ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ตลาดทุนเผชิญความผันผวนจากความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจ ทั้งจากการระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ตามมาด้วยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่นำไปสู่ปัญหาราคาน้ำมันแพง และสร้างความกังวลต่อการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ รวมทั้งในฝั่งเอเชียเองก็เผชิญความเสี่ยงของมาตรการควบคุมกฎระเบียบของบริษัทจีนและมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศจีน โดยรวมปัจจัยเหล่านี้น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed รวมทั้งการลดงบดุลเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่จะยิ่งทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวต่อเนื่องได้ในปีนี้
แม้ตลาดทุนจะรับรู้ข่าวสารเหล่านี้ไปมากแล้วและมีท่าทีในการตอบสนองที่ดีขึ้น แต่ความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจอาจลากยาวต่อในช่วงไตรมาส 2 โดยเฉพาะจากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังตลาดพันธบัตรของสหรัฐฯ กำลังเข้าใกล้ภาวะที่เรียกว่า Inverted Yield Curve หรือการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ซึ่งสวนทางกับภาวะปกติที่ผู้ให้กู้ต้องการอัตราดอกเบี้ยที่สูงในการให้กู้ระยะยาวมากกว่าระยะสั้น ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าภาวะ Yield Curve Inversion นี้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าว่าในเวลาอีกไม่นาน เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ผมมองว่า เรื่องความผันผวนของตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ เป็นปัจจัยจากสภาพคล่องที่ยังล้นจากมาตรการ QE ที่ทำก่อนหน้านี้และนักลงทุนกังวลต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงหลังปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครน และปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูง จึงพักเงินไว้ในพันธบัตรระยะยาว
ขณะเดียวกัน นักลงทุนในตลาดก็กังวลเรื่องการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed จึงส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นพุ่งขึ้นเร็ว กราฟความชัน หรือ Yield Curve จึงลาดลง และเสี่ยงที่จะหันหัวทิ่มหากความเสี่ยงเรื่องสงครามและเงินเฟ้อยังคงลากยาว แต่น่าจะเป็นปัจจัยจากความกังวลของนักลงทุน ไม่ได้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย และหาก Fed เดินหน้าส่งสัญญาณในการลดงบดุลหรือทำมาตรการ Quantitative Tightening – QT ในเดือนพฤษภาคมนี้จริง ก็มีโอกาสที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวจะเพิ่มสูงขึ้น และจะเพิ่มความชันของ Yield Curve กลับขึ้นมาได้
ส่วนตลาดในภูมิภาคอื่นก็ไม่น่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นกัน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่ไม่นับรวมจีน ที่กำลังเตรียมเปิดประเทศ ทั้งสำหรับคนในประเทศให้เดินทางและทำกิจกรรมได้อย่างเสรีมากขึ้นแล้ว ก็เตรียมการเปิดรับการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย ซึ่งน่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
หากปัจจัยความไม่แน่นอนยังลากยาวต่อไปในไตรมาส 2 จะลงทุนอะไรดี
เมื่อความไม่แน่นอนยังมีต่อเนื่อง ทั้งจากการกลายพันธุ์ของ COVID-19 สงครามรัสเซียและยูเครน ราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และมาตรการควบคุมกิจการของบริษัทในจีนและการเข้มงวดในการรับมือ COVID-19 ในจีนแล้ว จึงไม่อาจเห็นสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งที่สามารถเอาชนะตลาดได้ตลอดกาล โดยเฉพาะเมื่อปัจจัยเหล่านั้นเป็นปัจจัยชั่วคราวที่น่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ความผันผวนระหว่างทางที่สูง นักลงทุนควรกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลาย ซึ่งน่าจะช่วยลดความผันผวนและเปิดโอกาสการลงทุนได้ดีขึ้น
นอกจากกระจายการลงทุนให้หลากหลายแล้ว นักลงทุนควรมองหากองทุนรวมที่ปรับตัวตามสถานการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนได้อย่างรวดเร็วและคล่องแคล่ว โดยเฉพาะกองทุนรวมประเภท Active ซึ่งสามารถช่วยให้ไม่พลาดจังหวะในการลงทุน โดยเฉพาะกองทุนที่มีผู้เชี่ยวชาญคัดสรรหุ้นและกองทุนที่มีคุณภาพด้วยการเลือกหุ้นหรือกองทุนแบบ Bottom Up ด้วยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกตาม Asset Allocation ที่นักลงทุนสามารถลงทุนได้ในระยะยาวและรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง
ผู้จัดการกองทุนจะเลือกลงทุนในหุ้นเป็นสัดส่วนมาก และเน้นการลงทุนในตลาดสหรัฐฯ เพราะแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวไปบ้าง แต่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังเติบโต นอกจากนี้ตลาดหุ้นทั้ง Nasdaq และ S&P ยังเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากสหรัฐฯ แล้ว นักลงทุนสามารถลงทุนในยุโรป ญี่ปุ่น จีน และตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ได้ อีกทั้งมีการลงทุนในตราสารหนี้ด้วย แม้ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นนักลงทุนอาจเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น หรือกลุ่มที่อัตราผลตอบแทนเคลื่อนไหวแบบ Floating Rate ได้ดีกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว โดยการลงทุนในตราสารหนี้ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หุ้นกู้เอกชนในสหรัฐฯ US High Yield และหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่
การลงทุนในลักษณะผสมที่กระจายไปในสินทรัพย์ทั่วโลกมีความเสี่ยงอะไรบ้าง
แม้กองทุนผสมที่กระจายไปในสินทรัพย์ทั่วโลกจะมีความเสี่ยงบ้าง แต่ก็เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญได้คัดสรรกองทุนหุ้นอย่าง Active และมีการ Rebalance อย่างสม่ำเสมอในช่วงที่มีความผันผวนสูง และจะทำให้นักลงทุนไม่พลาดโอกาสในการลงทุนโดยเฉพาะช่วงที่มีความไม่แน่นอนในไตรมาส 2 นี้
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ รวมไปถึงการใช้นโยบายการเงินและนโยบายคลังของภาครัฐ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หรือเรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม ตลอดจนเทคนิคในการปรับกลยุทธ์เปลี่ยนกลุ่มลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนตามวงจรเศรษฐกิจ การเติบโตของกลุ่มธุรกิจ หรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้น ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการและสามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่