร ให้ประสบความสำเร็จในการเทรด DW_01

โดยใช้หลักการง่ายๆ ว่า Reward ควรจะมากกว่า Risk ถึงจะแสดงว่ามีความคุ้มค่าที่จะเข้าลงทุนเข้าเทรด

Risk คือ ความเสี่ยงที่เรารับได้ของราคาที่เข้าซื้อจนถึงจุด Stop Loss Reward คือ ผลตอบแทนที่เราต้องการของราคาที่เข้าซื้อจนถึงจุด Take Profit

  1. ควบคุมการ Overtrade

           

Overtrade คือ การเทรด DW โดยการใช้ Leverage ที่สูงเกินตัว หรือมี Position Sizing ในสัดส่วนที่มากกว่าปกติ เช่น หากนักลงทุนต้องการลงทุนใน DW ที่มีอัตราทด 5 เท่า ด้วยจำนวนเงิน 5 แสนบาท แปลว่าความจริงแล้ว นักลงทุนกำลังลงทุนใน DW ที่มีอำนาจซื้อจริงๆ คือ 2.5 ล้านบาท (500,000 บาท x 5 เท่า) ซึ่งการลงทุนแบบที่เราใช้ Leverage สูงเกินตัว แปลว่า... เรากำลังลงทุนบนระดับความเสี่ยงที่เกินกว่าเราจะรับได้ ซึ่งสิ่งนี้เองอาจทำให้นักลงทุนหมดเงินทุนได้ภายในระยะเวลาไม่นาน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวมักเกิดจากการเทรดโดยใช้อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

อารมณ์ที่ส่งผลต่อการ Overtrade มากที่สุด มี 2 อารมณ์ คือ อารมณ์โกรธและอารมณ์ของความโลภ เมื่อทั้งสองอารมณ์นี้เข้ามาครอบงำการเทรดของนักลงทุนแล้ว อาจส่งผลให้เราทำการเทรดแบบ Overtrade และที่สำคัญคือ เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักผิดพลาดง่ายมาก แถมยังควบคุมได้ยากอีกด้วย ดังนั้น เราควรบริหารความเสี่ยงและดูอัตราทดที่เรารับได้ รวมถึงใช้เงินลงทุนให้เหมาะสมกับอัตราทดที่กำลังจะลงทุนด้วยเช่นกัน

 

  1. กำหนดจุด Stop Loss

           

การตัดขาดทุน (Stop Loss) เป็นสิ่งสำคัญมากในการลงทุนใน DW เนื่องจาก DW มีค่าเสื่อมเวลา (Time decay) และวันหมดอายุ การที่จะถือ DW ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุด Stop Loss ย่อมมีความเสี่ยงสูง และอาจทำให้เกิดความเสียหายได้อย่างมาก นักลงทุนจึงควรกำหนดจุด Stop Loss ก่อนเข้าลงทุนทุกครั้ง และเมื่อถึงเวลาที่ราคาลงมา ณ จุดนั้นจริงๆ ก็ต้องทำตามแผนอย่างมีวินัยด้วย

 

นักลงทุนบางคนพอราคาลงมาถึงจุดที่เราตั้งไว้ว่าจะยอมแพ้แล้ว แต่ด้วยความอยากเอาชนะ จึงตัดสินใจเข้าลงทุนเพิ่ม หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ถัว” ซึ่งการถัวโดยที่ไม่ได้วางแผนไว้ก่อนนั้น ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเปิดความเสี่ยงอย่างไม่ควรจะเป็นเลยทีเดียว ดังนั้น เราจึงควรตั้งจุด Stop Loss ก่อนซื้อขาย DW ทุกครั้ง

 

การบริหารความเสี่ยงทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น สำคัญไม่น้อยไปกว่า Technical Analysis และ Fundamental Analysis ดังนั้น นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงให้มาก มีแบบแผนที่ชัดเจน และปฏิบัติตามอย่างมีวินัยโดยเคร่งครัด เพราะนั่นคือเกราะกำบังให้เราสามารถเทรด DW ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น และอยู่รอดในตลาดหุ้นไปได้อีกยาวนานจนพอร์ตของเราถึงเป้าหมายได้ในที่สุด

 

สำหรับมือใหม่ที่อยากหัดเทรด DW แต่ยังไม่มีพื้นฐาน ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุน DW ฉบับมือใหม่” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: