วางแผนลงทุนและประหยัดภาษีด้วย SSF & RMF

โดย SET
3 Min Read
1 มกราคม 2565
1.445k views
INV-how-to-invest-in-ssf-and-rmf-and-reap-tax-benefits_Thumbnail
Highlights
  • SSF และ RMF เป็นทางเลือกการออมเงินแบบสมัครใจที่ภาครัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจในการออม โดย SSF เป็นกองทุนรวมเพื่อการออมที่ส่งเสริมให้ลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ส่วน RMF เป็นกองทุนรวมที่ส่งเสริมการออมเงินไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ

  • ประโยชน์ของ SSF และ RMF คือ สามารถนำเงินลงทุนไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ แถมกำไรที่ได้จากการลงทุนยังไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย

  • นักลงทุนควรทำความเข้าใจเงื่อนไขในการซื้อหรือขาย SSF และ RMF ให้ชัดเจน เพื่อจะได้วางแผนลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องและคุ้มค่า

“อยากลงทุนต่อยอดเงินออม และได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย มีทางเลือกไหนบ้าง?”

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า... ผู้ที่มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีทุกคนจะได้รับสิทธิในการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ ซึ่งนอกจากค่าลดหย่อนพื้นฐานทั่วไป เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว บุตร คู่สมรส เป็นต้น ภาครัฐยังเห็นความสำคัญของการออมและการลงทุนระยะยาว โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีเงินได้นำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนต่าง ๆ มาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นต้น และในปี 2563 ได้มีการเปลี่ยนเกณฑ์การซื้อกองทุน RMF รวมถึงมีทางเลือกลงทุนใหม่ คือ กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund : SSF)

 

ถ้าอย่างนั้น... เราลองมาทำความคุ้นเคยกับ 3 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ SSF & RMF แฝดคู่สวยช่วยประหยัดภาษี” กันดีกว่า จะได้เริ่มวางแผนลดหย่อนภาษีแบบเต็มที่นับตั้งแต่นี้ไป

 

1. SSF & RMF คืออะไร?

 

เป็นทางเลือกให้คนไทยได้ออมเงินแบบสมัครใจ และภาครัฐส่งเสริมด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดย SSF (Super Savings Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม ส่งเสริมให้ลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ส่วน RMF (Retirement Mutual Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนรวมที่ส่งเสริมการออมเงินไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ ทั้งสองกองทุนสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายเหมือนกองทุนรวมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ หน่วยลงทุนของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนดัชนี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือจะเป็นทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ก็ได้ ทำให้มีความยืดหยุ่น เพราะสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนได้หลากหลายประเภทตามระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้

 

2. ทำไมต้องลงทุนใน SSF & RMF?

 

เพราะเป็นทางเลือกการลงทุนเพิ่มค่าเงินออมที่น่าสนใจ หากคุณมีเป้าหมายการออมการลงทุนระยะยาว ที่สอดคล้องกับระยะเวลาและเงื่อนไขทางภาษีของกองทุน SSF และ RMF อยู่แล้ว เช่น เงินทุนการศึกษาของบุตรในระดับปริญญาตรี เงินออมเพื่อเกษียณ หรือเงินออมเพื่อทำธุรกิจเล็ก ๆ เป็นต้น อีกทั้งยังได้ประโยชน์ถึง 2 ต่อ คือ

 

ต่อที่ 1  สามารถนำเงินลงทุนไปใช้ลดหย่อนภาษี เมื่อเงินได้สุทธิที่นำไปคำนวณภาษีลดลง ก็จะช่วยให้ภาษีที่ต้องชำระลดลง และเงินที่คุณได้จากการประหยัดภาษีนี้ ก็สามารถนำไปซื้อทรัพย์สินหรือออมและลงทุนต่อได้

 

ต่อที่ 2 กำไรที่ได้รับจากการลงทุนไม่ต้องเสียภาษี ถ้าคุณซื้อและขายถูกต้องตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดไว้   

 

3. เงื่อนไขซื้อขาย SSF & RMF เป็นอย่างไร?

 

คุณควรทำความเข้าใจเงื่อนไขในการซื้อหรือขาย SSF และ RMF ให้ชัดเจน เพื่อจะได้วางแผนภาษีให้ถูกต้องและคุ้มค่าที่สุด

INV-how-to-invest-in-ssf-and-rmf-and-reap-tax-benefits_01


* เมื่อรวมเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)  กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขได้ที่ กรมสรรพากร

Tips

เรียนรู้เงื่อนไขเพิ่มเติมในคู่มือ SSF และ RMF แฝดคู่สวยช่วยประหยัดภาษี >> คลิกที่นี่ 

ก่อนจะตัดสินใจซื้อ SSF และ RMF อย่าลืม... พิจารณาเป้าหมายของการลงทุนของคุณเป็นหลัก เพราะมีเงื่อนไขการซื้อที่ผูกพันระยะยาว ถ้าเน้นการลงทุนต่อเนื่องเพื่อการเกษียณ แนะนำให้เลือก RMF ไปเลย แต่หากมีเป้าหมายต้องการออมเงินระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป อยากได้เงินปันผลกลับมาบ้าง หรือไม่อยากลงทุนต่อเนื่องทุกปี ก็อาจจะเลือกลงทุนใน SSF  เป็นต้น

 

เห็นหรือยังว่า... ผู้ที่มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ก็สามารถวางแผนการเงินไปพร้อม ๆ กับการวางแผนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ แบบนี้เค้าเรียกว่า... ตอบโจทย์ทั้งความคุ้มค่าและเป้าหมายต่าง ๆ ในชีวิตไปพร้อม ๆ กัน

 

สำหรับใครที่สนใจอยากเรียนรู้เงื่อนไขการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อประหยัดภาษี รวมถึงเทคนิคการลงทุนเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุน SSF และ RMF” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: