ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เปิดให้มีการซื้อขาย Single Stock Futures ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 เพื่อเป็นทางเลือกให้นักลงทุนที่มีความสนใจซื้อขาย Futures ของหุ้นรายตัว สามารถใช้เป็นทางเลือกในการลงทุนที่ใกล้เคียงกับการซื้อหุ้นรายตัว แต่ใช้เงินลงทุนที่น้อยกว่า อัตรากำไรขาดทุนสูงกว่า ค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ต่ำลง ใช้บริหารความเสี่ยงในหุ้นรายตัวได้ในภาวะที่ราคาหุ้นเป็นขาลง
Single Stock Futures เป็นเครื่องมือทางการเงินเหมือนกับ SET50 Index Futures แต่ Single Stock Futures เป็นสัญญาซื้อขายหุ้นล่วงหน้า โดยราคาของ Single Stock Futures จะอ้างอิงอยู่กับหุ้นตัวเดียวเท่านั้น ซึ่งต่างกับ SET50 Index Future ที่ราคาจะอ้างอิงดัชนี SET50 ดังนั้น หากเข้าใจ SET50 Index Futures เป็นอย่างดีแล้ว การทำความเข้าใจขั้นตอนการเปิด/ปิดสถานะ การวางหลักประกัน และการคำนวณกำไรขาดทุนของ Single Stock Futures ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
ปัจจุบัน TFEX ออก Single Stock Futures ที่อ้างอิงหุ้นรายตัวทั้งหมด 122 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ธ.ค. 2563) ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ใน SET100 Index เพราะเกณฑ์สำคัญประการหนึ่ง คือ หุ้นอ้างอิงต้องมีมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ขนาดใหญ่ >> ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
สำหรับประโยชน์ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ นักลงทุนสามารถใช้ Single Stock Futures เพื่อ “ป้องกันความเสี่ยง” จากการถือครองหุ้นนั้นได้โดยตรง เช่น มีหุ้น AAV, MINT และ SCC อยู่ หากประเมินว่าผลประกอบการของหุ้นเหล่านี้ยังไม่ฟื้นตัว กลัวว่าราคาหุ้นจะปรับตัวลงจากปัจจุบัน จึงไปเปิดสถานะขาย (Short) ใน AAV Futures, MINT Futures, และ SCC Futures เพื่อถัวความเสี่ยงไว้ ซึ่งจะให้ผลดีกว่าการใช้ SET50 Index Futures ที่ต้องทำ Beta Hedge หรือการ Hedge ตามค่าเบต้า (Beta) เฉลี่ยของพอร์ต
ค่าเบต้าเป็นตัววัดความเสี่ยงของหุ้นรายตัวเทียบกับ SET Index
สาเหตุที่ต้องมีการปรับค่าเบต้า เพราะเป็นการใช้ฟิวเจอร์สคนละตัวกับสินค้าอ้างอิงในการถัวความเสี่ยง หรือพูดง่ายๆ คือ นักลงทุนถือหุ้นอยู่แค่ 3 ตัว แต่นำ SET50 Index Futures ที่อ้างอิงหุ้น 50 ตัวมาถัวความเสี่ยง จึงต้องนำค่าเบต้าที่เป็นตัววัดความเสี่ยงของหุ้นแต่ละตัวมาเทียบกับตลาด เพื่อปรับค่าความเสี่ยงของพอร์ตให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของ SET50 Index Futures มากที่สุด จึงไม่สามารถนำมูลค่าของฟิวเจอร์ส 1 สัญญา ไปหารมูลค่าพอร์ตได้โดยตรง
ตัวอย่างเช่น มูลค่าพอร์ตหุ้น 1,000,000 บาท มูลค่า SET50 Index Futures 200,000 บาท (1,000 จุด x 200 บาทต่อจุด x 1 สัญญา) ถ้าจับหารกันตรงๆ ต้องใช้ฟิวเจอร์สจำนวน 5 สัญญาในการถัวความเสี่ยง (1,000,000 / 200,000) ซึ่งในทางปฏิบัติจะทำแบบนี้ได้กรณีเดียว คือ ผลตอบแทนและค่าความเสี่ยงของพอร์ตหุ้นเคลื่อนไหวตาม SET50 Index Futures ตลอดเวลา หรือค่าเบต้าของพอร์ตหุ้นเมื่อเทียบกับ SET50 Index Futures ต้องเท่ากับ 1 หากไม่เท่ากับ 1 จะเกิดความยุ่งยากในการคำนวณทันที
จะเห็นว่า... ค่าเบต้าดังกล่าว เป็นคนละตัวกับค่าเบต้าที่เห็นในเว็บไซต์ด้านการลงทุนต่างๆ ซึ่งใช้วัดความสัมพันธ์ในผลตอบแทนและความเสี่ยงของหุ้นแต่ละตัวเทียบกับ SET Index การถัวความเสี่ยงโดยใช้ฟิวเจอร์วที่มีสินค้าอ้างอิงคนละตัวกับหุ้นหรือสินทรัพย์ที่ถืออยู่ หากจะให้ช่วยลดความเสี่ยงจนเหลือน้อยที่สุดหรือแทบไม่มีเลย นักลงทุนต้องใช้การคำนวณทั้งค่าเบต้าที่อิงความสัมพันธ์กับฟิวเจอร์สนั้น และจำนวนสัญญาในการถัวความเสี่ยงที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น ถ้าหุ้นในพอร์ตมีค่าเบต้าสูงกว่า 1 แสดงว่ามูลค่าพอร์ตจะเปลี่ยนแปลงมากกว่าราคา SET50 Index Futures
หากนักลงทุนต้องการถัวความเสี่ยง ก็ต้องเปิดสถานะขาย (Short) SET50 Index Futures ในจำนวนที่มากกว่าการนำมูลค่าสัญญาฟิวเจอร์สไปหารมูลค่าพอร์ตตามปกติ เพราะเวลาหุ้นตก พอร์ตลงทุนก็จะปรับลดลงมากกว่า SET50 Index Futures จึงต้องเปิดสถานะขาย (Short) ในจำนวนสัญญาที่มากขึ้น
ดังนั้น การที่นักลงทุนใช้ Single Stock Futures ที่มีสินค้าอ้างอิงเป็นตัวเดียวกับหุ้นในพอร์ต จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดความยุ่งยากได้ และถือเป็นรูปแบบการถัวความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ Single Stock Futures ในการถัวความเสี่ยงฝั่งขาขึ้นได้ด้วย เช่น คิดว่าหุ้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คือ AMATA, WHA, CK, STEC, CHG จะปรับตัวขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า แต่ตอนนี้ยังไม่มีเงินที่จะนำไปซื้อหุ้นเหล่านี้ จึงล็อคราคาในการซื้อหุ้นผ่านการเปิดสถานะซื้อ (Long) ใน Single Stock Futures ที่มีสินค้าอ้างอิงเป็นหุ้นเหล่านั้นไว้ก่อน ซึ่งใช้เงินลงทุนเพียงแค่หลักประกันขั้นต้นประมาณ 10% ของเงินลงทุนในการซื้อหุ้นจริง หากหุ้นเหล่านั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างที่คาด ก็จะได้กำไร ไปชดเชยการซื้อหุ้นที่มีราคาสูงขึ้น
หรือในกรณีที่มีหุ้นบางตัวอยู่แล้ว แต่ต้องการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนให้มากขึ้น เพราะมั่นใจว่าหุ้นนั้นต้องขึ้นแน่ๆ นักลงทุนมี 2 ทางเลือกว่าจะซื้อหุ้นเพิ่มอีกเท่าตัว หรือจะเปิดสถานะซื้อ (Long) ใน Single Stock Futures หากเงินในพอร์ตหุ้นตอนนั้นเหลือไม่พอที่จะซื้อหุ้นเพิ่มอีกเท่าตัวตามที่ตั้งใจไว้ ก็จะใช้การเปิดสถานะซื้อ (Long) Single Stock Futures เพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตแทน โดยอาศัยจุดเด่นจากการใช้เงินลงทุนที่ต่ำกว่า
ตัวอย่างเช่น ถือ CPALL 1,000 หุ้น ต้นทุน 70 บาท และคิดว่าราคาหุ้น CPALL จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก จึงต้องการซื้อเพิ่มอีก 1,000 หุ้น ให้เป็น 2,000 หุ้น
หากราคาหุ้นตอนนั้นยังอยู่ที่ 70 บาท ต้องใช้เงินอีก 70,000 บาท แต่ปราฎว่าเงินในพอร์ตหุ้นเหลืออยู่แค่ 20,000 บาท จึงเลือกเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตโดยการเปิดสถานะซื้อ (Long) ใน CPALL Futures 1 สัญญา ซึ่งเทียบเท่าการลงทุนในหุ้น CPALL 1,000 หุ้น (โดยทั่วไป 1 สัญญาของ Single Stock Futures จะมีขนาดเท่ากับ 1,000 หุ้น) ใช้เงินวางหลักประกันขั้นต้นเพียง 4,560 บาท
หากในอีก 3 เดือนข้างหน้า ราคาหุ้น CPALL ปรับขึ้น 10% (7 บาทต่อหุ้น) จะได้กำไรจากการถือ CPALL 7,000 บาท (7 บาท x 1,000 หุ้น) และจะได้กำไรจากการเปิดสถานะซื้อ (Long) CPALL Futures อีก 7,000 บาท (7 บาท x 1,000 หุ้น x 1 สัญญา) รวมเป็น 14,000 บาท เท่ากับว่าการเปิดสถานะซื้อ (Long) ใน CPALL Futures อีก 1 สัญญา ทำให้ได้กำไรเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว แต่ใช้เงินลงทุนเพิ่มจากเดิมเพียงแค่ 4,560 บาท หรือ 6.5% ซึ่งถ้าคิดเป็นอัตราทดจะเท่ากับ 15.38 เท่า (100% / 6.5% เท่ากับ 15.38 เท่า) หมายถึง การที่ราคาหุ้น CPALL ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% จะทำให้มีกำไรจากการเปิดสถานะซื้อ (Long) CPALL Futures เท่ากับ 15.38%
นี่คือการใช้ประโยชน์จาก Single Stock Futures ในเบื้องต้น แต่หากนักลงทุนจะใช้เพื่อการ “เก็งกำไร” ควรเลือกหุ้นตัวที่วิเคราะห์ว่าราคาหุ้นอ้างอิงจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง แล้วใช้ Single Stock Futures เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรตามทิศทางที่คาดการณ์ โดยเน้นเลือกตัวที่สภาพคล่องสูงไว้ก่อน (ส่วนตัวที่สภาพคล่องต่ำ ให้ติดต่อโบรกเกอร์เพื่อขอเปิดบริการ Block Trade โดยให้โบรกเกอร์เป็นคู่สัญญา)
ในอีกมุมมอง หากตลาดหุ้นมีแนวโน้มชัดเจนไม่ว่าจะปรับขึ้นหรือปรับลง นักลงทุนควรเลือก Single Stock Futures ที่มีอัตราทดสูง ด้วยความเชื่อที่ว่าหุ้นอ้างอิงส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาด การเลือกใช้ตัวที่อัตราทดสูงเพื่อเก็งกำไร ถ้าถูกทางจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้อย่างมาก
แต่หากกรณีที่ตลาดเป็นแบบ Sideway ควรเลือกตัวที่มีความผันผวนสูงไว้ก่อน เพราะถ้าตลาดแกว่งในช่วงแคบๆ ถ้าเลือกตัวที่มีอัตราทดสูงไปก็เปล่าประโยชน์ สู้เลือกตัวที่ผันผวนสูงหรือแกว่งแรงกว่าตลาดมาเก็งกำไรระยะสั้น น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
สำหรับใครที่สนใจอยากเริ่มลงทุนในอนุพันธ์ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุน SET50 & Stock Futures” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน