Block Trade คืออะไร เชื่อมโยงกับหุ้นอย่างไร

โดย ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)
5 Min Read
1 มกราคม 2564
13.377k views
TSI_106_Block Trade คืออะไร เชื่อมโยงกับหุ้นอย่างไร
Highlights
  • หากสนใจลงทุน Single Stock Futures แต่เกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ทางออก คือ ใช้ธุรกรรม Block Trade ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขาดสภาพคล่องในการซื้อขาย แถมยังช่วยเพิ่มอำนาจซื้อ (Leverage) ให้กับนักลงทุนอีกด้วย

  • หากลงทุนในหุ้น แล้วราคาหุ้นที่ลงทุนปรับลดลง นักลงทุนสามารถเข้าใช้ประโยชน์จาก SSF Block Trade เพื่อสร้างโอกาสในการทำกำไรแทนได้

หากพิจารณาจากข้อมูลสถิติ 3 ปีย้อนหลัง จะพบว่า... ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของ Stock Futures แทบทั้งหมด (ประมาณ 94% ของปริมาณการซื้อขายรวมในวันนั้นๆ) มาจากธุรกรรม Block Trade และถือเป็นสินค้าที่มีปริมาณการซื้อขายมากที่สุดในตลาดอนุพันธ์ ณ วันนี้


แปลตามตัว หมายถึง การซื้อขายสินค้าครั้งละหลายๆ ชิ้นแบบยกเข่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ซื้อไม่อยากไปซื้อสินค้าตามร้านทั่วไปทีละชิ้น จึงติดต่อตัวกลางหรือนายหน้า เพื่อขอซื้อสินค้าจำนวนมาก


หากนายหน้ามีสินค้านั้นอยู่และเพียงพอที่จะขายได้ ก็จะกำหนดราคาซื้อขายกันได้ทันที แต่หากไม่มีสินค้าอยู่กับตัว นายหน้าจะไปรวมสินค้าจากท้องตลาด แล้วมากำหนดราคาขายให้กับลูกค้าตามต้นทุนที่ได้มาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะแพงกว่าราคาตลาดเพราะต้องคิดค่าจัดหา มัดรวมสินค้า และขนส่งเข้าไปด้วย


แต่แม้จะแพงกว่าก็มีคนอยากซื้อ เพราะการมีนายหน้าจัดหาสินค้าให้ ทำให้ผู้ซื้อมั่นใจได้ว่าจะได้สินค้านั้นในจำนวนที่ต้องการ และต้นทุนในระดับที่ยอมรับได้


ธุรกรรมที่กล่าวมาก็คือ ลักษณะของBlock Trade” โดยโบรกเกอร์จะเข้าไปเปิดสถานะซื้อ (Long) หรือเปิดสถานะขาย (Short) ด้วย ถ้า Stock Futures ที่นักลงทุนต้องการไม่มีสภาพคล่อง หรือมีปริมาณการซื้อขายในฝั่ง Bid และ Ask เบาบางมาก โบรกเกอร์จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นคู่สัญญาให้


แน่นอนว่าโบรกเกอร์ไม่ได้อยากมีสถานะใน Single Stock Futures ตั้งแต่แรก แต่เพราะอยากให้บริการกับลูกค้า จึงเข้ามามีสถานะตรงข้ามเพื่อให้ลูกค้าสามารถเปิดสถานะตามต้องการ


ตัวอย่างเช่น
นักลงทุนคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะกลับมาเป็นขาขึ้น หมายความว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์จะได้ประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงแรกๆ จึงตัดสินใจเปิดสถานะซื้อ (Long) ใน KBANK Futures 20 สัญญา หรือเทียบเท่า 20,000 หุ้น (1 สัญญา อ้างอิง 1,000 หุ้น) แต่พอไปดู Ask ในระบบซื้อขายพบว่าแทบไม่มีจำนวนสัญญาที่ตั้งรออยู่

TSI_Article_106_Inv_Block Trade คืออะไร เชื่อมโยงกับหุ้นอย่างไร_01

นักลงทุนจึงติดต่อโบรกเกอร์เพื่อขอเปิดสถานะขาย (Long) KBANK Futures โดยตรง ซึ่งเมื่อโบรกเกอร์พิจารณาแล้วพบว่า... ปริมาณ 20 สัญญาเป็นยอดขั้นต่ำของการทำ Block Trade พอดี จึงรับเป็นคู่สัญญาให้กับลูกค้า โดยการทำสถานะตรงข้าม คือ เปิดสถานะขาย (Short) KBANK Futures


แต่เนื่องจากโบรกเกอร์ทำไปเพื่อให้บริการกับลูกค้า ไม่ได้อยากเก็งกำไรในทิศทางขาลงของ KBANK Futures จึงปิดความเสี่ยงให้ตัวเอง โดยการทำสถานะตรงข้ามที่ตลาดหุ้น คือ การซื้อ KBANK จำนวน 20,000 หุ้น เพื่อถัวความเสี่ยงไว้


หาก KBANK Futures ปรับตัวขึ้นตามที่นักลงทุนคาดเอาไว้ จะได้กำไรจากการเปิดสถานะซื้อ (Long) และโบรกเกอร์ขาดทุนจากการเปิดสถานะขาย (Short) แต่โบรกเกอร์ก็จะได้กำไรจากการถือ KBANK 20,000 หุ้นมาชดเชย

 
คำถาม คือ โบรกเกอร์ได้อะไร???


เพราะไม่มีกำไรขาดทุนจากการเปิดสถานะใน Stock Futures และการซื้อขายหุ้น แน่นอนของฟรีไม่มีในโลก ดังนั้น สิ่งที่โบรกเกอร์ได้รับ คือ ค่านายหน้าในการไปจัดหาสินค้ามาให้ ซึ่งจะรวมต้นทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดเข้าไปในราคา KBANK Futures ทำให้นักลงทุนต้องเปิดสถานะซื้อ (Long) ในราคาที่แพงกว่าราคาล่าสุดที่เห็นในระบบ แต่รับประกันว่าได้ครบจำนวน 20 สัญญา โดยต้นทุนหลักในกรณีนี้ คือ ต้นทุนของเงินในการซื้อ KBANK 20,000 หุ้น ถ้ามองให้ลึกลงไปก็เปรียบเสมือนยืมเงินโบรกเกอร์มาซื้อหุ้นนั่นเอง

TSI_Article_106_Inv_Block Trade คืออะไร เชื่อมโยงกับหุ้นอย่างไร_02

ก่อนโบรกเกอร์จะกำหนดราคาให้นักลงทุน จะไปดูราคา Ask หรือ Offer ที่ดีที่สุดของ KBANK ว่าเป็นเท่าไหร่ จากตัวอย่าง พบว่าอยู่ที่ 216 บาท มีนักลงทุนตั้งขาย 181,700 หุ้น เพียงพอที่โบรกเกอร์จะเคาะซื้อ 20,000 หุ้น จึงนำราคานั้นมาคำนวณราคา KBANK Futures


สมมติว่าโบรกเกอร์คิดดอกเบี้ย 7% ต่อปี อายุคงเหลือของ KBANK Futures รุ่นนั้นอยู่ที่ 50 วัน ก็จะขอคิดต้นทุนการถือหุ้น KBANK แทนนักลงทุนที่ 7% เต็มระยะเวลานั้นไปก่อน เพราะไม่รู้ว่านักลงทุนจะปิดสถานะซื้อ (Long) เพื่อทำกำไรเมื่อไหร่ แต่ก็จะไม่เกิน 50 วันตามอายุที่คงเหลืออยู่


ดังนั้น ต้นทุนในส่วนนี้จึงอยู่ที่ 216 x 7% x (50/365) = 2.07 บาท เมื่อนำมารวมกับราคา KBANK ที่โบรกเกอร์ซื้อมา 216 บาท ราคา Block Trade จะเป็น 218.07 บาท ซึ่งแพงกว่าราคา Ask ของ KBANK Futures ที่ดีที่สุดตอนนั้นที่ 217.75 บาท


เมื่อผ่านไป 20 วัน ราคา KBANK ขึ้นแรงกว่า 20 บาท เป็น 236 บาท และทำให้ราคา KBANK Futures ปรับขึ้นแรงตามไปด้วย ซึ่งเป็นระดับที่นักลงทุนพึงพอใจ จึงขอส่ง Short KBANK Futures เพื่อปิดสถานะกับทางโบรกเกอร์ (ต้องเป็นโบรกเกอร์เดิมที่นักลงทุนเปิดสถานะไว้เท่านั้น)


ทางฝ่าย Block Trade หรือที่เรียกกันว่า “โต๊ะบล็อค” จะกำหนดราคารับ Short ให้นักลงทุน ซึ่งรอบนี้จะคิดต้นทุนที่เปรียบเสมือนยืมเงินมาซื้อ KBANK 20,000 หุ้น ในเวลา 20 วัน ได้เท่ากับ 216 x 7% x (20/365) = 0.83 บาท และด้วยความที่ตอนนักลงทุนเปิดสถานะซื้อ (Long) KBANK Futures ที่โบรกเกอร์บวกดอกเบี้ยไป 50 วัน ทั้งที่ใช้บริการเพียง 20 วัน เพื่อความยุติธรรม โบรกเกอร์จะบวกยอดดอกเบี้ยที่เคยคิดเต็มเท่ากับ 2.07 บาทกลับมาให้นักลงทุนก่อน ค่อยหักดอกเบี้ยตามการใช้บริการจริงที่ 0.83 บาท


เพราะฉะนั้น ถ้าราคา Bid ที่ดีที่สุดของ KBANK ในตอนนั้นขึ้นมาอยู่ที่ 236 บาท และจำนวนหุ้นที่ตั้งรอซื้อสามารถรองรับแรงขายของโบรกเกอร์จำนวน 20,000 หุ้นได้ ราคาที่โบรกเกอร์กำหนดมาให้นักลงทุนเปิดสถานะขาย (Short) เพื่อปิดสถานะซื้อ (Long) จึงเท่ากับ 236 + 2.07 – 0.83 = 237.24 บาท


จะเห็นว่า... แม้นักลงทุนจะเปิดสถานะซื้อ (Long) ที่ราคาสูงกว่าราคา Ask ที่ดีที่สุดในตอนนั้น แต่ราคาสถานะขาย (Short) ที่ปิดสถานะก็สูงกว่าราคาตลาดเช่นกัน ซึ่งสุทธิแล้วจะได้กำไร 237.24 – 218.07 = 19.17 บาท น้อยกว่าราคาหุ้น KBANK ที่เพิ่มขึ้น 20 บาท จาก 216 บาท เป็น 236 บาท


แต่เมื่อคิดเป็นผลตอบแทนจากการลงทุน บนเงินวางหลักประกันขั้นต้นของ KBANK Futures สัญญาละ 15,428 บาท จำนวน 20 สัญญา คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 308,560 บาท นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนเท่ากับ (19.17 x 1,000 x 20) / 308,560 = 124.25% ซึ่งมากกว่าผลตอบแทนจากการซื้อ KBANK 20,000 หุ้น ที่เท่ากับการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นโดยตรงคือ (236 – 216) / 216 = 9.26% อยู่ถึง 13.42 เท่า


ตัวแปรที่ทำให้ผลตอบแทนต่างกันมากขนาดนี้ คือ “อัตราทด” ซึ่งสำหรับ KBANK Futures ที่กำหนดเงินวางหลักประกันขั้นต้นเท่ากับ 15,428 บาทต่อสัญญา ต่ำกว่าเงินลงทุนที่ใช้ซื้อ KBANK 1,000 หุ้น ที่ราคา 216 บาท เท่ากับ 216,000 บาท จะคิดเป็นอัตราทด 216,000 / 15,428 = 14 เท่า ซึ่งมากกว่าอัตราทดที่นักลงทุนได้รับจริงอยู่ 0.58 เท่า


ส่วนที่ต่างกัน คือ ค่าตัวกลางที่นักลงทุนให้โบรกเกอร์คิดดอกเบี้ยจากการซื้อหุ้นแทนที่ 7% ต่อปีนั่นเอง แต่กรณีนี้ยังไม่ได้รวมผลกระทบจากเงินปันผลเข้าไปด้วย หากช่วงเวลาที่ถือสถานะซื้อ (Long) KBANK Futures อยู่ แล้ว KBANK เกิดขึ้น XD เพื่อจ่ายปันผล โบรกเกอร์จะเป็นผู้ได้รับปันผลนั้น ซึ่งโบรกเกอร์จะนำมาหักค่าดำเนินการบางส่วน แล้วจ่ายให้กับนักลงทุนตอนปิดสถานะ เพราะถ้าไม่มาเปิดสถานะซื้อ (Long) ผ่าน Block Trade ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ KBANK มาถัวความเสี่ยง ซึ่งก็เหมือนว่าทำให้โบรกเกอร์ได้ปันผลโดยไม่ตั้งใจ โบรกเกอร์จึงคืนเงินส่วนนี้ให้กับนักลงทุนที่ตั้งใจมาเปิดสถานะซื้อ (Long)


หากมองในแง่มุมนี้ ก็ถือว่ายุติธรรมดี ไม่ใช่ว่าโบรกเกอร์จะมาขูดเลือดขูดเนื้อคิดดอกเบี้ยค่าทำ Block Trade กับนักลงทุนอย่างเดียว


ส่วนกรณีของสถานะขาย (Short) Single Stock Futures ที่นักลงทุนต้องการลงทุนขาลงผ่านธุรกรรม Block Trade ก็สามารถส่งคำสั่งไปที่โบรกเกอร์ได้โดยตรงเช่นกัน โบรกเกอร์จะเป็นคู่สัญญาฝั่งซื้อ (Long) โดยราคา Block Trade จะถูกกำหนดจากราคา Bid ของหุ้นอ้างอิง เพราะโบรกเกอร์ต้องทำการขายหุ้นเพื่อถัวความเสี่ยงกับสถานะซื้อ (Long) ใน Single Stock Futures แล้วหักต้นทุนดอกเบี้ยเข้าไปที่ตัวราคาตามอายุคงเหลือของ Futures ทำให้ราคาที่นักลงทุนเปิดสถานะขาย (Short) ได้ต่ำกว่าราคาตลาดหรือเสียเปรียบอยู่เล็กน้อย


แต่เมื่อปิดสถานะโดยการซื้อ (Long) โบรกเกอร์จะหักต้นทุนที่คิดเต็มอายุคงเหลือกับไปก่อน แล้วค่อยบวกต้นทุนจริงที่เกิดขึ้นตามระยะเวลาการถือสถานะขาย (Short) เข้าไปที่ตัวราคาปิด ซึ่งสุทธิแล้วจะทำให้นักลงทุนซื้อ (Long) กลับได้ที่ราคาต่ำกว่าตลาดเล็กน้อย


เมื่อคิดเป็นผลตอบแทนเทียบกับการยืมหุ้นมาขายผ่านธุรกรรม SBL ก็จะต่างกันตามอัตราทดและส่วนของต้นทุนธุรกรรม Block Trade ตามที่ได้กล่าวไปในฝั่งซื้อ (Long) อย่างไรก็ตาม ธุรกรรมฝั่งนี้อาจจะดูยากสักหน่อยสำหรับโบรกเกอร์ที่ต้องยืมหุ้นมาขายออกไปก่อนผ่านธุรกรรม SBL (Securities Borrowing and Lending) หากโบรกเกอร์ที่ใช้บริการอยู่ไม่มีบริการ SBL หรือว่ามีให้บริการ แต่หุ้นในตะกร้า SBL เพื่อให้ยืมไปทำ Short Sales มีไม่มากนัก อาจไม่สามารถตอบสนองธุรกิจ Block Trade ใน Single Stock Futures ที่ต้องการได้ ดังนั้น ก่อนจะทำธุรกรรม Block Trade จึงควรตรวจสอบตั้งแต่ตอนเปิดบัญชีว่าโบรกเกอร์นั้นเน้นด้าน Block Trade และ SBL หรือไม่


สำหรับใครที่สนใจอยากเริ่มลงทุนในอนุพันธ์ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุน SET50 & Stock Futures ฟรี!!! >> คลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: