ความผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นกับการลงทุนในอนุพันธ์

โดย ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)
4 Min Read
2 มกราคม 2564
1.976k views
TSI_107_ความผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นกับการลงทุนในอนุพันธ์
Highlights
  • การตัดขาดทุน หรือ Stop Loss คือ หนทางที่ทำให้อยู่รอดได้ในตลาดอนุพันธ์ได้ในระยะยาว เพราะยิ่งตัดขาดทุนเร็ว ก็จะมีเงินเหลือมากขึ้น

  • การลงทุนในอนุพันธ์ หากไม่ระมัดระวังตัวและไม่หาทางหนีทีไล่ไว้ล่วงหน้า อาจต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทั้งๆ ที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี

ปฏิเสธไม่ได้ว่า... เมื่อเข้ามาลงทุนในตลาดอนุพันธ์แล้ว มีทั้งความสำเร็จและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการลงทุน ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ประสบความสำเร็จ แต่สำหรับผู้ที่ผิดพลาดจากการลงทุน ต้องหมั่นศึกษาและใช้บทเรียนที่ผ่านมาเป็นแรงบันดาลใจ โดยถ้าจะพูดถึงความผิดพลาดหลักๆ มี 5 ประเด็น
 

  1. ความผิดพลาดที่เกิดจากการไม่ยอมรับความจริง


แน่นอนว่าเมื่อเกิดความผิดพลาดจากการลงทุน นักลงทุนชอบโยนความผิดให้ตลาด ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับการให้กำลังใจตัวเอง เพื่อเรียกความมั่นใจในการลงทุนกลับมาอีกครั้ง แต่การกระทำเช่นนี้เหมือนเป็นดาบสองคม หากโยนความผิดให้ตลาด ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าความผิดพลาดเกิดจากตัวเราเอง ก็คงไม่เป็นไรมากนัก แต่หากไม่รู้ตัวเองว่าวางแผนและกำหนดกลยุทธ์การลงทุนผิดพลาด ก็อาจประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาวได้ค่อนข้างยาก


ดังนั้น เมื่อนักลงทุนเกิดความผิดพลาด เช่น คาดการณ์ทิศทางราคา SET50 Index Futures ผิด ต้องนั่งทบทวนตัวเองก่อน ด้วยการจดข้อผิดพลาดแล้วทบทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งช่วยลดโอกาสการคาดการณ์ผิดพลาดน้อยลง หรือถ้าคาดการณ์ผิดก็จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

แนวทางการแก้ไขปัญหานี้

 คือ การยอมรับผิดและเรียนรู้ความผิดพลาดนั้น ซึ่งเป็นจิตวิทยาการลงทุนสำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุนประสบความสำเร็จ และอย่าพยายามไปกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงตลาด เพราะตลาดเป็นแค่ฝ่ายเสนอราคาที่นักลงทุนไม่สามารถเปลี่ยนความคิดได้ หากนักลงทุนไม่สนใจ ก็จะมีนักลงทุนคนอื่นสนใจแทนนั่นเอง 

  1. ความผิดพลาดจากการลงทุนเกินตัว


นักลงทุนที่เข้าสู่ตลาดอนุพันธ์ใหม่ๆ มักได้กำไรมากกว่าขาดทุน แต่พออยู่ไปนานๆ หลายคนแพ้ภัยตัวเอง เพราะคิดว่าเมื่อคาดเดาทิศทางถูกแล้ว ก็น่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไป จึงเพิ่มน้ำหนักหรือจำนวนสัญญาในการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในรูปของการนำเงินเก็บมาลงทุน การกู้ยืมเงินมาลงทุน และการใช้กำไรต่อกำไร จนลืมดูสถานะการลงทุนของตัวเองว่าซื้อขายอยู่บนสินค้าอ้างอิงจำนวนเท่าไหร่ หากถูกทางก็ถือว่าโชคดีไป แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าไม่มีใครสามารถคาดเดาทิศทางได้ถูกต้องตลอดเวลา หากคาดผิด (ซึ่งมักจะเกิดขึ้นตอนที่มั่นใจที่สุดหรือใส่เงินลงทุนไปมากที่สุด) อาจทำให้ต้องเสียทั้งเงินและความเชื่อมั่นในการลงทุน จนต้องออกจากตลาดในที่สุด

แนวทางการแก้ไขปัญหานี้

คือ การบริหารเงินหน้าตักในการลงทุน (Money Management) ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

โดยนักลงทุนต้องมีเงินลงทุนมากกว่าหลักประกันที่โบรกเกอร์กำหนด เช่น ถ้ามีเงินลงทุน 110,000 บาท แล้วรับความเสี่ยงได้รอบละ 5,000 บาท สมมติว่าหลักประกันของ SET50 Index Futures อยู่ที่ 10,000 บาทต่อสัญญา ถ้าเปิดสถานะซื้อ (Long) ไป 10 สัญญา จะตัดขาดทุนเมื่อ SET50 Index Futures ปรับตัวลงเพียง 2.5 จุด (2.5 x 200 x 10 = 5,000 บาท) แต่ท่านซื้อ (Long) แค่สัญญาเดียว สามารถทนทานต่อการปรับลงของ SET50 Index Futures ได้ถึง 25 จุด (25 x 200 x 1 = 5,000 บาท)


หากนักลงทุนใช้สูตร 2:1 ในการกำหนดจุดทำกำไรให้เป็น 2 เท่าของจุดตัดขาดทุน เช่น จะทำกำไรเมื่อถูกทาง 10 จุด และตัดขาดทุนเมื่อผิดทาง 5 จุด หากนำไปประกอบกับระดับการรับความเสี่ยงแต่ละรอบที่ 5,000 บาท จะลงทุนใน SET50 Index Futures ได้สูงสุดไม่เกิน 5 สัญญา (5 x 200 x 5 = 5,000 บาท) เป็นต้น


จะเห็นว่า... การกำหนดเงินลงทุนอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้รอดพ้นจากภาวะความสูญเสียอย่างหนักได้ นอกจากนี้ ต้องวางแผนว่าจะดึงกำไรออกมาเป็นระยะ เพื่อนำกำไรสะสมนั้นไปเปิดสถานะเพิ่มเมื่อมั่นใจโดยไม่ใช้เงินลงทุนใหม่ หรือนำไปใช้เพื่อเติมหลักประกันจากการถูก Call Margin เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

  1. ความผิดพลาดที่เกิดจากการขาดวินัยในการลงทุน


หลายครั้งที่ก่อนตัดสินใจลงทุนวางแผนไว้อีกอย่าง แต่เมื่อลงทุนจริงๆ กลับทำอีกอย่าง เช่น ตั้งใจว่าจะลงทุนแบบปิรามิดโดยการเฉลี่ยต้นทุนช่วงราคา SET50 Index Futures อ่อนตัวลง แต่ปรากฎว่าพอราคา SET50 Index Futures ปรับตัวลงจริง กลับกล้าซื้อแค่ไม้แรกและไม้ที่สอง เมื่อลงมาไม้ที่สามเริ่มกลัวว่าราคาอาจจะปรับตัวลงต่อแล้วทำให้ขาดทุนอย่างหนัก จึงเลือกที่จะขายตัดขาดทุนเพื่อลดความเสี่ยงไปก่อน สุดท้ายราคาสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้จริง ทำให้พลาดโอกาสในการลุ้นกำไรช่วงปรับตัวขึ้นไปอย่างน่าเสียดาย


อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การไม่กล้าตัดขาดทุน จนทำให้เกิดความผิดพลาด หากลงทุน SET50 Index Futures ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีอัตราทดมากถึง 15 - 20 เท่า (เงินลงทุนในหุ้นสูงกว่าเงินที่ใช้เงินวางหลักประกันของ SET50 Index Futures ประมาณ 15 - 20 เท่า) ดังนั้น หากผิดทางแล้วปล่อยให้ขาดทุนไปเรื่อยๆ อาจโดนบังคับปิดสถานะจนหมดโอกาสลุ้นการเคลื่อนไหวของราคา SET50 Index Futures ก่อนเวลาอันควร

แนวทางการแก้ไขปัญหานี้

คือ ต้องวางแผนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น ถ้ากำหนดจุดทำกำไรเป็น 2 เท่าของจุดตัดขาดทุน ก็ให้ทำตามนั้นตลอด แล้วประเมินผลเป็นระยะ เช่น ทุกเดือนหรือทุก 3 เดือน หากผลออกมา แพ้มากกว่าชนะก็ค่อยเปลี่ยนแผนใหม่ โดยอาจขยับจุดทำกำไรและตัดขาดทุน รวมถึงจุดเข้าจุดออกตามปัจจัยทางเทคนิคจนเหมาะกับตัวเองที่สุด หากคิดว่าแผนนิ่งแล้วก็ให้ฝึกสภาพจิตใจ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดตามวิถีชาวพุทธ คือ การนั่งสมาธิ ถ้าได้ลองปฏิบัติแล้วจะช่วยให้การตัดสินใจลงทุนในทุกขั้นตอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  1. ความผิดพลาดที่เกิดจากการอิงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งมากเกินไป

 
ขอยกตัวอย่างการวิเคราะห์ Gold Futures ซึ่งปัจจัยที่นักลงทุนในทองคำให้ความสำคัญ เพื่อคาดเดาทิศทางราคาทองคำมากที่สุด คือ เงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งมักใช้ดัชนีดอลล่าร์ (Dollar Index) เป็นตัวแทน หาก Dollar Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น นักลงทุนจะให้มุมมองที่เป็นลบกับราคาทองคำ แต่ถ้า Dollar Index ปรับตัวลดลง ก็จะให้มุมมองที่เป็นบวกกับราคาทองคำ


แต่มีบางครั้งที่ราคาทองคำเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับ Dollar Index เพราะไปอิงกับปัจจัยอื่นมีน้ำหนักมากกว่า เช่น ในช่วงกลางปี 2557 ที่อิรักเกิดสงครามกลางเมือง และธนาคารในโปรตุเกสประสบปัญหาสภาพคล่อง ราคาทองคำและ Dollar Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นพร้อมกัน เพราะเงินไหลเข้าพักในสินทรัพย์ที่ได้ชื่อว่ามีความเสี่ยงต่ำ เพื่อรอดูความชัดเจน หากนักลงทุนอิงกับการเคลื่อนไหวของ Dollar Index มากเกินไป อาจทำให้พลาดโอกาสในการเก็งกำไรในช่วงที่ราคาทองคำกระชากตัวขึ้นได้

แนวทางการแก้ไขปัญหานี้

คือ นักลงทุนควรวิเคราะห์โดยพิจารณาตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับราคาทองคำมากกว่า 1 ตัวแปร เช่น Dollar Index สถานะถือครองทองคำของ SPDR Gold Trust ราคาน้ำมันดิบ ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกา และราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลหะมีค่าตัวอื่น (โลหะเงิน แพลตตินั่ม และพัลลาเดี่ยม) แล้วลองชั่งน้ำหนักดูว่าส่งผลบวกหรือลบกับราคาทองคำมากกว่ากัน หากตัวแปรเกินครึ่งออกมาเป็นบวก ก็ค่อยซื้อ ออกมาเป็นลบ ก็ค่อยขาย แต่ถ้าให้น้ำหนักพอๆ กัน ก็เลือกอยู่นอกตลาดไปก่อน

  1. ความผิดพลาดที่เกิดจากความคิดว่ามีสูตรสำเร็จในการลงทุน 100%


ระยะหลังๆ จะได้ยินคำว่า Model Trade มากขึ้น ซึ่งเป็นการนำเอาเครื่องมือทางเทคนิคที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับสินค้าที่กำลังวิเคราะห์หรือลงทุน มาเป็นเครื่องมือบอกสัญญาณซื้อขายเพื่อตัดผลกระทบด้านอารมณ์ที่แปรปรวนออกไป


แต่ด้วยเครื่องมือทางเทคนิคที่ใช้ได้ดีส่วนใหญ่ เช่น เครื่องมือที่ให้สัญญาณช่วงราคามีแนวโน้มชัดเจน (Trend Following) หรือเมื่อเป็นช่วงตลาดแกว่งออกด้านข้าง (Sideway) จะส่งสัญญาณซื้อขายบ่อยครั้งเกินไป แม้จะไม่ขาดทุน แต่ก็ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นจำนวนมาก จนทำให้นักลงทุนรู้สึกเบื่อหน่ายแล้วเลิกตามสัญญาณจาก Model Trade ทั้งที่ถ้าตามต่ออาจได้กำไรก้อนงามจากการที่ราคากลับมาอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นหรือขาลงรอบใหญ่อีกครั้ง


ภาพความสำเร็จของ Model Trade ที่ค่อยๆ เลือนลางลง ทำให้ความนิยมลดลงตามไปด้วย จนระยะหลังแทบไม่เห็นสัญญาณซื้อขายที่มาจาก Model Trade แล้ว ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการวิเคราะห์การลงทุนที่ได้ผลลัพธ์ถูกต้องทุกครั้ง

แนวทางการแก้ไขปัญหานี้

คือ พยายามใช้หลายเครื่องมือมาวิเคราะห์ประกอบกัน ทั้งปัจจัยพื้นฐาน ปัจจัยทางเทคนิค Model Trade รวมถึงบทวิเคราะห์อนุพันธ์ เพื่อยืนยันมุมมองซึ่งกันและกัน โดยต้องไม่ลืมวางจุดทำกำไรหรือตัดขาดทุนตามหลักบริหารเงิน และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ด้วย

สำหรับใครที่สนใจอยากเริ่มลงทุนในอนุพันธ์ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนอนุพันธ์ฉบับมือใหม่” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: