ออกแบบการลงทุนผ่านกองทุนรวม

โดย ราชันย์ ตันติจินดา CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
2 Min Read
25 เมษายน 2565
1.81k views
Inv_ออกแบบการลงทุนผ่านกองทุนรวม
Highlights

“มือใหม่” อาจมองว่าการลงทุนเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ไกลตัว ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ และมีความเสี่ยงสูง แต่ถ้าลองทำความรู้จักและออกแบบการลงทุนผ่าน “กองทุนรวม” เรื่องการลงทุนจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมืออาชีพด้านการลงทุนมาคอยดูแลและบริหารเงินลงทุนให้ ถึงแม้จะไม่มีเวลาติดตามข้อมูลการลงทุน หรือมีเงินไม่มากก็สามารถลงทุนได้

เมื่อพูดถึงการลงทุน มักนึกถึงผลตอบแทนที่ช่วยให้เงินลงทุนงอกเงยเป็นความมั่งคั่งในอนาคต แต่เส้นทางการลงทุนจะสวยงามได้ต้องอาศัยการออกแบบที่เหมาะสมกับนักลงทุนแต่ละราย รวมถึงต้องใช้ตัวเลือกการลงทุนที่ดีเช่นกัน ซึ่งกองทุนรวมเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ใช้ออกแบบการลงทุน เนื่องจากมีข้อจำกัดค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนทางเลือกอื่น อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาข้อมูลให้แน่ใจก่อนตัดสินใจลงทุน

 

ทำไมต้องกองทุนรวม

กองทุนรวม เป็นตัวเลือกเริ่มต้นที่สะดวก ด้วยเงินลงทุนน้อย เช่น 500 - 1,000 บาท หรือบางกองทุนสามารถเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเพียง 1 บาท และสำหรับผู้ที่ไม่เคยลงทุนกองทุนรวมมาก่อน การเปิดบัญชีกองทุนในปัจจุบันถือว่าสะดวกมาก เพราะสามารถเปิดบัญชีกองทุนรวมได้ทันทีผ่านแอปพลิเคชันของ บลจ. บล. บลน. หรือธนาคารพาณิชย์ และยังเลือกลงทุนกองทุนรวมได้หลากหลาย บลจ. ในแอปพลิเคชันเดียวแบบไม่จำกัดค่ายอีกด้วย

 

นอกจากความสะดวกในการเปิดบัญชี / ซื้อ / ขาย / สับเปลี่ยนแล้ว กองทุนรวมยังมีให้เลือกตามระดับความเสี่ยง เริ่มตั้งแต่กองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงปานกลาง และความเสี่ยงสูง อีกทั้งประเภทกองทุนก็มีหลากหลาย เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และยังมีการลงทุนให้เลือกแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายภูมิภาค รายอุตสาหกรรม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนที่สนใจ

 

อีกหนึ่งข้อดีของกองทุนรวม คือ กระจายการลงทุน เพราะเงินทุกบาทที่ลงทุนในกองทุนรวม จะถูกกระจายการลงทุนไปในหลากหลายหลักทรัพย์ตามนโยบายการลงทุนที่ประกาศไว้ เป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุนและการกระจุกตัวในหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งมากเกินไป ทำให้แม้มีผู้ออกหลักทรัพย์บางแห่งประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจ ก็จะส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนในกองทุนรวมไม่มากนัก

 

อยากเห็นผลเร็ว เลือกกองทุนรวมอย่างไร

ผลตอบแทน คือ ความคาดหวังหลักของนักลงทุน ยิ่งเห็นกำไรได้เร็วยิ่งช่วยเติมเต็มความสุขในการลงทุน แต่การลงทุนแบบนี้นักลงทุนจำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูล ติดตามข่าวสาร รวมถึงเปรียบเทียบความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ซึ่งเป็นความเห็นที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ มาแล้ว เช่น ข่าวสาร สถานการณ์ ตัวเลขทางเศรษฐกิจ รวมถึงสัญญาณทางเทคนิคด้วยว่ามีสินทรัพย์ใดได้รับกระทบเชิงบวก และผลตอบแทนมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าสินทรัพย์อื่น เพื่อตัดสินใจเลือกกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์เหล่านั้น

 

การติดตามข่าวสาร ไม่ได้ใช้เฉพาะกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนรวมหุ้นหรือกองทุนรวมผสม แต่ยังรวมไปถึงกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่มักใช้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยในการตัดสินใจลงทุน เช่น ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยกำลังเป็นขาขึ้น นักลงทุนอาจเลือกลดการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว และเพิ่มการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นแทน เพื่อลดความผันผวนของมูลค่าเงินลงทุน เป็นต้น

 

นอกจากผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว สิทธิประโยชน์ทางภาษีก็เป็นอีกหนึ่งผลตอบแทนระยะสั้นที่หลายคนมักนึกไม่ถึง ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนต้องรู้อัตราที่แน่นอนตามฐานภาษีของตัวเอง คือ 5 - 35% ของยอดเงินลงทุน โดยนักลงทุนสามารถเลือกซื้อกองทุนรวม SSF และ RMF ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่สอดคล้องกับความเห็นของบทวิเคราะห์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนระยะสั้น ทั้งจากการลงทุนและเงินคืนภาษีในการลงทุนครั้งเดียวกัน

 

อยากเห็นผลตอบแทนระยะยาว เลือกลงทุนอย่างไร

ควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีพื้นฐานการเติบโตที่แข็งแกร่งในระยะยาว แม้ในระยะสั้นอาจมีความผันผวนจากสถานการณ์ที่เข้ามากระทบบ้าง เช่น กองทุนรวมที่เน้นหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี กองทุนรวมหุ้นกลุ่มเมกะเทรนด์ กองทุนรวมหุ้นกลุ่มยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งกองทุนรวมเหล่านี้มีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับวิถีโลกที่เปลี่ยนไป หรือเลือกกระจายการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นประเทศต่าง ๆ ที่เป็นเศรษฐกิจหลักของโลกหรือภูมิภาค เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน เป็นต้น เพื่อให้เงินลงทุนได้เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจโลกได้

 

นอกจากการเลือกกองทุนรวมแล้ว การจัดสัดส่วนเงินลงทุนหรือจัดพอร์ตลงทุน ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เงินลงทุนเติบโตได้ในระยะยาว ด้วยความผันผวนและความเสี่ยงที่นักลงทุนสามารถยอมรับได้ เช่น

  • ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรมีสินทรัพย์เสี่ยงสูง 10 – 15% ของเงินลงทุน
  • ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง ควรมีสินทรัพย์เสี่ยงสูง 40 – 50 % ของเงินลงทุน
  • ผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง ควรมีสินทรัพย์เสี่ยงสูง 60 – 70 % ของเงินลงทุน

 

โดยสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมผสม กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และเงินส่วนที่เหลือควรเป็นสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

 

เงินลงทุนในส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงสูง อาจมีทั้งการเน้นถือยาวและเน้นสับเปลี่ยนการลงทุนตามความเห็นของบทวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญ เพียงแต่ต้องรักษาสัดส่วนเงินลงทุนส่วนนี้โดยรวมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ ส่วนสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ หากเป็นการลงทุนระยะยาว ผลตอบแทนกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาวมักจะสูงกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เพียงแต่ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุน (Portfolio Duration) สอดคล้องหรือสั้นกว่าระยะเวลาการลงทุนที่ตั้งใจ และเป็นกองทุนที่มีการลงทุนส่วนใหญ่ในตราสารหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือระดับ Investment Grade ด้วย

 

แผนการลงทุนที่ดี ไม่ได้อยู่ที่ผลตอบแทนสูงเสมอไป แต่ผลตอบแทนนั้นต้องสอดคล้องกับเป้าหมายและข้อจำกัดการลงทุนของแต่ละคน ตัวช่วยที่ทำให้แผนการลงทุนดีได้และนักลงทุนสามารถนำไปใช้ได้ทันที ได้แก่ การควบคุมความเสี่ยงของเงินลงทุน ด้วยการจัดสัดส่วนพอร์ตลงทุนที่เหมาะสม ค่อย ๆ เริ่มต้นและเรียนรู้ ด้วยเงินลงทุนไม่ต้องมากหรือเป็นเงินส่วนที่รับความเสี่ยงได้ และกระจายการลงทุนไม่ให้กระจุกตัว ด้วยการลงทุนผ่านกองทุนรวม


สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ที่สนใจเรียนรู้เทคนิคการเลือกกองทุนรวมแต่ละประเภท พร้อมสร้างและบริหารพอร์ตกองทุนรวมด้วยตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ห้องเรียนกองทุนรวม The Series” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: